ก. เกษตรฯ ประกาศเพิ่มสินค้าเป้าหมาย 5 ชนิด ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สานต่อนโยบายตลาดนำการผลิต

ก. เกษตรฯ เดินหน้ายกระดับผลผลิต-บริหารจัดการน้ำ ประกาศเพิ่มสินค้าเป้าหมาย 5 ชนิด ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สานต่อนโยบายตลาดนำการผลิต ภายใต้งบประมาณ ปี 2562 เริ่ม ต.ค. นี้

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2562 ที่จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้รับการจัดสรร จำนวน 111,762 ล้านบาท จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 25,492 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 25,021 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 53,366 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) จำนวน 7,882 ล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเน้นสานต่อนโยบายตลาดนำการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างความเป็นธรรมด้านราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เน้นดำเนินการ 2 เรื่องหลัก คือแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และการบริหารจัดการ น้ำ วงเงินรวม 51,631 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร 7,460 ล้านบาท เน้นการบริหารจัดการ สินค้าเกษตร (Product Base) และให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางพัฒนา (Farmer – Center) ส่วนการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 44,171 ล้านบาท ใช้เพื่อจัดหาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และบรรเทาปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ เป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 213,813 ไร่

สำหรับส่วนแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร วางเป้าหมายบริหารจัดการสินค้าเกษตร (Product Base) 5 รายการ คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา + 4 plus (สับปะรด มะพร้าว ปศุสัตว์ ประมง) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด และการแปรรูปสินค้าเกษตร มี 5 โครงการสำคัญ ดังนี้ 1) โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร 2) โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร 3) โครงการยก ระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 4) โครงการพัฒนาศักยภาพ กระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร และ 5) โครงการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร 400 แห่ง

ส่วนแผนงานเกษตรกรเป็นศูนย์กลางพัฒนา (Farmer – Center) มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่าย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ ด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri – Map เพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตร/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 350 แห่ง โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 4,608 แปลง โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) และโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 709,390 ไร่

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา พืชเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯ จะใช้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเพื่อนำร่องมี 3 ชนิด เพราะปริมาณไม่เพียงพอต่อการปริโภค ผู้ผลิตในประเทศต้องนำ เข้าปีละหลายหมื่นล้าน ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไทยยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ แต่ละปีต้องนำเข้าประมาณ 3 ล้านตัน ภาครัฐ สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ด้วยการส่งเสริมปลูกข้าวโพดทดแทน ข้าวนาปรัง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดในพื้นที่เดิมที่ปลูกอยู่ ประมาณ 6 ล้านไร่

มันสำปะหลัง

ส่วน มันสำปะหลัง ยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ในแต่ละปีต้องนำเข้ามาประมาณ 13.51 ล้านตัน ภาครัฐสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่เดิมที่ปลูกอยู่แล้ว 8.29 ล้านไร่ และถั่วเหลืองยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยใน ปี 2560 ต้องนำเข้า 2.75 ล้านตัน ภาครัฐสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตโดยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตในพื้นที่เหมาะสมทั้งในพื้นที่หลังนาและพื้นที่ใหม่