“พริกรังสิมา” เพิ่มผลผลิต ทนต่อโรค พืชทางเลือกของการปลูกพริกเชิงการค้า

ที่ผ่านมา เกษตรกรภาคอีสานนิยมปลูกมันสำปะหลัง และข้าวโพด แต่พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้เพียงแค่ครั้งเดียวก็จบ แต่การปลูกพริกเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 10-12 ครั้ง สร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างต่อเนื่องและมีรายได้ให้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ ที่เคยปลูกมา

โดยทั่วไป พริกที่เข้าสู่ตลาดในช่วงต้นปี ส่วนใหญ่มักจะมาจากภาคอีสานตอนบน หลังจากนั้น จึงไล่ลงมาทางอีสานตอนล่างมาถึงจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกพริกมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศโดย “อำเภอเทพสถิต” นับเป็นแหล่งปลูกพริกขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ถือเป็นแหล่งที่มีผลิตพริกขึ้หนูสดป้อนตลาดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพริกส่วนใหญ่ ยังคงประสบปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง เจอโรคและแมลงรบกวนการผลิต ส่งผลถึงคุณภาพของพริกและทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถพลิกชีวิตชาวสวน ลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงและช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ที่มากขึ้น

“พริกรังสิมา” ให้ผลผลิตสูง

กัญญา รอตเสียงล้ำ ผู้จัดการส่วนปรับปรุงพันธุ์พืชธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า พริกขี้หนูลูกผสมพันธุ์รังสิมา เป็นที่นิยมของเกษตรกรในพื้นที่อีสานตอนบนและอีสานตอนล่าง เนื่องจากพริกพันธุ์นี้ มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตสูงมาก ทนทานต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี แม้เจอภาวะฝนแล้ง อากาศร้อนแห้ง มีการระบาดของแมลงหวี่ขาวซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไวรัสใบด่างประเหลือง (โรคใบแก้ว) ปรากฏว่า พริกรังสิมาสามารถทนจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ดีกว่าพริกสายพันธุ์อื่นๆ

จุดเด่นประการต่อมาคือ พริกรังสิมา มีผลสีเขียว ผิวเรียบตึง เป็นมันวาว ผลสุกสีแดงสดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 3 กรัม ต่อผล เมื่อเก็บผลผลิตครั้งต่อๆ ไปก็ให้ผลผลิตดีไม่มีตก มีการเปลี่ยนแปลงขนาดผลน้อย (ไม่หดสั้น) ในช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ราคาดี มีรสเผ็ดจัดจ้านและมีกลิ่นหอมกว่าพริกขึ้นหนูสายพันธุ์ทั่วๆ ไป ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาดีมากจนเป็นที่นิยมของเกษตรกร

การปลูกดูแลแปลงพริก

การปลูกพริก เกษตรกรจะเริ่มเพาะต้นกล้าแปลงเพาะในช่วงเดือนมีนาคม โดยใช้เมล็ดพันธุ์พริกสายพันธุ์รังสิมาของเจียไต๋ ในอัตราเฉลี่ย 2 ไร่ ต่อ 3 กระป๋อง และจะย้ายต้นกล้าลงในแปลงปลูกที่อายุ 25-30 วัน ถ้าต้นกล้าอายุเกิน 1 เดือนไปแล้ว ต้นกล้าจะแก่เกินไปไม่เหมาะแก่การปลูก เพราะพริกรังสิมาอายุการออกดอกหลังย้ายกล้าเพียงหนึ่งเดือนและอายุเก็บเกี่ยวเร็ว (เก็บผลเขียว 65-70 วัน) ต้องย้ายกล้าให้เร็วเพื่อที่พริกเลี้ยงต้นให้พุ่มใหญ่ก่อนที่จะเริ่มติดดอกออกผล จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีตามมา ถ้าหากมีการย้ายกล้าเกินหนึ่งเดือน ต้นพริกจะแคระแกร็น พุ่มเล็ก ติดผลได้น้อยกว่ามาก

