มฟล. สร้างมูลค่าเพิ่ม “พืชผักผลไม้” สู่นวัตกรรมเครื่องสำอางแบรนด์ไทย

“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เป็นสุภาษิตไทยที่ใช้ได้เสมอ หลายคนเกิดมามีใบหน้าไม่สวยงามตามธรรมชาติ แต่ “เครื่องสำอาง” เปรียบเสมือนเวทมนตร์เปลี่ยนโฉมหน้าผู้หญิงทุกคนให้สวยและดูดีขึ้นได้ทันตาเห็น “เครื่องสำอาง” จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้หญิงทั่วโลก ตราบใดที่ผู้หญิงไม่หยุดสวย ตลาดเครื่องสำอางย่อมไม่มีวันซบเซาเช่นกัน

สร้างบัณฑิต “วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง” รับใช้สังคม

กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทย มีสถานบริการด้านสปา และความงามมากกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดต่อปีมากกว่า 8,000 ล้านบาท หากนับรวมรายได้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในธุรกิจสปาและความงาม คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท ทีเดียว

รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)

รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เล็งเห็นความสำคัญของ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงามว่า มีโอกาสเติบโตสูง และมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศได้ แต่ยังขาดบุคลากรที่เรียนจบสาขานี้โดยตรง จึงก่อตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและหลักสูตรเทคโนโลยีความงามเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

นักศึกษาที่เรียนจบสาขาวิชานี้ สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ในสถาบันของรัฐและเอกชน ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เช่น การขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เช่น ผู้ให้คำปรึกษาด้านเครื่องสำอาง หรืออาจารย์ เป็นต้น

วิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร

เครื่องสำอางที่ไม่เพียงแต่มุ่งประโยชน์แก่ผู้บริโภค แต่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมองถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร คณาจารย์และนักศึกษา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงได้นำพืชผักผลไม้ในท้องถิ่น เช่น ข้าวเหนียวดำ ข้าวสังข์หยด ดอกกล้วยไม้ ผักปลัง รวงข้าวหอมมะลิ เห็ดฟาง เห็ดหูหนูขาว เห็ดถั่งเช่า ฯลฯ มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็น “นวัตกรรมเครื่องสำอางแบรนด์ไทย” คุณภาพดี มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่

– ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดรวงข้าวหอมมะลิ ผลงาน รองศาสตราจารย์ ดร. มยุรี กัลยาวัฒนกุล

อายไลเนอร์จากข้าวเหนียวดำ

– อายไลเนอร์จากข้าวเหนียวดำ ผลงาน ดร. นิสากร แซ่วัน

– ผลิตภัณฑ์แต่งคิ้วจากข้าวเหนียวดำ และเซรั่มเพิ่มความชุ่มชื้นผิวกระจ่างใส ที่มีส่วนประกอบของสารพอลิแซ็กคาไรด์จากเห็ดหูหนูขาว ผลงาน ดร. ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ

– เซรั่มที่มีส่วนผสมของสารสกัดดอกกล้วยไม้ และ เอสเซ้นส์ต้นแบบผสมสารสกัดผักปลัง ผลงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐยา เหล่าฤทธิ์

– เอสเซนส์น้ำอบบำรุงผิวหน้าจากสารสกัดเห็ดฟาง ผลงาน ดร. ปัญญวัฒณ์ ปินตาทอง

ขณะเดียวกัน โรงงานเครื่องสำอางต้นแบบ และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก แม้กระทั่ง “โดม-ปกรณ์ ลัม” ศิลปินชื่อดัง ก็ลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดส่งผลิตภัณฑ์สินค้าของเขามาให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงวิเคราะห์ทดสอบและจดสิทธิบัตร

นวัตกรรมเครื่องสำอาง “มฟล.” คว้ารางวัลนานาชาติ

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอาง ที่มีประสิทธิภาพสูง ผลงานหลายชิ้นถูกนำไปจัดแสดงและคว้ารางวัลผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมจากเวทีประกวดระดับนานาชาติหลายครั้ง กลายเป็นเครื่องการันตีคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่ามีคุณภาพโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก

วช. มอบประกาศนียบัตรให้แก่ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่ชนะรางวัลประกวดเวทีนานาชาติ

ทำให้สินค้าเครื่องสำอางของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วประเทศ และบริษัทเอกชนหลายรายติดต่อขอซื้อองค์ความรู้ ไปผลิตเชิงการค้า โดยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้ควบคุมคุณภาพการผลิต

