ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทยยูเนี่ยนถกประชุมนานาชาติ Trust Women Conference 2016 เสนอตั้ง “กองทุนชาวประมง” เพื่อช่วยแรงงงานที่ถูกกดขี่ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล พร้อมถกประเด็นแรงงานกดขี่ในระบบห่วงโซ่อุปทาน
ดร.แดเรียน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า ในการเข้าประชุมนานาชาติ Trust Women Conference เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งหารือถึงวิธีการที่เป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ผู้หญิงลุกขึ้นสู้กับการกดขี่ทั่วโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการขจัดแรงงานกดขี่ออกไปจากระบบห่วงโซ่อุปทาน
ได้เสนอการตั้งกองทุนชาวประมง (Fishers Fund) ให้เป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก Trust Women Conference นอกจากการเข้าร่วมงาน Trust Women Conference ของ ดร.แดเรียน แล้ว ในวันนี้ไทยยูเนี่ยนตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนด้วยการเปิดตัวเว็ปไซต์ Seachange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของบริษัท
ทั้งนี้ กองทุนชาวประมง คือการให้ทุนทรัพย์แก่แรงงานที่ได้รับการช่วยเหลือจากการกดขี่ ไทยยูเนี่ยนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย เช่น สถาบันอิศรา เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network : MWRN) สเตลล่า มาริส และแอลพีเอ็น ในการทำโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานที่ได้รับการช่วยเหลือมีทุนทรัพย์ในการเลือกที่จะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับแรงงานเหล่านั้นและครอบครัว รวมทั้งเป็นการคืนสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของพวกเขาด้วยการมอบอิสระในการเลือกให้แก่แรงงานเหล่านั้น
พร้อมกันนี้ในการเสวนาบนเวที Trust Women Conference ในเรื่องแรงงานที่ถูกบังคับในห่วงโซ่อาหาร ดร.แดเรียน กล่าวถึงประเด็นการใช้แรงงานในลักษณะทาสในธุรกิจอาหารทะเลไทย และความพยายามของไทยยูเนี่ยนในการทำให้แรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยนเป็นแรงงานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย พร้อมทั้งยังได้กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ทักษะ ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่มีทั้งหมดของพวกเขาในการช่วยกันจัดตั้งกองทุนชาวประมงนี้
เนื่องจากการกดขี่แรงงานในลักษณะทาสยุคใหม่กระจายอยู่ในหลายภาคส่วนและหลายอุตสาหกรรม และมีผลต่อผู้บริโภคทั้งหมด หน่วยงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลกพยายามจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานและที่พักอาศัยที่เหมาะสมให้กับแรงงานและชาวประมง อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในท้องทะเลยากแก่การกำกับดูแลเนื่องจากอยู่ห่างไกล และมีความลำบากในการติดตามความเคลื่อนไหว แรงงานข้ามชาติหลายรายมีเจตนาเพียงมุ่งหางานทำ แต่ต้องตกเป็นเหยื่อของนายหน้าหางานที่ไร้ศีลธรรม และในท้ายที่สุดแรงงานเหล่านั้นกลับมีหนี้สินรุงรัง ไม่มีเอกสารรับรองที่ถูกต้อง ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ แม้เมื่อได้รับความช่วยเหลือออกจากสภาพเหล่านี้ เหยื่อของการค้ามนุษย์ยังไม่สามารถยืนด้วยตนเองได้ เนื่องจากไม่มีรายได้ ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีงาน และอนาคตที่สดใสในประเทศที่ตนข้ามแดนไปหาเลี้ยงชีพ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในการขจัดการใช้แรงงานในลักษณะทาสอย่างแท้จริงให้หมดไป ทั้งอุตสาหกรรมจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่มีเครื่องพิสูจน์ได้และยั่งยืน นั่นหมายถึง ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคสังคม และแม้แต่ผู้บริโภคก็ต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
มร.แอนดี้ ฮอลล์ ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า กองทุนชาวประมงเป็นการชดเชยหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกองทุนช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างมากในการชดเชยและมีส่วนในการตั้งต้นชีวิตใหม่ของแรงงานข้ามชาติและแรงงานในประเทศหลายหมื่นคนในอุตสาหกรรมการประมงไทย ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันยังเผชิญกับการกดขี่ในหลายรูปแบบ เช่น ระบบทาสยุคใหม่ การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์
“นี่ถือเป็นก้าวที่กล้าหาญและน่าชื่นชม เรียกได้ว่าเป็นอีกพัฒนาการสำคัญของไทยยูเนี่ยน และสะท้อนถึงสิ่งที่เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) มองว่าเป็นพันธกิจที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีอนาคตที่ดีและยั่งยืนขึ้นให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย รวมทั้งอนาคตที่ดีและยั่งยืนขึ้นสำหรับแรงงานสำคัญของบริษัท ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานข้ามชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าและประเทศกัมพูชา ที่ยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกกดขี่ในรูปแบบดังกล่าว”