หยุดนี้ เที่ยวใกล้กรุง หกคนหนึ่งวัน แบงค์พันมีทอน

 ชมความงามของสายน้ำประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 สัมผัสทัศนียภาพริมฝั่งคลองตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเรียบง่าย ตามรอยประเพณีการตักบาตรท้องน้ำที่คู่ลำคลองมายาวนาน เล่าขานตำนานการทำนาบัว ลิ้มรสผลไม้สดจากสวน เรียนรู้ภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบโบราณ ผสานร้อยรักสามัคคีเป็นวิถีจากศาสตร์พระราชา ชุมชนแห่งความพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวิตบนผืนดินพระราชทาน

ผมได้ประสานกับ คุณอี๊ด-อารีย์ ขาวอ่อน โทร. (092) 990-5946 เพื่อเก็บข้อมูลมานำเสนอเรื่องราวของการท่องเที่ยวแบบนวัตวิถี กับพี่น้องชาวบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคลองมหาสวัสดิ์นับเนื่องเกินร้อยปีมากแล้ว คุณอี๊ด เล่าให้ฟังว่า คลองมหาสวัสดิ์ หรือ คลองชัยพฤกษ์ เริ่มขุดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อย่นระยะทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ขนาดกว้าง 7 วา ลึก 7 ศอก มีความยาวทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร เริ่มต้นจากคลองบางกอกน้อยใกล้วัดชัยพฤกษ์มาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ผ่านอำเภอพุทธมณฑลไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

“กิจกรรมหลักๆ ประมาณไหนพี่”

“หากวางเต็มอัตราศึกก็มีทั้งหมด 7 จุดให้ทำกิจกรรมจ้า”

“ไหนว่ามา เผื่อเวลาพอจะได้ลุย”

“1. ไหว้พระหลวงพ่อดี วัดสุวรรณาราม 2. ชมและชิมผลิตภัณฑ์ของบ้านฟักข้าวคุณขนิษฐา 3. ล่องเรือชมนาบัวลุงแจ่ม 4. เยี่ยมชมศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้ศาสตร์พระราชา และสปาโอ่ง 5. ชมและชิมการทำขนมจีนแบบโบราณ 6. โรงเรียนชาวนาคุณเกรียงไกร 7. ชิมผลไม้สดๆ จากสวนป้าแจ๋ว”

“โห! จะไปครบไหมหนอ เห็นกรมอุตุฯ บอกว่าฝนจะตก”

“ไม่หมดก็มาวันหลังได้ ที่นี่เปิดรับเสมอจ้า”

ผมและทีมงานกองถ่ายรายการทิดโสok เดินทางไปยังจุดนัดพบ วัดสุวรรณาราม มีลานจอดรถที่พร้อมบริการนักท่องเที่ยวได้หลายสิบคัน มีตลาดเล็กๆ ของชาวบ้านมาตั้งแผงขาย เช่น ขนมครก ก๋วยเตี๋ยว ผัก ที่นี่นักท่องเที่ยวจะจอดรถไว้ เพื่อเปลี่ยนพาหนะไปลงเรือเที่ยวตามคลองกันต่อ แต่เมื่อมาถึงแล้วก็เลยขอฝากท้องมื้อเช้าไว้ที่ก๋วยเตี๋ยวร้อยปีสักนิด เส้นเล็กต้มยำสูตรโบราณที่ปรุงรสแบบนี้ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ชามเล็กจนต้องสั่งเบิ้ลกันในคราวเดียว  เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด กำลังเหมาะ หมูสับแบบไม่ละเอียดร่วมกับปลาเส้น ถั่วลิสงคั่วบดหยาบ ไม่นานก็เกลี้ยงคนละสองชาม หรือใครสนใจข้าวมันไก่ก็อร่อยได้เรื่องเชียวแหละ ข้าวมันที่หุงพร้อมสมุนไพรทั้งกระเทียม พริกไทย และขิงแก่ หอมเตะจมูกตั้งแต่คำแรกเลยเชียว เสร็จแล้วก็ให้อาหารปลากันสักหน่อย ปลาแรด ปลาดุก โดยเฉพาะปลาสวาย ขนาดไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม มาออกันแน่นรออาหาร ที่นี่จะดูแลเรื่องคิวเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยวด้วยครับ ผู้ใหญ่มนูญ

เรือมารอเราอยู่แล้ว ที่นี่มีราคาเหมาลำที่ 350 บาท นั่งได้ 5-6 คน หลังจากอิ่มท้องก็ได้เวลาล่องเรือไปตามคลองมหาสวัสดิ์ วันนี้จุดแรกเราจะได้ไปชมนาบัวลุงแจ่ม นาบัวที่คุณอี๊ดเล่าว่าสืบทอดกันมาสามชั่วคนแล้ว น้ำในคลองมหาสวัสดิ์ค่อนข้างสะอาด เรานั่งเรือผ่านบ้านผู้คน บ้างก็ล้างชามริมคลอง บ้างก็เก็บผักบุ้งที่ทอดยาวยอดอวบสวย บ้างก็ยกยอดักปลา เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน เคยอยู่อย่างไรก็ยังอยู่เช่นนั้น ผมรู้สึกเหมือนนาฬิกาหยุดเดิน ได้ย้อนกลับไปสู่ชีวิตเมื่อครั้งอดีตที่เรียบง่ายและงดงาม

