สมาคมโรคไตฯ เตือนคนฟอกเลือด ระวัง ‘เห็ดหลินจือ’

ที่ รพ.สงฆ์ นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถิติของสมาคมโรคไต พบว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยไตวายเรื้อรัง ร้อยละ 17 หรือประมาณ 11 ล้านคน นับว่าเป็นจำนวนที่มาก เมื่อเทียบกับอายุรแพทย์โรคไตทั้งประเทศที่มีเพียง 850 คน หากไม่ลดความเจ็บป่วย ผลิตแพทย์เชี่ยวชาญมากเท่าไร ก็รักษาไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะปัจจุบันมีการโฆษณาสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้รักษาโรคไตได้ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก ซึ่งขอยืนยันว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวใดหรือตำรับใด ที่มีข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอว่าสามารถรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ

“เข้าใจดีว่า ปัจจุบัน ไทยกำลังพัฒนาและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ผมไม่ได้ต่อต้าน เพราะสมุนไพรอาจจะไม่มีผลชัดเจนกับการรักษาโรคไต แต่ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ แต่การใช้ก็ต้องระวัง” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรโลกมากกว่า 850 ล้านคน หรือประมาณ ร้อยละ 11 ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โดยมีค่าการทำงานของไตลดลง ประมาณ ร้อยละ 60 ต้องรักษาด้วยการล้างไต 2.5 ล้านคน และอีกไม่กี่ปีจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือ 5 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยต้องล้างไต อย่างต่ำ 1 แสนคน เพิ่มขึ้นราว 1 หมื่นคน ต่อปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการกินยาและสมุนไพร

ด้าน ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ แพทย์อายุรกรรมโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สมุนไพรที่มีผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยแล้ว อาทิ เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนดังมากที่ผู้ป่วยไตมักกิน แต่ที่จริงหากผู้ป่วยที่กำลังฟอกเลือดแล้วกินเห็ดหลินจือ จะทำให้ไตเสื่อม ไตวายได้ ส่วนมะม่วงหาวมะนาวโห่ อาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเสียชีวิตได้ มะเฟืองมีกรดออกซาเลต หรือกรดออกซาลิก ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน ตะลิงปลิง และ ป่วยเล้ง กินมากอาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน ส่วน แครนเบอรี่ ส่วนใหญ่มักทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หากกินมากทำให้เกิดนิ่ว การทำงานของไตผิดปกติ

“มีรายงานจากต่างประเทศว่า ทั่วโลกห้ามใช้สมุนไพร ไคร้เครือ เพราะทำให้ไตวายและเป็นมะเร็งระบบปัสสาวะ ส่วนสมุนไพรกลุ่มใบชา ปอกะบิด หรือกาแฟบางชนิดที่นำมาแปรรูปในโฆษณาในเรื่องลดน้ำหนัก จะส่งผลต่อค่าของตับและไตสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องระวังการปนเปื้อนสารอันตรายจากกระบวนการผลิตด้วย ซึ่งจากการสุ่มตรวจพบปนเปื้อนสเตียรอยด์ถึงร้อยละ 30 และยังพบสารหนู แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีผลต่อโรคไต” ผศ.พญ. สุภินดา กล่าว

ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ผู้ป่วยมีความใกล้ชิดกับแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง และอย่าเชื่อสื่อต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง