“ กศน.ยะลา ” มุ่งมั่นพัฒนาความรู้สู่ชุมชน “สร้างรอยยิ้มแห่งสันติสุข”

“คนยะลาจะได้รับโอกาสการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัย สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและมีทักษะที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21” นี่คือวิสัยทัศน์สำคัญที่ “สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา” ภายใต้การนำของ คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดยะลา มุ่งมั่นทำงานด้วยความตั้งใจ

คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา 

เป้าหมายที่มีไว้พุ่งชน

ภารกิจหลักของสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาในปีนี้ มุ่งเน้นการทำงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน กศน. ที่ผ่านมา สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา ได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้ ภายใต้วิสัยทัศน์การทำงานที่มุ่งให้กับชาวยะลาได้มีโอกาสรับการศึกษาตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ภายใต้พหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและมีทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิตอลที่จำเป็นมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา “มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้” ส่งเสริมด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กศน. ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการศึกษา เทคโนโลยีดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ได้นำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายในตลาดออนไลน์ รวมทั้งผลงานของนักศึกษา กศน. มาจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

กศน.จังหวัดยะลา เยี่ยมชม โครงการพระดาบส

ขณะเดียวกัน ก็มุ่งพัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมต่างๆ สื่อนวัตกรรมให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน พร้อมพัฒนาความรู้เจ้าหน้าที่ กศน. มีระบบบริหารจัดการที่มีคุณภาพ บริหารจัดการองค์กรโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

ผอ.ขนิษฐา เยี่ยมชมกิจกรรม English camp is fun ของ กศน.อำเภอเบตง

สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาได้น้อมนำพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้เป็นหลักแนวคิดของพระองค์ท่าน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาสู่การปฏิบัติ ซึ่งสโลแกนการทำงาน ก็คือ สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาพร้อมลุยในยุค 4G ได้แก่ ครูดี (Good Teacher) มีกิจกรรมที่ดี (Good Activities) การสร้างบรรยากาศที่ดี (Good Place) มีเครือข่ายที่ดี (Good Partner) ที่จะเข้ามาเสริมการทำงานของพวกเรา

 

 “ยะลา” เมืองทุเรียน           

สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา ดูแลรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนนอกระบบให้กับประชาชนผู้สนใจ ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ 58 ตำบล ชาวยะลาส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากอาชีพภาคการเกษตร เนื่องจากพื้นที่จังหวัดยะลา มีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ เช่น ทุเรียน ลองกอง และมังคุด

” พวงมณี” หนึ่งในสายพันธุ์ทุเรียนขายดีของจังหวัดยะลา

คุณอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดให้ “ยะลา  เป็นเมืองทุเรียน” เพราะนอกเหนือจากจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแล้ว ภาคใต้สุดของประเทศไทย คือ อำเภอธารโต อำเภอเบตง และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ก็เป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพ ทุเรียนยะลาผลิตมากเท่าไรก็ไม่พอขาย โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย ที่ชื่นชอบทุเรียนยะลามาก ส่งผลให้ราคาทุเรียนยะลาในปีนี้มีราคาค่อนข้างสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 140-150 บาท/กิโลกรัม สร้างรายได้ที่งดงามให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดยะลา

ปัจจุบัน เกษตรกรชาวจังหวัดยะลาจำนวนมากได้หันมาปลูกทุเรียนมูซานคิง ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเซีย เพราะมีรสชาติอร่อยและขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการสูงในตลาดส่งออก เนื่องจากต้นพันธุ์ทุเรียนผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาจึงส่งเสริมให้กลุ่มนักศึกษาในโรงเรียนปอเนาะบางแห่ง เพาะพันธุ์ทุเรียนมูซังคิง ออกจำหน่าย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมที่ดีให้กับกลุ่มนักศึกษาสถาบันปอเนาะ  

คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ พาเกษตรกรเยี่ยมชมสวนทุเรียนต้นแบบ ท่ี่ ศพก.อำเภอธารโต 

ส่งเสริม “ชาวไทยมุสลิม” พูดภาษาไทย

ทางสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลามีกิจกรรมเยอะมาก โดยเฉพาะกิจกรรมส่งเสริมพหุวัฒนธรรม เรื่องการศึกษาของเยาวชน เด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร รวมทั้งเรื่องสร้างอาชีพของโรงเรียนพระดาบส

เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดยะลา ร้อยละ 80 เป็นกลุ่มชาวไทยมุสลิม ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร พวกเขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ภาษาไทยเพราะไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน

ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่คุ้นชินกับการใช้ “ภาษามลายู” ซึ่งภาษาพื้นถิ่นเป็นหลัก ทำให้มีปัญหาในเรื่องการสื่อสารกับบุคคลภายนอก ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยได้ แต่ไม่นิยมพูด เหมือนกับคนไทยทั่วไปที่เข้าใจภาษาอังกฤษ แต่ไม่นิยมพูดในชีวิตประจำวันเช่นกัน

สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาจึงได้น้อมนำพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในช่วงที่เสด็จฯ เยี่ยมพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อปี 2502 พระองค์ท่านได้เน้นในเรื่องการใช้ภาษา ไม่จำเป็นต้องสอนให้คนที่นี่เป็นคนเก่ง แค่สอนให้คนที่นี่พูดสื่อสารภาษาไทยได้ก็เพียงพอแล้ว

พิธีเปิดงานพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารู จังหวัดยะลา

ซึ่งสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านสู่การปฏิบัติ โดยมอบหมายให้ครูอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ (ครู กศน.) พยายามใช้ภาษาไทย พูดคุยกับนักศึกษาเพื่อฝึกภาษาพวกเขา รวมทั้งออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักศึกษา กศน.ซึ่งกลุ่มชาวไทยมุสลิมได้มีส่วนร่วมในการสื่อสารภาษาไทย โดยไม่ให้พวกเขารู้สึกเคอะเขินหรืออาย

จังหวัดยะลามีสถาบันศึกษาปอเนาะ 123 แห่ง โดยสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาดูแลเรื่องการศึกษาของสถาบันศึกษาปอเนาะ 102 แห่ง มีครูอาสาสมัครปอเนาะ จำนวน 94 คน แต่มีบางสถาบันศึกษาปอเนาะ ที่ กศน.ยะลาอยากเข้าไปดูแลเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลก็พยายามเพิ่มจำนวนครูอาสาสมัครปอเนาะ เพื่อช่วยขับเคลื่อน “การใช้ภาษาไทย” ในจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งทักษะต่างๆ ที่นักศึกษาปอเนาะต้องการเรียนรู้ โดยเฉพาะ “การสร้างอาชีพ” เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบจากสถาบันศึกษาปอเนาะ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

 

อบรมอาชีพตามใจผู้เรียน

สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาจัดอบรมอาชีพตามใจผู้เรียน โดยสำรวจความต้องการของประชาชนก่อนว่า สนใจอบรมอาชีพอะไร กิจกรรมจัดอบรมอาชีพจะใช้งบประมาณที่รับจัดสรรมาจาก สำนักงาน กศน.ส่วนกลาง ผลการสำรวจความต้องการของชุมชนไทยมุสลิมพบว่า กลุ่มสตรีส่วนใหญ่สนใจอบรมวิชาชีพที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หลักสูตรการทำอาหารและขนม วิชาตัดเย็บเสื้อผ้า การทำผ้าคลุมผม การสานตะกร้า การตัดเย็บกระเป๋า เป็นต้น ขณะที่กลุ่มผู้ชายชาวไทยมุสลิมสนใจอยากเรียนรู้วิชาช่างตัดผม ช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้าง การทำอิฐบล็อก ฯลฯ

ผอ.ขนิษฐา พาเกษตรกรเยี่ยมชมการเพาะเห็ดในโครงการฟาร์มตัวอย่าง อำเภอธารโต

ที่ผ่านมา งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรสำหรับจัดอบรมอาชีพในจังหวัดยะลายังไม่เพียงพอ เพราะประชาชนในท้องถิ่นส่วนหนึ่งยังคงเป็นผู้ว่างงานและตกงานกันอยู่ ประกอบกับประชาชนบางรายไม่นิยมออกไปหางานทำภายนอก ทางสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลาจึงของบประมาณบางส่วนจากจังหวัดยะลา ก็ได้สนับสนุนงบประมาณประจำปี 2561 วงเงิน 1.6 ล้านบาท เพื่อจัดอบรมอาชีพหลักสูตร 100-120 ชั่วโมง จำนวน 7 อาชีพ เช่น ช่างแอร์ ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมอุปกรณ์การเกษตร ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดยะลา

 

คุณประดินันท์ สดีวงศ์ รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานเปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์ยะลา 

สัมภาษณ์พิเศษ “คุณประดินันท์ สดีวงศ์” รองเลขาธิการ กศน.

กศน. เปรียบเสมือนตะแกรงรองรับ คนที่ไม่มีโอกาสเรียนในระบบ สามารถก้าวเข้าสู่โลกการศึกษานอกระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. ทางไกล นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาต่อเนื่อง เช่น อบรมอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ และจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ เด็กเร่ร่อน และชาวเขา

คุณประดินันท์ สดีวงศ์ รองเลขาธิการ กศน.

ในปีนี้ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายสำคัญให้ กศน.จัดทำหลักสูตร “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานไหนได้จัดทำมาก่อน ที่ผ่านมา วิชาดังกล่าวเป็นสาระความรู้ที่นักเรียนจะเรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ คุณกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ สำนักงาน กศน. ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานยกร่างหลักสูตรดังกล่าว สำหรับใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งนักศึกษา กศน.จะได้เรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นวิชาบังคับ ตั้งแต่ภาคเรียนนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กศน.ยังได้อบรมเรื่องประวัติศาสตร์ ในหลายหลักสูตร โดยเน้นอบรมครูผู้สอนเพื่อเป็นต้นแบบ อีกหลักสูตรหนึ่งที่สำคัญของ กศน. คือ อบรมวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ตอนนี้ได้อบรมนำร่องในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 20 จังหวัด โดยคัดครู กศน.เข้าอบรมในกิจกรรมดังกล่าว จังหวัดละ 60-100 คน เพื่อให้มีวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ซึ่งวิทยากรกลุ่มนี้ สามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วย ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในขณะนี้คือ “จังหวัดมุกดาหาร” สนับสนุนงบประมาณให้ สำนักงาน กศน.จังหวัดมุกดาหาร จัด “ครู กศน.” ไปเป็นวิทยากรอบรมความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กับครูโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น

งานชุมนุมลูกเสือ กศน. 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา 4 อำเภอ (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ได้จัดกิจกรรมงานชุมนุมลูกเสือ กศน. 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กศน.จชต.) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา กศน.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับทักษะองค์ความรู้ตามกระบวนการลูกเสือ และปลูกฝังค่านิยมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้นักศึกษา กศน. มีการพัฒนาทักษะชีวิต การรู้จักสิทธิและหน้าที่ และการสร้างจิตสาธารณะ พร้อมพัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้านให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง