ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | พิชญาดา เจริญจิต |
เผยแพร่ |
น้ำปัสสาวะ น้ำฉี่ น้ำเยี่ยว แค่พูดถึง หลายคนก็รู้สึกรังเกียจแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า น้ำสีเหลืองๆ นี้แหละ มีประโยชน์เหลือหลาย เพราะอุดมด้วย แร่ธาตุ วิตามิน ฮอร์โมน เอนไซม์ ภูมิคุ้มกัน โปรตีน รวมทั้งสารที่มีประโยชน์อีกมาก และยังพบว่า น้ำปัสสาวะตอนเช้าหลังตื่นนอนมีฮอร์โมนเมลาโทนินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ และยิ่งเป็นน้ำปัสสาวะของเด็กจะมีแร่ธาตุมากมาย ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ทองแดง สังกะสี ไอโอดิน เหล็ก ยูเรีย ซึ่งสามารถต้านการอักเสบ และบำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย

ในการแพทย์แผนโบราณได้บ่งบอกถึงข้อดีของการดื่มน้ำปัสสาวะ จึงมีผู้นำน้ำปัสสาวะมาดื่ม เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เพราะเชื่อว่าในน้ำปัสสาวะมีสารอินเตอร์เฟอรอน เป็นสารต้านมะเร็ง เมื่อน้ำปัสสาวะเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการจึงขับออกมา เมื่อดื่มเข้าไปร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทาน โดยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวไล่กินปัสสาวะที่เราดื่มเข้าไป ซึ่งกระจายไปทั่วร่างกาย และเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่กินเชื้อโรค กินมะเร็ง กินสิ่งแปลกปลอม รวม ทั้งสิ่งที่มีพิษในร่างกายอยู่แล้ว ร่างกายจึงมีภูมิต้านทานเพิ่มมากขึ้น
การใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าว
น้ำปัสสาวะ เกิดจากระบบการขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยการแยกกาก คือ อุจจาระออกจากกัน ฉะนั้น น้ำปัสสาวะ จึงต่างจากอุจจาระที่เป็นของเสีย

เมื่อน้ำปัสสาวะใช้ประโยชน์ในคนได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีผู้นำมาทดลองใช้กับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย นั่นก็คือ การใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าว ซึ่งผู้ทดลองในเรื่องนี้ก็ คือ คุณนายสุธี ชิวหากาญจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร
ปกติคนเราจะถ่ายน้ำปัสสาวะ วันละ 1-1.5 ลิตร องค์ประกอบของน้ำปัสสาวะของผู้ใหญ่ 1 คน ต่อวัน ประกอบไปด้วย
– ยูเรีย (ไนโตรเจน) 6-180 กรัม
– ครีเอไทน์ (ไนโตรเจน) 0.3-0.8 กรัม
– แอมโมเนีย (ไนโตรเจน) 0.4-1.0 กรัม
– กรดยูลิค (ไนโตรเจน) 0.008-0.2 กรัม
– โซเดียม 2.0-4.0 กรัม
– โพแทสเซียม 1.5-2.0 กรัม
– แคลเซียม 0.1- 0.3 กรัม
– แมกนีเซียม 0.1-0.2 กรัม
– คลอไรด์ 4.0-8.0 กรัม
– ฟอสเฟต (ฟอสฟอรัส) 0.7-1.6 กรัม
– อนินทรีย์ ซัลเฟต (ซัลเฟอร์) 0.6-1.8 กรัม
– อินทรีย์ ซัลเฟต (ซัลเฟอร์) 0.006-0.2 กรัม
ธาตุอาหารเหล่านี้ สามารถนำไปปลูกพืชโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย สรุปว่า น้ำปัสสาวะที่มนุษย์ขับถ่ายและทิ้งในแต่ละวันสามารถตอบสนองต่อความต้องการปุ๋ยในการปลูกพืชของโลกได้ทั้งหมดโดยธรรมชาติ คุณสุธี จึงได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อข้อมูลที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้ สามารถที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำปัสสาวะเพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้

วัตถุประสงค์ คือ ศึกษาอัตราการใช้น้ำปัสสาวะที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของข้าว (การแตกกอ)
การศึกษาวิจัย ทำโดยใช้พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 ปลูกในกระถาง กระถางละ 1 ต้น จำนวน 4 Treatment (วิธีการ) Treatment ละ 4 Replication (ขบวนการ) ใช้อัตราน้ำปัสสาวะที่แตกต่างกัน คือ
Treatment1 ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:50 (ลิตร)
Treatment2 ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:100 (ลิตร)
Treatment3 ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:150 (ลิตร)
Treatment4 ไม่ใช้น้ำปัสสาวะ
และหาค่าเฉลี่ยจำนวนการแตกกอของข้าว
ผลการศึกษาวิจัย
จากการศึกษาพบว่า Treatment ที่ 1 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 50 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 81 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 77, 70 และ 62 โดยมีค่าเฉลี่ย 72.50 ต้น
Treatment ที่ 2 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 72 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 54, 53 และ 49 โดยมีค่าเฉลี่ย 57 ต้น

Treatment ที่ 3 ใช้น้ำปัสสาวะในอัตรา 1 ลิตร ต่อ น้ 150 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 64 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 35, 24 และ 20 โดยมีค่าเฉลี่ย 31.25 ต้น
Treatment ที่ 4 ไม่ใช้น้ำปัสสาวะ (ใช้น้ำธรรมดา) ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 27 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 25, 25 และ 20 โดยมีค่าเฉลี่ย 24.25 ต้น
ปัสสาวะ มีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าว (การแตกกอ) จริง สามารถนำผลการศึกษาไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับอำเภอและจังหวัดนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำน้ำปัสสาวะมาใช้ในนาข้าวเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการส่งเสริมการใช่ปุ๋ยในนาข้าว และรณรงค์การใช้น้ำปัสสาวะทดแทนปุ๋ยเคมี

หากสนใจและต้องการข้อมูล การใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าว ของ คุณสุธี ชิวหากาญจน์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถนนธราธิบดี ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือโทรศัพท์ 077-311-525