สอน.เคาะค่าอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ 2 ราคา เขตสุพรรณบุรีต่ำสุด 980 บาท

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 เป็น 2 ราคา โดยส่วนใหญ่จำนวน 8 เขต กำหดราคา 1,050 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี) กำหนดราคา 980 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าเป็นราคาระดับสูงเนื่องจากมีการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปมาก ค่าเงินบาททิศทางอ่อนค่าลง ประกอบกับฤดูการผลิตปีนี้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่คำนวณไว้ที่ 1,086 บาทต่อตัน ถือว่าต้นทุนสูง และ ปกติในทุกปีรัฐจะช่วยเหลือด้วยการให้กองทุนอ้อยฯกู้กับสถาบันการเงินของรัฐมาอุดหนุนราคาเพิ่ม แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดหลักขององค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ)

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สอน.กำลังเจรจากับโรงงาน 9 แห่ง ได้แก่ บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลแม่วัง จำกัด บ.น้ำตาลท่ามะกา จำกัด บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรีจำกัด บ.โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด บ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด บมจ.น้ำตาลขอนแก่น บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด และบ.น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เพื่อทำบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ไม่รับเงินค่ารักษาเสถียรภาพคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบได้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากก่อนหน้านี้ 9 โรงงานได้ยื่นศาลปกครองกลางเพื่อขอความเป็นธรรมจากกรณีกอน.เรียกเก็บเงินรักษาเสถียรภาพที่เก็บทั้งชาวไร่และโรงงานในอัตรา 0.5% ของรายได้ แต่ฤดูการผลิตปี 2542/2543 และฤดูผลิต 2545/2546 และโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ แต่ 9 โรงงานจ่ายจึงต้องขอความเป็นธรรมต่อมาศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางยกฟ้องทำให้ 9 โรงไปอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้ 4 โรงงานชนะคดี ทำให้รัฐต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 361 ล้านบาทและคาดว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้อีก 5 โรงงานชนะคดีเช่นกัน

” สอน.และกองทุนฯเองได้เจรจาแล้วโรงงาน 9 แห่ง ต่างเห็นด้วยในหลักการที่จะไม่เอาเงินคืนเพียงแต่จะมีรายละเอียดในทางปฏิบัติจึงต้องทำเอ็มโอยู ประกอบกับคดีนี้มีมานานแล้วหลังจากที่ 9 รายยื่นฟ้องไปโรงงานอีก24 โรงงานที่ค้างชำระราว 583.89 ล้านบาทก็นำมาชำระคืนกองทุนฯจนหมด ทุกฝ่ายจึงเห็นชอบร่วมกัน และหากรัฐคืนเงินจะมีปัญหาต่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย”นายสมศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจาก กอน.กล่าวว่า หลักการของ 9 โรงงานเห็นด้วยที่จะไม่รับเงินคืน เพราะหากกองทุนฯคืนเงิน โรงงานจะโอนคืนภายหลัง ทำให้มีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะถือเป็นการรับรู้รายได้ แต่หากไม่รับเลยน่าจะดีกว่าและเห็นว่าโรงงานน้ำตาลที่เหลือก็ไม่ควรที่จะไปยืนฟ้องร้องฯ เพราะชาวไร่อาจยืนฟ้องเพื่อขอเงินได้เช่นกันและจบแบบเดียวกับโรงงาน ขณะเดียวกันหากมีการคืนเงินจะต้องย้อนกลับไปคำนวณราคาอ้อยใหม่หรือไม่ทั้งหมดในอดีต ปัญหาจะยิ่งขยายวงกว้าง โดยวันที่ 14 ธันวาคม จะครบกำหนด 90 วัน ที่กองทุนอ้อยฯจะต้องคืนเงินให้กับโรงงานที่ชนะคดี ดังนั้น เร็วๆนี้จะมีการลงนามเอ็มโอยู