กระตุ้นใช้ บี 20 ดันราคาปาล์มทะลายแตะ 3.25 บาท ต่อ กก.

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ เนื่องจากปริมาณสต๊อกที่ล้นตลาด โดยการช่วยลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสู่ระดับปกติให้เร็วที่สุด และมีเป้าหมายพยุงราคาปาล์มทะลายให้อยู่ในระดับ ราคา 3.25 บาท ต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบัน อยู่ที่ 2.50 บาท ต่อ กก.

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินอุดหนุนราคาไบโอดีเซลเกรดพิเศษ? หรือ บี 20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ในภาคขนส่งเป็นกรณีพิเศษอีก 2 บาท ต่อลิตร เป็น 5 บาท ต่อลิตร จากเดิม 3 บาท ต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ วันที่ 1 ธ.ค. 2561-28 ก.พ. 2562

คาดว่า จะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ บี 20 ในปริมาณเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือน นับจากนี้ (ธ.ค. 2561-พ.ศ. 2562) ได้ 10 ล้านลิตร ต่อวัน และเพิ่มเป็น 15 ล้านลิตร ต่อวัน ภายในสิ้นปี 2562 ตามเป้าหมายที่กำหนด จากปัจจุบันปริมาณการใช้อยู่ที่ 5 แสนลิตร ต่อวัน คิดเป็นเป้าหมายดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบให้อยู่ในระดับปกติที่ 4 แสนตัน ภายใน 6 เดือน จากสต๊อกที่มีอยู่ประมาณ 4.2-4.5 แสนตัน

โดยล่าสุด ค่ายรถบรรทุกอีซูซุ ได้แจ้งความพร้อมในการใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ? หรือ บี 20 และค่ายรถบรรทุกฮีโน่แสดงความจำนงค์ในการให้คำปรึกษา/คำแนะนำการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รองรับการใช้บี 20 โดยปัจจุบันฮีโน่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ในภาคขนส่ง 1.8 แสนคัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรถที่มีมาตรฐานต่ำกว่ายูโร 2 ที่รองรับบี 20 ได้จำนวน 1 แสนคัน ส่วนอีก 8 หมื่นคัน เป็นรถบรรทุกที่มีมาตรฐานสูงกว่ายูโร 2 ไม่สามารถรองร้บเชื้อเพลิงบี 20 ได้

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ รับซื้อผลปาล์มดิบโดยตรงจากเกษตรกรทั้งลานเทและโรงสกัดที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ในปริมาณ 1.6 แสนตัน ในราคา 18 บาท ต่อ กก. เริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป ให้สามารถใช้ในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค. 2562

“จากมาตรการดังกล่าว ใช้เงินในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 2,880 ล้านบาท สูงกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟฟ้า 1,354 ล้านบาท ให้กระทรวงพาณิชย์รับชดเชยส่วนต่างต้นทุน 525 ล้านบาท และอีก 829 ล้านบาท กฟผ. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม โดยยืนยันจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน และโดยเฉพาะไม่กระทบรายได้ เงินเดือน และโบนัสของพนักงานของ กฟผ. แต่อย่างใด” นายศิริ กล่าว