เรามาถึงจุดแรก นาบัวลุงแจ่ม เป็นความโชคดีของเราที่ไปเจอเจ้าของกำลังเก็บบัวมาคัด ตัดแต่ง และห่อเป็นช่อ แยกขนาดเป็นเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อส่งขายให้แม่ค้าต่อไป เราได้เจอ น้องมิน รุ่นที่สามที่เป็นหลานของลุงแจ่ม สาวน้อยที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ที่เลือกแล้วว่าจะสานต่องานของครอบครัวคือเป็นสาวนาบัว น้องมินมีความสามารถในการจับจีบกลีบบัวให้เป็นลวดลายต่างๆ สวยงาม และไม่ยากเกินกว่าจะไปเรียนรู้ครับ และน้องก็สอนกันตรงนั้นเลย หากท่านใดสนใจก็อย่าลืมไปขอเรียนกับน้องนะครับ

นาบัวในพื้นที่ 15 ไร่ ปลูกบัวสัตตบุษย์ที่มีกลีบดอกสีขาว และบัวสัตตบงกชที่มีกลีบดอกสีชมพูอมม่วง สวยงาม มีบัวสายหลากสีแซมพอให้เห็นความงามของนาบัว เนื่องจากที่นี่ปลูกบัวเก็บดอก เราจึงไม่ได้เห็นดอกบานนอกจากบัวสายเท่านั้น แต่กลิ่นหอมอ่อนๆ เวลาเดินบนสะพาน หรือพายเรืออยู่ในนาบัวแสนสดชื่นเหลือเกิน คุณอี๊ด เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านชุมชนบ้านศาลาดินมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้ง เป็นเหตุให้เกษตรกรยากจนและไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงปัญหาจึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้แก่เกษตรกร จำนวน 1,009 ไร่ โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดรูปที่ดินให้เกษตรกร แปลงละ 20 ไร่ เริ่มเข้าทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา และในวันที่เราไปเยี่ยมชมก็ถือว่าเป็นความโชคดีอย่างมาก ได้เจอบัวแฝด ทั้งแฝดสอง และแฝดสี่ ซึ่งถือว่าหายากมาก หรือว่าผมจะโชคดีหนอ

“ลองชิมไหม ที่นี่ทำชาเกสรดอกบัว หอมอร่อยมากเลยนะคะ”

“ได้เลยครับ”

“เป็นไงบ้าง”

“ไม่ผิดหวังครับ หอม หวานน้อยๆ อยากจิบเรื่อยๆ”

“มีขายแบบชาให้ไปชงด้วยนะคะ ส่วนความหวานที่นี่เราใช้หญ้าหวานจ๊ะ”

เสร็จจากความหอมกรุ่นของนาบัว เรือก็พาเราลัดเลาะมาแวะเดินชมตลาดน้ำบ้านศาลาดิน ตลาดเล็กๆ ที่มีชาวบ้านนำผลผลิตจากสวนมาจำหน่ายกัน ไฮไลต์ที่นี่คือมาหัดทำข้าวตัง พร้อมมีให้ชิมอย่างไม่อั้น มีร้านขายของฝาก ร้านกาแฟ ร้านอาหารริมคลองที่มีสารพัดเมนูให้เลือกชิมกัน ที่สำคัญ มีคาราโอเกะให้ได้ร้องเพลงอย่างสบายอุราอีกด้วย

เดินพอคลายเมื่อยก็ลงเรืออีกครั้ง เป้าหมายบ้านฟักข้าว บ้านที่นำผลของฟักข้าวมาแปรรูปเป็นสินค้าได้มากมาย พี่ขนิษฐา เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่า เดิมทีที่บ้านก็เป็นสวนผลไม้ ปลูกมะม่วงและไม้ผลอื่นๆ จวบจนปี พ.ศ. 2554 น้ำมาหลากล้นจนท่วมไปทั้งคุ้ง ไม้ผลที่มีก็ยืนต้นตายกันหมด ครั้นจะปลูกใหม่ก็ต้องรอเวลาอีกไม่น้อย คุณพ่อจึงบอกว่าปลูกฟักข้าวดีกว่า แค่ 6 เดือน ก็จะมีผลผลิตให้แล้ว หลังจากได้ผลสุกของฟักข้าวมาแล้วก็เลยนำมาแปรรูป  ประจวบเหมาะกับมีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วย ก็เลยเกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและผลิตไม่พอจำหน่าย ปัจจุบัน ทั้งน้ำฟักข้าว สบู่ แชมพู โลชั่น หมี่กรอบ กระทั่งเย็นตาโฟก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมากมาย จึงต้องขอบคุณวิกฤติที่สร้างโอกาสใหม่ในวันนี้ ฝนกระหน่ำในวันที่เราอยากให้หยุด จึงได้เสวนากับพี่ขนิษฐาหลายเรื่อง ได้ความรู้เรื่องการแปรรูปมาอีกมากมาย

