“กัมพูชา” วิ่งขยายตลาดข้าว ไต่แท่นผู้ส่งออก “เบอร์ต้น” โลก

“กัมพูชา” หนึ่งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีรายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ส่งออกข้าว” ซึ่งความท้าทายใหญ่ก็คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างประเทศไทยและเวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ ของเอเชียอาคเนย์

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี “ฮุนเซน” ต้องฝันสลายหลังพลาดเป้าส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ซึ่งตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีปัจจัยหลักอย่างปัญหาการขาดแคลนโรงสี โกดังเก็บข้าว และเงินทุนในการพัฒนาเมล็ดข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ และช่วยเหลือเกษตรกร โดยปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวได้เพียงแค่ 500,000 ตัน หรือเพียง 50% ของเป้าหมายเท่านั้น

นอกจากนี้นายกฯฮุนเซนเคยประกาศในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ เมื่อปีก่อนว่า การแข่งขันอย่างหนักของผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ๆ เช่น ไทย เวียดนาม เมียนมา และอินเดีย เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กัมพูชาไม่ประสบความสำเร็จในเป้าหมาย

ภาพจาก : www.phnompenhpost.com

โดยกระทรวงเกษตรของกัมพูชาประเมินว่าปีนี้ผลผลิตข้าวของกัมพูชาจะเกิน 9.2 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้กัมพูชามีข้าวส่งออกเกิน 3 ล้านตันในปีหน้า

วีโอเอ แคมโบเดีย รายงานว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชาระบุถึงตัวเลขประมาณการผลผลิตปีนี้ว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า หากหักปริมาณที่ใช้บริโภคภายในประเทศอาจเหลือข้าวเปลือกส่งออกถึง 5 ล้านตัน ทั้งแนะนำให้ชาวนาตากข้าวเปลือกให้แห้งและเก็บรักษาให้ถูกวิธีเพื่อที่จะขายข้าวได้ในราคาที่ดี พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารอนุมัติการปล่อยกู้แก่เกษตรกรและพ่อค้าข้าว เพื่อรักษาระดับราคาในตลาดข้าว เพราะไม่เพียงแต่กัมพูชาเท่านั้นที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกข้าวก็กำลังเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำเช่นกัน

ขณะที่บางประเทศอย่างเวียดนามมีแนวโน้มที่ผลผลิตข้าวจะลดลงในปีนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี2548 หลังเกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี

ดังนั้นปี 2559 อาจเป็นปีแรกที่กัมพูชาจะมีข้าวสารส่งออกได้เท่ากับเป้าหมายอยู่ที่ 1 ล้านตัน เพราะอานิสงส์จากการส่งเสริมภาคเกษตรของรัฐบาล ที่ให้การช่วยเหลือชาวนา ทั้งการให้ความรู้ในการเก็บรักษาข้าวอย่างถูกวิธี รวมทั้งการที่รัฐบาลได้เชิญชวนให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มการลงทุนสร้าง “ไซโล” เก็บรักษาข้าว ที่ทันสมัยและเครื่องอบข้าวไล่ความชื้น เนื่องจากกัมพูชายังประสบปัญหาขาดแคลนสถานที่เก็บข้าวที่ได้มาตรฐาน

สำหรับประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนก็คือนักลงทุนจากจีน ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวกัมพูชามาโดยตลอด โดยรัฐบาลได้เจรจากับจีนในการขอเงินกู้มาสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว

ตลาดเป้าหมายส่งออกข้าวของกัมพูชานอกจากที่ตั้งเป้าขายข้าวให้แก่จีน 200,000 ตัน และเวียดนามอีก 300,000 ตัน ผลจากที่เวียดนามประสบภัยแล้งจนรัฐบาลประเมินว่าการผลิตภายในอาจไม่เพียงพอ

นอกจากนี้รัฐบาลกัมพูชายังแสดงความจำนงบุกตลาด”อินโดนีเซีย” หลังจากปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เจรจากับอินโดนีเซียเพื่อขายข้าว 1 ล้านตัน ทว่าไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

อย่างไรก็ตามทางการกัมพูชา ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ คาดว่าจะเข้าเจรจาเพื่อทำเอ็มโอยูการจำหน่ายข้าว แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณส่งออกข้าวไปอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดหลายปีมานี้

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชายังเดินหน้าขยายตลาดข้าวในประเทศยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ให้สิทธิ GSP หรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป แก่สินค้าที่ผลิตในกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีเพียงประเทศโปแลนด์และเนเธอร์แลนด์ที่มีการนำเข้าข้าวและเป็นคู่ค้าลำดับต้น ๆ ของกัมพูชา

โดยนายกฯฮุนเซนประกาศว่า “ตลาดเป้าหมายต่อไปของเราคือการบุกตลาดมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอาเซียน และตลาดยุโรป จากข้อได้เปรียบในการใช้สิทธิ GSP ซึ่งจะทำให้เราสามารถยกระดับเป็นเบอร์ต้น ๆ ของผู้ผลิตและส่งออกข้าวโลก”