ผลิตภัณฑ์ชะลอความชราจากสเต็มเซลล์ข้าว

ผลิตภัณฑ์ชะลอความชราจากสเต็มเซลล์ข้าว ผลงาน ดร. นิสากร แซ่วัน และคณะ ประกอบด้วย นางสาววรรณิศา วิชิต นักศึกษาระดับปริญญาเอก นายธนนท์ ปริญญารักษ์ และ นางสาวจิตราภรณ์ เผือกนาง นักศึกษาระดับปริญญาโท สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) ในงาน “Seoul International Invention Fair 2017” และรางวัล Special Award จาก President Taiwan Invention Assocition ประเทศไต้หวัน

ผลงานชิ้นนี้ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) ทีมนักวิจัยได้ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว ได้ชักนำการสร้างสเต็มเซลล์ (แคลลัส) จากจมูกข้าว 3 พันธุ์คือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวมันปู และข้าวเหนียวดำ แล้วนำมาสกัดและวิเคราะห์คุณสมบัติชะลอความชรา

พบว่าสารสกัดสเต็มเซลล์มีปริมาณสารออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นจากสารสกัดจากเมล็ดข้าวถึง 3 เท่า และมีคุณสมบัติชะลอความชราผ่านกลไกการต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นการเจริญของเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวกระจ่างใสผ่านกลไกการต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงสรุปได้ว่า สารสกัดสเต็มเซลล์ข้าวไทยมีศักยภาพในการประยุกต์ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ชะลอความชราในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าวมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ภายใต้แบรนด์ “ลานาดีน” ใช้ชื่อทางการค้าว่า “Red Rice Stemcell” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเลือกใช้ทั้งในรูปแบบ Night Cream และ Serum ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้มีบริษัทเอกชน 2 ราย คือ บริษัท วธูธร จำกัด และ บริษัท โปรดักส์พลัสอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทำสัญญาซื้อองค์ความรู้เพื่อนำไปผลิตเครื่องสำอางเชิงการค้า จำหน่ายในประเทศและส่งออก

ครีมรวงข้าว ได้รับรางวัลเหรียญทองจากประเทศเกาหลี

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวแม่ฟ้าหลวง คือ ครีมรวงข้าว : ลานาดีนครีมลดริ้วรอยจากสารสกัดรวงข้าวหอมมะลิ ผลงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มยุรี กัลยาวัฒนกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐยา เหล่าฤทธิ์ และ ดร. ภักวดี ไชยกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) จากเวทีประกวด “Seoul International Invention Fair 2017” และ Diploma Award สำหรับนวัตกรรมยอดเยี่ยมจากการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากประเทศรัสเซีย

ครีมรวงข้าว เป็นผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ (สวก.)   มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ทีมงานวิจัยได้ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการศึกษาสารสกัดรวงข้าว 5 สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในไทยคือ ข้าวเจ้าสุพรรณบุรี 1 พิษณุโลก 2 ข้าวหอมดอกมะลิ 105 ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 และ กข 6

ผลการทดลองพบว่า รวงข้าวขาวดอกมะลิ 105 อายุ 90 วัน นับจากวันปลูกสู่รวงข้าวระยะก่อนน้ำนม จะมีปริมาณฟีนอลิกในปริมาณสูง ต้านอนุมูลอิสระได้ดี สามารถลดรอยหมองคล้ำจางลงในสัปดาห์ที่ 4 และริ้วรอยลดเลือนลง เมื่อใช้ต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ 8 ช่วยกระชับผิว เพิ่มความเรียบเนียน ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ผลงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้คนไทยสวยหล่อขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิได้ถึง 10 เท่าตัว

ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม NUMBER 333 ผลิตจากข้าวสังข์หยด

ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม NUMBER 333 ผลิตจากข้าวสังข์หยด ผลงาน ดร. ณัตฐาวุฒิ ฐิติปราโมทย์ ซึ่งค้นพบว่า เมล็ดข้าวสีดำและสีแดงของข้าวสังข์หยด มีสารชีวภาพต้านผมร่วงมากที่สุด ผลการทดลองกับอาสาสมัครชาย พบว่า สามารถเพิ่มการงอกของเส้นผมได้มากขึ้นเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป ปริมาณผมมากจนมองไม่เห็นหนังศีรษะเมื่อใช้นาน 3 เดือน ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Gold Medal 2015 จากประเทศไต้หวัน รวมทั้ง รางวัล Special Award จากประเทศโปแลนด์และประเทศโรมาเนีย

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดจำหน่ายโดย M-Store (ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้าได้ที่ กล่องข้อความ (Inbox) www.facebook.com/mstoremfu หรือ Line@ : @M-STORE หรือทางโทรศัพท์ 053-917-020 หรือทางอีเมล m – [email protected]