ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เกษตรฯ สานต่อ “ยโสธรโมเดล” ขยายฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศ เพิ่มกำลังผลิตป้อนตลาด มกอช.เร่งใช้ “QR Trace” ตามสอบย้อนกลับสินค้า เสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตั้งเป้าปี 61 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ขยายตัวอีกกว่า 1 แสนไร่
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ มกอช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและซิงเกิ้ลคอมมานด์ (Single Command) เร่งบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งส่งเสริมและผลักดัน “ยโสธรโมเดล” ให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ (Model) พร้อมต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธรจากเดิม 37,110 ไร่ เป็น 100,000 ไร่ภายในปี 2561 และเพิ่มพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ของประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีด้วย
ในปี 2559 โครงการฯดังกล่าวได้คืบหน้าไปมาก โดยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ใหม่เพิ่มขึ้น 42,570 ไร่ ส่งผลให้จังหวัดยโสธรมีพื้นผลิตเกษตรอินทรีย์รวมกว่า 79,680 ไร่ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมยกระดับเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 669 ราย พื้นที่ 10,849 ไร่ และกลุ่มเริ่มใหม่ 2,065 ราย พื้นที่ 31,721 ไร่ ซึ่งเกินเป้าที่จังหวัดตั้งไว้ว่า จะมีพื้นที่เพิ่มอย่างน้อย 20,000 ไร่/ปี
อย่างไรก็ตาม ปี 2560 กระทรวงเกษตรฯได้มีแผนเร่งสานต่อการพัฒนา “ยโสธรโมเดล” มุ่งเน้นการทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อผลักดันและสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการตลาด ขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสและขยายตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด ให้มีผลิตผลเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่องหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี
“นอกจากมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เดิม ซึ่งมีการผลิตสินค้าหลายรายการ อาทิ ไข่ไก่อินทรีย์ ปลา ข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ และถั่วลิสงอินทรีย์ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งสนับสนุนการขยายพื้นที่ผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ให้พร้อมยกระดับสู่การรับรองมาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเริ่มใหม่ ในส่วนของ มกอช. นั้น มีแผนเร่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการตลาด โดยจะประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมให้ความรู้ด้านการตามสอบสินค้าด้วยระบบคิวอาร์เทรส (QR Trace) นำร่อง จำนวน 2 กลุ่ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศด้วย” นางสาวดุจเดือน กล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 15-19 ธันวาคม 2559 จะมีการจัดงานยโสธร ออร์แกนิก แฟร์ 2016 ขึ้น ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดยโสธร มกอช.ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการตามสอบสินค้าด้วยระบบ QR Trace เข้าร่วมจัดแสดงภายในงานดังกล่าวด้วย คาดว่าจะมีส่วนช่วยสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตระหนัก และปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเข้าสู่เกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีกลุ่มเกษตรกรนำระบบ QR Trace ไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรยโสธรโมเดลมากยิ่งขึ้น