ชันโรง ผึ้งจิ๋วกามเทพ ช่วยผสมเกสรไม้ผล ลูกดก ผลผลิตเพิ่ม

สศท. 10 ติดตามแปลงใหญ่ผึ้งชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว จ.สมุทรสงคราม อีกหนึ่งตัวช่วยผสมเกสรให้ผลไม้ติดลูกดกในสวนเกษตรแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตแบบพึ่งพาตามธรรมชาติ ดูแลง่าย แถมมีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาด

รังชันโรงใต้ต้นส้มโอ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การเลี้ยงชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว ซึ่งเป็นแมลงประจำถิ่น ได้เลี้ยงเพื่อใช้เป็นแมลงผสมเกสร โดยเฉพาะสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน และเงาะ

โดยชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรที่ไม่มีการเลือกเฉพาะเจาะจงกับชนิดของดอกไม้ สามารถผสมเกสรพืชได้หลากหลายชนิดมากกว่าผึ้งพันธุ์ อีกทั้งไม่มีเหล็กใน จึงไม่มีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง และระยะทางในการบินไปหาอาหารจะไม่ไกลจากรังมากนัก

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) จึงได้ศึกษาถึงแนวทางการนำชันโรงมาเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และช่วยลดการใช้สารเคมี จากการดำเนินการระบบแปลงใหญ่ซึ่งจากการสัมภาษณ์ ประธานแปลงใหญ่ชันโรง (นายวสันต์ ภูผา) ศูนย์เพาะเลี้ยงชันโรง บ้านสวนภูผา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบว่า จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนขยายสู่การทำธุรกิจ รวมถึงต่อยอดผลพลอยได้จากรังชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์ มีกลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการเช่ารังชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้นอกพื้นที่ เช่น มะม่วง ลำไย เงาะ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสมาชิกแปลงใหญ่ชันโรง จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 42 ราย มีชันโรงจำนวนรวมกว่า 3,000 รัง ซึ่งจะเน้นให้เกษตรกรนำชันโรงไปเพิ่มผลผลิตในแปลง

เกษตรกรจะมีทั้งมาเช่ารังและซื้อรังชันโรง โดยการเช่าจะมีบริการติดตั้งให้ฟรีและคิดค่าเช่า รังละ30 บาท/วัน พร้อมทำสัญญากับผู้เช่าในเรื่องการดูแลและรักษารังชันโรง เพราะหากชันโรงตายจากการฉีดยาฆ่าแมลงหรือรังชันโรงหาย ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มให้ผู้ให้เช่าซึ่งนับเป็นอีกทางที่ช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาสารเคมีได้อีกด้วย

และหากเกษตรกรต้องการซื้อรังชันโรง จะจำหน่ายให้ในราคา 1,500 บาท/รัง ในขณะที่ผลผลิตที่ได้รับจากรังชันโรง ไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้งชันโรง และชัน สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายภายใต้ตราสินค้า“ภูผา” เช่น น้ำผึ้งชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) สบู่ และยาหม่อง ทั้งนี้ น้ำผึ้งชันโรง รสชาติจะออกเปรี้ยวและมีกลิ่นตามผลไม้ที่ชันโรงไปผสมเกสรชันของชันโรงมีสารประกอบฟลาโวนอยด์ และสารต้านอนุมูลอิสระต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยับยั้งการอักเสบได้เป็นอย่างดี มีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป ช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ ได้ชื่อว่าเป็นผึ้งชนิดเดียวที่ผลิตน้ำผึ้งอินทรีย์ และแนวโน้มความต้องการตลาดสูงโดยราคาของน้ำผึ้งชันโรงสูงถึง กิโลกรัมละ 1,500 บาท เนื่องจากชันโรงกินน้ำหวานเพียง ร้อยละ 20 ปริมาณน้ำผึ้งที่ได้แต่ละครั้งจึงไม่มากนัก

ไข่ชันโรง
ไข่ชันโรง

ด้าน นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการ สศท. 10 กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน สายพันธุ์ชันโรงทั่วโลกมีประมาณ 140 สายพันธุ์ ในประเทศไทยเหลือไม่ถึง 40 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกันที่ขนาดและความชอบอาหารอย่างสายพันธุ์ที่ตัวใหญ่จะเน้นเก็บน้ำหวาน เช่น พันธุ์ปากแตร พันธุ์อิตาม่า สายพันธุ์ตัวเล็กผสมเกสร เช่น พันธุ์ขนเงิน พันธุ์หลังลาย และยังมีพันธุ์สวยงามที่เลี้ยงไว้ดูเล่น คือ พันธุ์คิชฌกูฏ ซึ่งการดูแลนั้น จะเปิดรังให้ชันโรงได้รับแสงเดือนละครั้ง เพื่อลดความดุร้าย อาหารหลักของชันโรงเป็นเกสรดอกไม้ ร้อยละ 80 ขณะที่กินน้ำหวานเพียง ร้อยละ 20 นับว่าตอบโจทย์ความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนมะพร้าว ส้มโอ และลิ้นจี่ อย่างชัดเจน

ช่วยเพิ่มผลผลิตจากเดิมได้ประมาณ ร้อยละ 30-40 ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าเป็นสวนที่ปลูกผลไม้เต็มพื้นที่จะใช้รังชันโรงไม่ต่ำกว่า 10 รัง/ไร่ แต่หากเป็นสวนมะพร้าว หรือสวนผสมอื่นๆ จะใช้เพียง 4-5 รัง/ไร่ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงชันโรง ต้องมีแหล่งอาหารตลอดทั้งปี หากเป็นสวนที่มีผลไม้ติดดอกครั้งเดียวต่อปี ชันโรงจะขาดอาหาร ซึ่งสามารถแก้ปัญหาด้วยการปลูกข้าวโพด หรือไม้ดอกหมุนเวียน เพื่อให้มีแหล่งอาหารแก่ชันโรงต่อเนื่องตลอดปีได้

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถขอคำแนะนำได้ที่ คุณวสันต์ ซึ่งยินดีถ่ายทอดความรู้ ในการนำชันโรงไปเพิ่มผลผลิต หรือนำไปจำหน่าย สามารถสร้างแบรนด์ของตนเองได้ รวมทั้งรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรด้วยเช่นกัน โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 089 224 1134 หรือ Facebook ศูนย์เพาะเลี้ยงชันโรง บ้านสวนภูผา