กล้วยหินบันนังสตา “บาตูวัน” ของ กลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก

กล้วยหินบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นกล้วยพื้นเมืองที่เนื้อแข็งและเมื่อสุกรสชาติจะออกเปรี้ยวเล็กน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อย

โดดเด่นอยู่บนลุ่มน้ำปัตตานี 2 ฝั่งแม่น้ำในเขต ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จากที่เคยเป็นกล้วยป่า แต่ปัจจุบัน ขึ้นแท่นเป็นโอทอปของ จ.ยะลา ที่มีกลุ่มแม่บ้านหลายกลุ่มผลิตออกจำหน่าย หลายรูปแบบ อย่างเช่น กลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ต.บันนังสตา ซึ่งมี คุณรุสนี มานะแตหะ เป็นประธานกลุ่ม และคุณไซนะ กามะ รองประธานกลุ่มที่คอยช่วยบริหารงานของกลุ่ม ที่ผลักดันให้ กล้วยหินบังนังสตา ภายใต้การค้าว่า “บาตูวัน” คว้าโอทอป 4 ดาว

คุณซุไฮมีน กามะ

คุณไซนะ เล่าว่า จากที่แต่ละบ้านมีกล้วยหินอยู่แล้ว เพราะเป็นกล้วยดั้งเดิมของพื้นที่รู้กันอยู่ว่าจะถนอมอาหารกันอย่างไร ตอนแรกก็ทำกินกันในครัวเรือน บางขายให้คนนอกบาง จนกระทั่งเมื่อปี 2544 คิดร่วมกลุ่มกัน ชื่อกลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ตั้งเป้ากันไว้ว่าจะทำกล้วยฉาบหินออกขายรวบรวมแม่บ้านในหมู่บ้านได้ประมาณ 25 คนตอนนั้นร่วมหุ้นกันคนละ 100 บาท ช่วยกันทำผลิตกันเรื่อยๆ กลุ่มของเราจะมีการหมุนเวียนประธานกลุ่ม 4 ปีครั้ง สับเปลี่ยนให้สมาชิกท่านอื่นได้ขึ้นมาเป็นประธานกันบาง โดยใช้วิธีโหวตเสียงและดูผลงานที่ผ่านมาช่วงดำรงตำแหน่งประธานจะมีหน้าที่ ในการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการที่เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อหาช่องทางการตลาด

“กระทั่งปี 2547 ทางกลุ่มซื้อที่ดินประมาณ 100,000 บาท แต่ซื้อเงินผ่อน เพื่อมาสร้างโรงเรือนสำหรับผลิตกล้วยฉาบ ส่งขาย ทุกวันนี้กลุ่มเราสามารถปันผลให้สมาชิกได้อย่างล่าสุดได้ผลกำไรมา ประมาณ 60,000 กว่าบาท เราก็มาปันผลให้สมาชิกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็ไปใช้หนี้ที่ซื้อที่ดิน ทุกวันนี้สมาชิกจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน”

วัตถุดิบซื้อสมาชิก-ชาวบ้านทั่วไป

สำหรับกล้วยก็จะซื้อในพื้นที่ของเรา ซึ่งมีทั้งกลุ่มสมาชิกที่ปลูก ประมาณ 50 ไร่ ราคาที่ซื้อจะแพงกว่า ชาวบ้านนิดหน่อย อย่างหวีสวย ซื้อสมาชิกราคา 25 บาท ถ้าซื้อชาวบ้านทั่วไปก็ 20 บาท ราคาที่ซื้อก็เริ่มต้นกันที่ 15-25 บาท

เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่าย โตเร็ว ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ในพื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ประมาณ 100 ต้น ประมาณ 8 เดือน เริ่มให้ออกหัวปลี เครือมี 6-10 หวีใช้เวลา 4 เดือน ผลจะเริ่มทยอยสุก ผลกล้วยหินมีขนาดใหญ่ดูคล้ายก้อนหิน เป็นรูปห้าเหลี่ยมมีเปลือกแข็ง เนื้อแน่นและเหนียว นิยมต้มก่อนบริโภค ผลการวิจัยสารอาหารในกล้วยหิน พบมีสารเบตา คาร์โรทีน ในปริมาณสูง

ทุกสัปดาห์สมาชิกจะช่วยกันเก็บผลกล้วยมาเก็บเพื่อแปรรูป และทุกวันจะช่วยกันผลิต โดยทอดฉาบ เป็นมีทั้งรส หวาน เค็ม กรอบแก้ว และทรงเครื่อง สมาชิกที่ทำกระบวนการนี้ประมาณ 15 คน

ช่องทางการส่งออก

คุณไซนะ เผยว่าเมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมา ทางหน่วยงานราชการพาไปประเทศมาเลย์ เมืองกัวลาลัมเปอร์ นำสินค้าไปเผยแพร่ เพิ่มช่องทางการส่งออกต่างประเทศ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นับว่าเป็นโอกาสให้สินค้ากระจายสู่ตลาดนอก

นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย และวิสาหกิจชุมชนจังหวัดปัตตานี ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ

 

ทุกวันนี้ส่งไปจำหน่ายสงขลา ยะลา ปัตตานี เดือนละ 2 ครั้ง ประมาณเดือนละ 15,000 ถุง ราคาถุงละ 20 บาท และตลาดในกรุงเทพ ลูกค้าจะสั่งมาเราก็จะส่งให้ทางรถไฟจะสะดวกกว่าถ้าส่งทางอื่นจะแตกสินค้าจะเสียหาย เพราะกล้วยเมื่อนำมาฉาบแล้วจะแตกหักง่าย ไม่สวย แต่รสชาติยังคงเดิม ที่ขายดีจะเป็นรสเค็ม กับรสหวาน

“หีบห่อจะมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือดั้งเดิมใส่ถุงพลาสติกแข็ง กลุ่มจะทำกันเอง ส่วนอีกแบบเป็นถุงสวยงามที่หน่วยงานราชการในพื้นที่ ที่ให้สนับสนุนออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ จะดีตรงที่กันแตกหักของสินค้า แต่ราคาก็จะสูงกว่าที่บรรจุแบบเก่า”

นอกจากนี้ยัง ขายหน่อกล้วย ราคาหน่อละ 25 บาท  ในช่วงฤดูฝนเนื่องจากผลผลิตจะน้อย ราคาจะขยับอยู่ที่ 40-50 บาท กลุ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุก ชอบซื้อไปให้นกกิน

สำหรับท่านใดต้องการชิมกล้วยหิน ของกลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ภายใต้ชื่อการค้าว่า “บาตูวัน” สามารถติดต่อได้ที่ 20/2 หมู่ที่ 11 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา โทร.084-8997707