ปลูก “ฟักแม้ว” ต้องใช้ “เมล็ด” หรือส่วนใดปลูก?

เชื่อว่า หลายคนชอบรับประทาน “ฟักแม้ว” ทั้งยอดและผล นิยมนำมาผัดน้ำมันหอยได้รสชาติอร่อยมาก ทำให้หลายคนสนใจอยากปลูกฟักแม้วไว้เป็นพืชสวนครัวประจำบ้าน แต่ยังไม่แน่ใจว่า การปลูกฟักแม้ว ต้องใช้เมล็ด หรือส่วนใดปลูก หากใครใคร่รู้เรื่องนี้ หมอเกษตร ทองกวาว มีคำตอบมาให้สำหรับผู้สนใจ

รู้จัก ฟักแม้ว

ฟักแม้ว มะระแม้ว มะระหวาน หรือ ซาโยเต้ (Chayote) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับฟัก แฟง แตงกวา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เชื่อว่าหมอสอนศาสนาคริสต์นำเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อใดไม่มีข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้

ฟักแม้ว เป็นประเภทไม้เลื้อย มีอายุข้ามปีหรือมากกว่า 1 ฤดู เถายาว 3-5 เมตร ใบมี 3-5 เหลี่ยม ยาว 8-15 เซนติเมตร ผลเป็นประเภทผลเดี่ยว ดอกเพศผู้ เพศเมีย แยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน เถาเป็นรูปเหลี่ยม เนื้อผลพัฒนามาจากฐานรองดอก ขยายใหญ่ไปหุ้มเมล็ดไว้ คล้ายกับผลมะม่วง ผลฟักแม้ว มีทรงกลม ด้านยาวมากกว่าความกว้าง ผลขรุขระ สีเขียวอ่อน ยาว 7-20 เซนติเมตร และกว้าง 5-15 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 200-400 กรัม ต่อผล เนื้อมีรสหวาน

การปลูกดูแล

การปลูกหรือขยายพันธุ์ฟักแม้ว ต้องใช้ปลูกทั้งผล คัดเลือกผลที่สมบูรณ์ แก่เต็มที่ ไม่มีโรค แมลงติดมาด้วย วางส่วนก้นลงหลุมปลูก แล้วเกลี่ยดินกลับลงหลุม หรืออาจวางนอนก็ได้ แล้วกลบดินเพียงครึ่งผล เมื่อได้รับความชื้น รากจะงอกออกที่ก้นผลใกล้กับเมล็ด ต่อมาเถายาวขึ้นและแตกแขนงออก ตัดแต่งปีละ 3-4 ครั้ง ให้เหลือไว้เพียง 3-5 เถา

หลังปลูก

ต้นฟักแม้วอายุ 4-5 เดือน จะเริ่มให้ผล โดยเฉลี่ย 25-40 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ทำค้างให้เลื้อย จะได้ผลสวยงาม แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ และเลย

การดูแลรักษา

ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกแตงกวา หรือฟัก แฟง ภาคกลางอากาศร้อน ปลูกไม่ค่อยได้ผล มีที่จังหวัดกาญจนบุรีบางแห่งปลูกได้ แต่ปลูกบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500-1,200 เมตร จะให้ผลดีที่สุดครับ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2564