ทั้งนี้ ปลูกพริกในระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว 120 เซนติเมตร แต่หากจะให้ดีควรกำหนดระยะห่างระหว่างต้นที่ 50-60 เซนติเมตร เพื่อให้แปลงโปร่งจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้ พริกพันธุ์รังสิมา มีทรงพุ่มแผ่กว้างต่างกับพันธุ์อื่นๆ โดยก่อนปลูกจะรดน้ำในแต่ละหลุมก่อนนำต้นกล้ามาปลูก และหลังจากปลูกเสร็จจะรดน้ำตามอีกครั้งเพื่อให้ต้นกล้าพริกตั้งตัวได้เร็วขึ้น

หลังจากนั้น เปิดให้น้ำผ่านระบบน้ำหยดทุกวัน และให้ปุ๋ยเคมีตรากระต่าย สูตร 13-13-21 ใส่ทุกๆ 15 วัน นอกจากการใส่ปุ๋ยเคมีแล้วจะเน้นใส่ปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลวัวที่เลี้ยงไว้ จะทำให้พริกสวยเม็ดใหญ่ (อยู่ในขั้นตอนการเตรียมดิน คือควรใช้ปุ๋ยคอกตอนไถพรวนและขึ้นแปลง)

เกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวพริกผลเขียวเมื่ออายุ 65-70 วัน และเก็บพริกแดงครั้งแรก เมื่อพริกอายุ 80-90 วัน หลังจากย้ายต้นกล้า การเก็บพริกเขียวรังสิมานั้น สามารถเก็บผลผลิตครั้งแรกเร็วกว่าพริกสายพันธุ์อื่นๆ 7-10 วัน

และสามารถเก็บพริกในรอบถัดไปได้ 12-14 วัน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่เคยปลูกมาจะเก็บผลผลิตในรอบถัดไปได้ 17-18 วัน พริกสายพันธุ์รังสิมา มีรอบการเก็บผลเขียวเร็วกว่าพันธุ์พริกอื่น ต้นพริกยิ่งโตยิ่งให้ผลผลิตมากขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอด 6 เดือน เลยทีเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาที่ดีด้วยเช่นกัน

ผลผลิตพริกที่ออกในช่วงฤดูฝน มักพบเชื้อรา เกษตรกรมักฉีดยาเทนเอ็ม 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นป้องกันเชื้อรา พริกรังสิมา ทนต่อโรคใบแก้ว (โรคไวรัสใบด่างประเหลือง) มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีลงได้ แต่ควรฉีดพ่นสารป้องกันแมลงพวกแมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟที่เป็นสาเหตุของโรคไวรัสคุมไว้ตลอด

การฉีดยาป้องกันไวรัส ควรฉีดพ่นยาให้ทั่วถึง เนื่องจากพริกรังสิมามีลักษณะใบเล็กไม่บังผลและดอก นอกจากนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมของโรคพืชที่สวนจะปลูกพืชแบบผสมผสาน หลังจากปลูกพริกแล้ว เกษตรกรควรสลับสับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดหรือมันสำปะหลังบ้าง เพื่อลดอัตราการสะสมของเชื้อโรค

หากปลูกพริกรังสิมา เปรียบเทียบกับพริกพันธุ์อื่นแบบต้นต่อต้น จะพบว่า พริกรังสิมามีทรงพุ่มต้น มีแขนงเยอะ ติดลูกดก ใหญ่ ผลผลิตสูง สีสวย รสชาติจัดจ้าน เก็บเกี่ยวได้เร็ว ใบเรียวเล็ก สามารถทำให้สภาพแปลงโปร่งทำให้ความชื้นน้อยลดอัตราการเกิดโรคได้และต้านทานโรค คนงานที่เก็บพริก บอกว่าพริกพันธุ์นี้ผลยาว ลูกใหญ่ ขั้วเปราะ ทำให้เก็บเกี่ยวง่าย

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเมล็ดพันธุ์ “พริกขี้หนูลูกผสมพันธุ์รังสิมา” สามารถติดต่อหาซื้อได้ที่ตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเจียไต๋ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-810 3031-7 ต่อ 136 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์  www.chiataigroup.com