เลาะแคมโขง ต้นตอผลิตซอส แหล่งปลูกมะเขือเทศพันธุ์ดี

เครื่องปรุงรสประเภทซอสจัดเป็นเครื่องปรุงรสที่ใช้วัตถุดิบจากพืชอุตสาหกรรมที่เรียกว่า “มะเขือเทศ” ซึ่งฟังเพียงชื่อดูเหมือนจะเป็นเพียงพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง แต่มีมูลค่าความต้องการในตลาดสูงไม่น้อยไปกว่าวัตถุดิบที่ใช้เป็นเครื่องปรุงงานครัวชนิดอื่น

มะเขือเทศ ยังเป็นพืชอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้า เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ซอสในเครื่องกระป๋องต่างๆ เป็นต้น

เตรียมขนส่ง

ทั้งประเทศไทย แหล่งปลูกพืชล้มลุกชนิดนี้มีแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดตั้งอยู่บนพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบึงกาฬ ที่มีพื้นที่ปลูกมะเขือเทศเกือบ 2,000 ไร่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ เป็นกลุ่มที่รวมตัวจากชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชผักตามความเหมาะสมของฤดูกาล 3 หมู่บ้านในตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ เฉพาะ 3 หมู่บ้านที่รวมกลุ่มมีพื้นที่ริมแม่น้ำโขงสำหรับปลูกมะเขือเทศกว่า 700 ไร่

ที่ต้องเน้นว่า พื้นที่ริมแม่น้ำโขง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดินริมฝั่งแม่น้ำโขงมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกมะเขือเทศ

คุณวิรัตน์ หลายเจริญ  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ ผู้ให้ข้อมูลการรวมกลุ่มและการปลูกมะเขือเทศของชาวบ้านในตำบลบึงกาฬ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่ใหญ่ที่สุด บอกว่า ชาวบ้านหมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำโขง ทำการเกษตรแบบหมุนเวียนตามฤดูกาลและความเหมาะสมของสภาพดิน โดยฤดูหนาวเลือกปลูกมะเขือเทศ ซึ่งเป็นฤดูที่มะเขือเทศให้ผลผลิตมากที่สุด ทั้งบริเวณใกล้เคียงมีแหล่งรองรับมะเขือเทศสี หรือ มะเขือเทศสุก เป็นโรงงานศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม ตั้งอยู่ในจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสถานที่ต้นทางผลิตซอสก่อนส่งไปยังโรงงานผลิตปลากระป๋องอีกทอด

ฤดูหนาวเพียงไม่กี่เดือนสำหรับการกระบวนการปลูกกระทั่งถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขาย หมดจากฤดูหนาวอันเป็นฤดูของมะเขือเทศแล้ว ชาวบ้านที่มีพื้นที่เกษตรริมฝั่งโขงจะแปลงผืนดินให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวโพด และ ข้าว

การปลูกมะเขือเทศสำหรับชาวบึงกาฬ เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน โดยการเพาะกล้าก่อนลงหลุมปลูก 1 เดือน แต่ระหว่างการเพาะกล้าราวเดือนเศษ เป็นช่วงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับเมล็ดมากที่สุด

คุณวิรัตน์ อธิบายขั้นตอนการปลูกอย่างง่ายว่า การเพาะกล้าใส่เมล็ดพันธุ์หลุมละ 1-2 เมล็ด หากมากกว่านั้นจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะราคาเมล็ดพันธุ์มีราคาสูง น้ำหนักเพียง 25 กรัม ราคาอยู่ที่ 600-1,000 บาท ขึ้นกับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ แต่ประการสำคัญในการเลือกเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มจะให้ความสำคัญหลักในการเลือกเมล็ดพันธุ์อยู่ที่เมล็ดพันธุ์ต้องมีความต้านทานโรคสูง

สำหรับพันธุ์ที่เลือกใช้เป็นพันธุ์เพอร์เฟคโกลด์ 111 และ พันธุ์วี เอฟ วัน เพราะต้านทานโรคได้ดี ให้ผลดก เนื้อแข็ง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ราคาดี โดยปัจจุบันราคามะเขือเทศสี (ผลที่ยังไม่สุกเป็นสีแดง) อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 9-10 บาท ขึ้นกับขนาด ส่วนมะเขือเทศแดง (ผลที่สุกเป็นสีแดงทั้งผล) จะถูกเก็บส่งขายโรงงานผลิตซอสที่ให้ราคาประกันสูงสุดอยู่ที่ 2.50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

