ฟักค่าว สมุนไพรไม้เลื้อย พืชพื้นบ้าน ต้านได้หลายโรค

ชื่อ ฟักค่าว หรือเขียนได้อีกแบบ ฟักข้าว ผลสีสด สวย น่ารับประทาน

หลายคนที่อยู่ต่างจังหวัด อาจไม่คุ้นชื่อ ฟักค่าว แต่อาจคุ้นกับชื่อที่เรียกกันในท้องถิ่น เช่น จังหวัดปัตตานี เรียก ขี้กาเครือ จังหวัดตาก เรียก ผักข้าว จังหวัดแพร่ เรียก มะข้าว หรือแม้แต่ประเทศเวียดนาม ยังมีภาษาท้องถิ่นใช้เรียก ฟักค่าว ว่า แก๊ก (Gac)

สามารถพบพืชชนิดนี้ได้ ตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย บังคลาเทศ และฟิลิปปินส์

ฟักค่าว เป็นไม้ประเภทล้มลุก เป็นเถาเลื้อย มีมือเกาะ แบบเดียวกับตำลึง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ หรือรูปไข่ รูปร่างคล้ายใบโพธิ์ ความกว้างยาวเท่ากันประมาณ 6-15 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-5 แฉก

ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือแยกรากปลูก ในพื้นที่ชุ่มน้ำ

ในประเทศไทยคนสมัยก่อนนำผลฟักค่าวอ่อนสีเขียวเป็นอาหาร เนื่องจากรสชาติเนื้อฟักค่าวเหมือนมะละกอ

วิธีการนำมารับประทานโดยการนำมาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริก หรือใส่แกง ส่วนยอดอ่อน ใบอ่อนนำมาเป็นผักได้ โดยการนึ่งหรือลวกให้สุก เช่นเดียวกับผลอ่อนนำไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงแค หรือจิ้มน้ำพริกได้เช่นเดียวกัน

ผลอ่อนของฟักค่าว มีทั้งวิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ไฟเบอร์ แต่สารอาหารที่พบมากในฟักค่าว คือ เบต้าแคโรทีน โดยพบว่า เยื่อเมล็ดของฟักค่าวมีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอทถึง 10 เท่า ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงสายตาได้อย่างดี และยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