กศน. ยะลา ส่งเสริมอาชีพชาวบันนังสตา แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม “กล้วยหิน”

ระหว่างการเดินทางไปอำเภอเบตง คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา พา พลเอกวิษณุ ไตรภูมิ ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. และ พันเอกหญิงสุนทรี ไตรภูมิ ผู้แทน กอ.รมน. ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ของ กศน. อำเภอบันนังสตา ที่ส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยหิน ให้ชาวบ้านในชุมชน ได้มีงานมีอาชีพและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

กล้วยหิน     

“กล้วยหินบันนังสตา” หรือ “กล้วยซาบา (Saba Banana)” มักขึ้นอยู่ตลอดฝั่งลำน้ำปัตตานี ในเขตตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล้วยหิน มีลักษณะผลป้อมสั้น เป็นเหลี่ยม เปลือกหนา เนื้อผลสีขาวครีมละเอียด  กล้วยหินมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เพราะถือกำเนิดจากสายพันธุ์กล้วยป่า ที่มีเนื้อแข็ง เมื่อผลสุกจะมีรสชาติออกเปรี้ยวเล็กน้อย

ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ของ กศน. อำเภอบันนังสตา

สาเหตุที่ถูกเรียกว่า กล้วยหิน เนื่องจากพื้นที่ของอำเภอบันนังสตา ร้อยละ 90 เป็นภูเขา กล้วยป่าพันธุ์นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณเหมืองแร่ดีบุกร้าง ซึ่งมีสภาพดินเป็นกรวดหินและดินลูกรัง จึงนิยมเรียกกล้วยสายพันธุ์นี้ว่า “กล้วยหิน”

แต่ชาวบ้านบางรายเล่าว่า คนหาแร่ พบกล้วยชนิดหนึ่งขึ้นปะปนกับกล้วยป่า เห็นนกกินได้ จึงเก็บมากิน รสชาติออกเปรี้ยว จึงนำมาต้มกิน ปรากฏว่า อร่อยกว่ากล้วยชนิดอื่น ถึงแม้เนื้อจะออกแข็งๆ สักหน่อย ชาวบ้านจึงเรียกขานกล้วยชนิดนี้ว่า “กล้วยหิน”

ในอดีตชาวบ้านในอำเภอบันนังสตา นิยมนำกล้วยหินมาบริโภคเป็นอาหารมื้อเช้า โดยนำมาต้มแล้วตำให้ละเอียด คลุกกับมะพร้าวอ่อนขูดผสมกับน้ำตาลทรายและเกลือ ปั้นเป็นก้อนกินกับกาแฟ เพราะกล้วยหินมีสารอาหารปริมาณมากที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์นั่นเอง

ต้นกล้วยหิน

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านจำนวนมากนิยมใช้กล้วยหิน เป็นอาหารขุนนกกรงหัวจุก เพราะนกที่เลี้ยงด้วยกล้วยหินมักจะมีอาการร่าเริง แจ่มใส ส่งเสียงขันไพเราะได้ตลอดทั้งวัน และมีขนดกสวยเป็นเงาแวววาวสะดุดตาอีกด้วย ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของพันธุ์พืชชนิดนี้ ทำให้กล้วยหินบันนังสตาได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

กล้วยหิน เป็นพืชปลูกง่าย โตเร็ว ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ ประมาณ 100 ต้น ประมาณ 8 เดือน เริ่มออกหัวปลี เครือหนึ่งมี 6-10 หวี ใช้เวลา 4 เดือน ผลจะเริ่มทยอยสุก ผลกล้วยหินมีขนาดใหญ่ ดูคล้ายก้อนหิน เป็นรูปห้าเหลี่ยมมีเปลือกแข็ง เนื้อแน่นและเหนียว นิยมต้มก่อนบริโภค ผลการวิจัยสารอาหารในกล้วยหิน พบมีสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ปัจจุบัน กล้วยหินบังนังสตา จึงกลายเป็นสินค้าแปรรูปที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปเด่นของจังหวัดยะลา ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นอย่างเป็นกอบเป็นกำตลอดทั้งปี

หน่วยงานภาครัฐ จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านนำหน่อพันธุ์กล้วยหินไปปลูก เพราะกล้วยหินเป็นพืชที่ปลูกง่าย แตกกอเร็ว แข็งแรงโตดีทนต่อสภาพแห้งแล้ง ทั้งยังทนต่อโรคและแมลงด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความมั่นคงในอาชีพเพิ่มขึ้น เพราะกล้วยหินสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในระดับอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อยกระดับกล้วยหินสู่ระดับสากลส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ นำเงินตราเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล

กล้วยหิน ขายดีในกลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก

ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้กว่า 100,000 ครัวเรือน นิยมเลี้ยงนกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุกด้วย ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัว โดยทั่วไป นกกรงหัวจุก 1 ตัว จะกินกล้วยหิน เฉลี่ยวันละครึ่งผล หรือประมาณ 100,000 ผล ต่อวัน หรือประมาณ 10,000 หวี ต่อวัน ดังนั้น ตลาดกลุ่มนี้จึงน่าจับจองเป็นอย่างยิ่ง เพราะขายได้ตลอดทั้งปี แถมขายได้ราคาดีอีกต่างหาก

กล้วยฉาบรสชาติอร่อย

กล้วยหิน ของดีจังหวัดยะลา จำหน่ายได้ทั้งผลดิบและผลสุก มีราคาซื้อขายไม่ต่ำกว่า หวีละ 25-35 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ขนาดผล และขนาดหวี สำหรับช่วงฤดูฝน มีผลผลิตเข้าตลาดน้อย ราคากล้วยหินก็ยิ่งขยับตัวสูงขึ้นถึงหวีละ  40-50 บาท ทีเดียว สำหรับกล้วยหินผลสุกนิยมนำไปต้มสุกเพื่อแปรรูปเป็นกล้วยบวชชีหรือกล้วยเชื่อมบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นสินค้าให้กับผู้สนใจ ส่วนกล้วยดิบก็เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับใช้ผลิตกล้วยฉาบที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ปีละ 40-41 ล้านบาท

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาแปรรูป “กล้วยหินนังตา”

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา โดย กศน. อำเภอบันนังสตา ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยหิน ให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปกล้วยหินนังตา ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

กล้วยหินนังตา เหมาะเป็นของขวัญของฝาก

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปกล้วยหินนังตา อยู่ภายใต้การนำของ คุณฮารอเม๊าะ โต๊ะแต โทร. (081) 388-9158 ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฯ ได้พัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน “กล้วยหินนังตา” ให้ได้รับการยอมรับ เป็น “โอท็อป” ระดับจังหวัดยะลาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

เดิมทีก่อนหน้านี้ คุณฮารอเม๊าะ โต๊ะแต เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ที่มีการแปรรูปกล้วยหินฉาบมาก่อน ทำให้คุณฮารอเม๊าะมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการผลิตกล้วยหินฉาบ เธอต้องการขยายกลุ่มอาชีพนี้สู่ชาวบ้านในวงกว้าง จึงแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ จากการรวบรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในท้องถิ่นที่สนใจ และต้องการหารายได้เสริมหลังอาชีพการทำสวนยางพารา

คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ เลือกซื้อสินค้า

คุณฮารอเม๊าะ ได้เริ่มต้นจากการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 600,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์และต่อเติมอาคารผลิต เริ่มผลิตใน ปี 2555 ต่อมา คุณฮารอเม๊าะ ได้จดทะเบียนกลุ่มกับสำนักงานเกษตรอำเภอบันนังสตา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรพัฒนาแปรรูปกล้วยหินนังตา” มีสมาชิกเริ่มต้น 20 คน มีการแปรรูปกล้วยหินฉาบรสชาติต่างๆ ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน โดยใช้แหล่งวัตถุดิบ เช่น กล้วยหิน ทุเรียน ฯลฯ ที่ปลูกในท้องถิ่นและของสมาชิกกลุ่ม

ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านงบประมาณและปัจจัยการผลิต เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมพัฒนาชุมชน รวมทั้ง สำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา โดย กศน. อำเภอบันนังสตา เป็นต้น จากการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ทางกลุ่มฯ ได้รับการพัฒนาศักยภาพสินค้าให้มีความหลากหลาย พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และมีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้กลุ่มมีผลประกอบการที่ดี และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ ได้พัฒนาสินค้าสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์โอท็อป โดยสินค้าหลัก ได้แก่ กล้วยหินฉาบ ผลิตภัณฑ์รองคือ เผือกเส้น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน และข้าวยำ ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้มีการฝึกอบรมสมาชิก และมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ ขณะเดียวกัน สมาชิกก็มีอาชีพเสริมจากการทำสวนยางพารา ซึ่งประสบปัญหาราคาตกต่ำ ก่อให้เกิดความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน สมาชิกมีการทำงานร่วมกัน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การผลิตกล้วยหินนังตา

ทางกลุ่มแม่บ้านฯ จะใช้วัตถุดิบหลักคือ กล้วยหินดิบที่แก่พอดี น้ำมันพืช เกลือ และเนย ขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก คัดเลือกกล้วยหินที่แก่ ประมาณ 80% นำมาปอกเปลือก แช่น้ำและล้างให้สะอาด นำกล้วยหินมาสไลซ์เป็นแผ่นบางๆ ลงในน้ำมันที่ร้อนให้กรอบเหลือง ยกขึ้นมาสะเด็ดน้ำมันออก ทอดน้ำมันที่ร้อนจัดให้เหลืองกรอบ นำกล้วยขึ้นมาพักไว้บนกระดาษซับมัน ตั้งไว้ให้เย็นและนำกล้วยมาคลุกเกลือ บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทและพร้อมจำหน่าย

กลุ่มแม่บ้านกำลังทอดกล้วยฉาบ

เคล็ดลับการผลิตที่ทำให้สินค้ากล้วยฉาบแปรรูปมีรสชาติอร่อยก็คือ เลือกกล้วยที่แก่ ประมาณ 80% มาทอด เพราะหากนำกล้วยที่สุกมาทอด เนื้อกล้วยจะออกสีแดงไหม้ กินไม่อร่อย นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ได้นำกล้วยไปแช่น้ำก่อนปอก ช่วยให้ปอกกล้วยได้ง่าย เพราะเปลือกกล้วยมันกรอบ ประการต่อมา ผู้ที่จะปอกเปลือกกล้วย จะทาน้ำมันพืชที่มือและมีด ทำให้ยางกล้วยติดไม่มาก และกล้วยหินฉาบกรอบแก้วที่ปรุงเสร็จแล้ว ถูกวางให้พ้นแสงแดด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และเก็บรักษาให้มิดชิด เพราะหากปล่อยให้อากาศเข้าไป ทำให้กล้วยเหนียวติดมือ เพราะน้ำเชื่อมละลาย