ส่วนการเตรียมแปลงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก คุณวิรัตน์ เล่าว่า เป็นการเตรียมแปลงโดยไถขึ้นแปลงธรรมดาเหมือนการปลูกพืชทั่วไป อาจไถดินตากแดดไว้ราว 3 เที่ยว ก่อนนำกล้าลงปลูกควรใส่เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันเชื้อโรคทั้งที่อยู่ในดินและเชื้อโรคที่อยู่บนต้นพืช เสมือนเป็นการให้วัคซีนป้องกันในเด็กอ่อน วึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับพืชตั้งแต่แรก โดยหลุมปลูกมีความลึก 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมอยู่ที่ 80 X 100 เซนติเมตร และควรใส่ปุ๋ยชีวภาพที่หลุมปลูกด้วย

หลังปลูก 1 สัปดาห์ รากเริ่มแข็งแรง ควรให้ปุ๋ยเคมีระยะแรกสูตร 15-15-15 โดยใส่ข้างหลุม เพื่อให้เห็นผลเร็วขึ้น และให้ปุ๋ยเคมีในระยะถัดมาสูตร 13-13-21 จากนั้นเมื่อมะเขือเทศให้ดอกแล้วจึงลดสารเคมีลงแล้วเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพกระทั่งถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

“มะเขือเทศที่นี่จะขึ้นค้างให้ เพื่อป้องกันโรครา ค้างจะช่วยให้โปร่ง เชื้อราไม่ขึ้น หนอนไม่ค่อยกิน ลูกสวย เพราะใบจะปิดบังไปเรื่อยๆ ถ้านอนอยู่ใบจะแผ่ออกลูกไม่สวย”

การเก็บผลผลิตเริ่มต้นเก็บเมื่อมะเขือเทศเริ่มสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และต้องเก็บให้มีขั้วติดอยู่กับผล เพื่อเพิ่มมูลค่าการขาย โดยเริ่มเก็บในเวลาเช้าตรู่ของแต่ละวัน ในช่วงสายจะเริ่มเก็บมะเขือเทศแดง เพื่อส่งโรงงานผลิตซอส

มะเขือเทศบึงกาฬ มีตลาดหลักส่งขายอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ปากคลองตลาด และ ตลาดอ่างทอง

เหตุผลหนึ่งที่มะเขือเทศให้ผลผลิตดี นอกเหนือจากสายพันธุ์ดีที่เกษตรกรบึงกาฬคัดเลือกมาแล้ว คือ ดินริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งคุณวิรัตน์ บอกว่า มะเขือเทศชอบดินร่วมซุย ดินเหนียวปนทราย หากดินเหนียวเกินไปหรือร่วนเกินไปไม่เหมาะ ซึ่งคุณสมบัติของดินริมฝั่งแม่น้ำโขงมีคุณสมบัติตรงทุกประการ นอกจากนี้การเลือกปลูกในฤดูหนาว ทำให้ได้ผลผลิตดี เนื่องจากมะเขือเทศเป็นพืชล้มลุกที่เจริญเติบโตเร็ว และชอบสภาพอากาศเย็น เมื่อดินมีความเหมาะสมและสภาพอากาศตามต้องการ ทำให้มะเขือเทศกลายเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ย 8 ตัน

สิ่งที่ตามมา คือ รายได้ หากประเมินจากการขายมะเขือเทศสี ในราคา 10 บาท รายได้อยู่ที่ 40,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ใกล้เคียงกับการลงทุน ส่วนการเก็บเกี่ยวหลังจากนั้นถือเป็น “กำไร”

ดังนั้นการปลูกมะเขือเทศของชาวบึงกาฬ จะเน้นการเก็บผลมะเขือเทศสีส่งขายยังตลาดค้าส่งมากกว่าการเก็บผลมะเขือเทศแดงส่งโรงงานผลิตซอส นอกเหนือจากขายส่งยังตลาดค้าส่งและโรงงานผลิตซอสแล้ว ในแต่ละปียังมีออเดอร์จากประเทศมาเลเซียราว 45-60 ตันต่อปีอีกด้วย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษ กลุ่มนี้ยังได้ใบรับรองมาตรฐานสินค้า จากกรมวิชาการเกษตร เป็นเครื่องการันตีว่าผลผลิตที่ได้ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผลผลิตที่ได้จะเป็นต้นตอของการผลิตซอสส่งยังโรงงานผู้ผลิตต่างๆ รวมถึง เป็นเจ้าตลาดค้าส่งมะเขือเทศไปยังตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ของประเทศ

หากสนใจการผลิตมะเขือเทศริมฝั่งแม่น้ำโขงตามแบบฉบับของบึงกาฬ ลองสอบถามไปยังคุณวิรัตน์ หลายเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษได้ตลอดเวลาที่โทรศัพท์ 089-9862853 หรือ จะสละเวลาเดินทางไปยังแหล่งผลิตจริงที่ 116 หมู่ 4 บ้านนาโนน ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