พอฝนหมาดเราก็ต้องเดินทางต่อ เพราะวางหมุดไว้อีกหลายจุด ไม่แน่ใจว่าจะไปได้ครบหรือไม่ เพราะต้องหยุดให้ฝนซาหลายๆ ครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร กลับดีเสียอีกที่ทำให้เราได้ใช้เวลาแต่ละจุดได้มากขึ้น แม้ไม่ครบทุกจุดแต่ก็วางหมุดไว้ในใจว่าจะมาอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งแน่นอน  เพราะยังมีอีกหลายจุดมากที่อยากไปแต่เวลาวันเดียวคงไม่ทันแน่ๆ

เรามาถึงอีกหนึ่งจุดเป็นสวนเกษตรผสมผสานของ ป้าแจ๋ว เจ้าของเกียรติบัตรเต็มฝาบ้าน ส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง กล้วย ฟัก มะขาม ชมพู่ หมาก และแปลงนาข้าว การได้นั่งรถอีแต๊กเที่ยวสวนแบบขาลุยก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะลุงโชเฟอร์แกใส่ไม่ยั้งจริงๆ ซิ่งทั่วสวนจนไปโผล่แปลงนา และพาวนกลับ ก่อนที่จะมาพาเสียวกับการเข้าจอดแบบเฉี่ยวเสาให้ได้ร้องกันทั้งคันนั่นเลยเชียว งานนี้ทั้งอิ่มผลไม้และได้เสียวกันไปในตัวครับ ขอบคุณทีมงานสวนป้าแจ๋วด้วยครับ (สาวๆ รุ่นเกิน 60 ทั้งนั้น)

เรายังมีนัดกลุ่มแม่บ้านแปรรูป จุดทำขนมจีนแป้งหมักแบบโบราณ และสปาโอ่ง แต่ดูเวลาแล้วไม่พอ จึงขอปิดท้ายด้วยการไปลงแปลงนาลดต้นทุนสักหน่อย พี่เกรียงไกร ชาวนา-เกษตรกรมือรางวัลระดับประเทศรออยู่พร้อมคุณแม่ ไม่ต้องคุยอะไรกันหรอกครับ ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมต้มคลุกมะพร้าวน้ำหอมอ่อนๆ และทีเด็ดของที่นี่คือ ไอติมกล้วยน้ำว้า ถามว่าทำไมไม่เรียกไอศกรีม พี่เกรียงไกรบอกว่า เราทำแบบบ้านๆ ขอเรียกแบบบ้านๆ ตามนี้แหละ คุณเอ๋ย! เพียงคำแรกที่ผมอมไว้ให้ละลายในปาก กลิ่นหอมของกล้วย รสมันหวานเย็นของไอติมกลั้วอวลอยู่ในปาก อร่อยแทบลืมกลืนจริงๆ ครับ อย่าเชื่อผม ต้องไปพิสูจน์กันเองครับ

พี่เกรียงไกร ทำนาแบบก้าวหน้า หมักฟางและไม่ใช้ยาเคมีใดๆ ทำนาลดต้นทุนมาหลายปี จากต้นทุนไร่ละ 3,800-4,000 บาท ปัจจุบัน พี่เกรียงไกรบอกว่าใช้แค่ไร่ละ 1,900 บาทเท่านั้น ที่สำคัญผลผลิต ไร่ละ 90 ถัง

“โม้ไหมเนี่ย”

“ไม่ได้โม้ ไม่เชื่อมาทำกับผมสิ หนาวนี้มาสิ เกี่ยวข้าวกัน ข้าวใหม่หอมๆ ปลามันๆ”

“ได้เลยครับ”

ก่อนกลับ แวะมาชมสปาโอ่งสักนิด ได้เจอ ผู้ใหญ่อาภรณ์ ช้อยประเสริฐ แห่งหมู่ 3 บ้านศาลาดิน โทร. (083) 838-6882 แถมยังมาส่งกลับด้วยกล้วยน้ำว้าสวนอีก 2 เครือ ต้องขอขอบคุณจริงๆ ครับ เกรงใจ๊เกรงใจ แต่รถผมก็ว่างอีกเยอะ อิอิอิ

ฟ้าเริ่มมืดพร้อมฝอยฝนที่พรูพรั่ง ผมต้องขออำลาจากการเดินทางที่แสนสนุกและมีความรู้เพียบเช่นนี้ สัญญาว่าจะมาอีกแน่นอน ก็…อร่อยอ่ะ

สรุป ไปเที่ยว 6 คน ค่าเรือ 350.- ค่าเข้าชมกิจกรรมรวมทุกจุด คนละ 100.- จ่ายไป 1,000.- ได้เงินทอนกลับอีก 50.- แน่ะ ดี๊ดี