กรมหม่อนไหม แนะวิธีเลี้ยงหนอนไหมในฤดูหนาว

นางสาวศิริพร บุญชู รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2561 นับตั้งแต่ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561 นั้น แม้ช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน) จะเป็นช่วงที่มีความเหมาะสมในการเลี้ยงหนอนไหมมาก เนื่องจากใบหม่อนมีความอุดมสมบูรณ์ ใบไม่อวบน้ำ อุณหภูมิและความชื้นก็ไม่สูงหรือต่ำเกินไป โดยอุณหภูมิที่ไหมจะเจริญเติบโตได้ดีอยู่ที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส  อย่างไรก็ตาม ช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเปลี่ยนแปลงและอาจมีอุณหภูมิลดต่ำลงบางช่วงในเวลากลางคืน  ซึ่งอากาศที่หนาวเกินไปอาจทำให้หนอนไหมกินใบหม่อนน้อยลง เจริญเติบโตช้า ส่งผลทำให้ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าปกติ

นางสาวศิริพร บุญชู รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมหม่อนไหม

ดังนั้น การเลี้ยงไหมในช่วงฤดูหนาวนั้น เกษตรกรควรเฝ้าระวังเรื่องความชื้น และอุณหภูมิภายในโรงเลี้ยง ไม่ให้ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส โดยวิธีการต่างๆ เช่น การตั้งเตาไฟที่ปราศจากควันไว้ในห้องเลี้ยงไหมและวางกะละมังหรือถังบรรจุน้ำบนเตา เพื่อเพิ่มอุณหภูมิและความชื้น การปิดหน้าต่างและประตูโรงเลี้ยงไหมเพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายใน การพ่นละอองน้ำลงบนใบหม่อนหรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำปิดตะกร้าใบหม่อนที่เก็บไว้เพื่อเลี้ยงไหม เพื่อไม่ให้ใบหม่อนเหี่ยวเฉาเร็วเกินไป หรือปรับสภาพรอบด้านให้มีความชื้นสูงขึ้น

นอกจากนี้ การให้ใบหม่อนใช้เลี้ยงไหมในแต่ละครั้ง ควรมีปริมาณพอดีหรือใกล้เคียงกับความต้องการของหนอนไหม และควรดูแลห้องเก็บใบหม่อนให้มีอากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น ดูแลใบหม่อนให้สะอาดปราศจากฝุ่นละอองและสารเคมี ทั้งนี้ หากเกษตรกรดูแลอุณหภูมิในโรงเลี้ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหนอนไหม ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตรังไหมในช่วงฤดูหนาวอย่างแน่นอน

“การเลี้ยงไหมในแต่ละฤดูจะมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันไป เกษตรกรควรศึกษาข้อมูล วิธีการเลี้ยงในแต่ละฤดูกาล สภาพภูมิอากาศ และสภาพพื้นที่ โดยสามารถศึกษาข้อมูลการดูแลแปลงหม่อน หนอนไหม รวมถึงการป้องกันแมลงและโรคต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ของกรมหม่อนไหม www.qsds.go.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02-558-7924 หรือ Call Center 1275 และที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 21 ศูนย์ ทั่วประเทศ” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว