ชาวแม่เงา ขุนยวม เพาะ-เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนเชิงพาณิชย์ เน้นลดต้นทุน แต่คุณภาพยังเพียบ

แนวโน้มความนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อบริโภคเชิงพาณิชย์ในขณะนี้นับว่ามาแรงมาก เนื่องจากไก่กินแต่อาหารจากธรรมชาติล้วน จึงทำให้มีรสชาติอร่อย คุณภาพเนื้อปลอดไขมัน แล้วมั่นใจว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ แล้วถ้ายิ่งนำระบบการเลี้ยงและบริหารจัดการแบบอินทรีย์มาใช้ด้วยคงส่งผลให้จำนวนไก่พื้นเมืองอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมปศุสัตว์เข้ามามีบทบาทต่อการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงไก่พื้นบ้านเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงเข้ามาแนะนำวิธีเลี้ยงที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ยังสนับสนุนส่งเสริมทางด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ รวมถึงยังหาตลาดแหล่งจำหน่ายให้ด้วย

(จากซ้าย) คุณอารีย์, คุณวิรุฬกันต์ โลกา นักวิชาการสัตวบาล พร้อมเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ

อย่างที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางปศุสัตว์จังหวัดได้เปิดยุทธศาสตร์ชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ให้ฟื้นฟูการเลี้ยงพันธุ์พื้นเมืองไก่แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ เพื่อต้องการอนุรักษ์แล้วกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าและความสำคัญของไก่พันธุ์นี้ทางด้านอาหารเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั่วไปของคนทั้งประเทศ พร้อมกับยังรับซื้อหรือหาตลาดรองรับ ช่วยให้ชาวบ้านในจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

คุณอารีย์ พรนำโชค อยู่บ้านเลขที่ 139 หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนเชิงพาณิชย์ได้บอกว่า ความจริงแล้วไม่ได้เลี้ยงไก่มาก่อน ปลูกแต่พืช แต่จะใช้ไก่เฉพาะช่วงที่นำมาใช้ในพิธีกรรมสำคัญเท่านั้น โดยไปซื้อไก่มาจากชาวบ้านที่เลี้ยงในราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท แล้วเห็นว่าทำไมราคาไก่จึงสูงจัง จากนั้นจึงใช้พื้นที่บริเวณบ้านหาพันธุ์ไก่ดำลูกผสมมาเลี้ยงจำนวน 20-30 ตัว

คุณอารีย์ พรนำโชค

คุณอารีย์มีอาชีพเกษตรกรรมที่ทำอยู่หลายอย่าง ได้แก่ ปลูกถั่วดาวอินคาจำนวน 400 ต้น เลี้ยงไก่ลูกผสมจำนวน 300 ตัว ปลูกข้าวโพดจำนวน 2 ไร่ ปลูกกระเทียมจำนวน 2 ไร่ และล่าสุดปลูกต้นโกโก้ไว้จำนวน 100 ต้น

ภายหลังไก่ดำลูกผสมที่นำมาเลี้ยงขนาดโต พอชาวม้งที่มาซื้อผลผลิตทางเกษตรพบเห็นเกิดความสนใจแล้วซื้อกลับไป พร้อมทั้งยังชักชวนเพื่อนๆ มาซื้อกันอีกในคราวต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณอารีย์ก็เลยไปหาพันธุ์ไก่มาเลี้ยงเพิ่มอีก 200-300 ตัว เพราะเห็นช่องทางรายได้ อีกทั้งการเลี้ยงไก่ไม่ได้ยุ่งยาก

ไก่แม่ฮ่องสอน

ขณะเดียวกัน ทางปศุสัตว์จังหวัดชักชวนให้เข้าโครงการธนาคารอาหาร หรือ Food Bank โดยได้รับการสนับสนุนลูกไก่พื้นเมืองพันธุ์แม่ฮ่องสอนไว้จำนวน 50 ตัว พร้อมกับอุปกรณ์ ดังนั้น คุณอารีย์จึงต้องจัดแบ่งโซนแยกไก่ที่เลี้ยงจำนวน 2 ชนิดไม่ให้ปะปนกัน

จากไก่พื้นเมืองที่ได้มาจำนวน 50 ตัว คุณอารีย์เพาะ-ขยายเพิ่มอีก พร้อมกับเติมเต็มเทคนิคการเลี้ยงไก่จากการศึกษาด้วยตัวเองและขอคำแนะนำจากปศุสัตว์ควบคู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตอาหารจากธรรมชาติที่จะช่วยลดต้นทุน หรือวิธีการเลี้ยงการดูแลให้ถูกสุขลักษณะในโรงเรือน เพื่อความต้องการให้ไก่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพ

คุณอารีย์ ชี้ว่า ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนมีลักษณะเด่นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดตัวที่เหมาะสม เลี้ยงง่าย กินอาหารง่าย เนื้อนุ่มไม่มีไขมันเพราะเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติ ดังนั้น เหมาะกับการส่งเสริมเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้เพียงพอแต่ต้องหาตลาดรองรับที่ชัดเจน และต้องมีจำนวนไก่เพียงพอกับตลาดด้วยเหตุนี้จึงมีการรวมเพื่อนเกษตรกรที่สนใจเข้ามาสร้างเป็นกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อต้องการสร้างผลผลิตให้มีจำนวนเพียงพอหากเปิดตลาดรับซื้อ อีกทั้งยังช่วยเป็นรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านอีกทาง

ในส่วนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนของคุณอารีย์ได้วางแผนแยกพ่อ-แม่พันธุ์ แล้วคัดเลือกความสมบูรณ์ในทุกระยะ เพื่อต้องการผลิตไข่สำหรับการขยายพันธุ์ โดยมองว่าในช่วงแรกยังไม่จำเป็นต้องการขายไก่เนื้อเพราะยังมีจำนวนน้อยเกินไป อาจมีบ้างแต่ไม่มาก แต่ต้องการผลิตไข่เพื่อขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมากพอ

ต้องเสียเวลาหั่นต้นกล้วยเป็นอาหารไก่

ปัญหาอย่างหนึ่งของกระบวนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนที่คุณอารีย์กับเพื่อนชาวบ้านพบคือต้องเสียเวลาไปกับการเตรียมหั่นต้นกล้วยเพื่อเป็นอาหารไก่ ซึ่งมองว่าถ้าได้รับการสนับสนุนเครื่องบดอาหารมาจะช่วยให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเพิ่มจำนวนไก่ที่เลี้ยงให้ทันกับความต้องการของตลาด อีกทั้งชาวบ้านที่เลี้ยงยังสามารถใช้เวลาไปทำธุระอย่างอื่นได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องการตู้ฟักไข่เพื่อช่วยให้สามารถฟักไข่ได้จำนวนมากพอกับความต้องการอีกด้วย

ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนที่คุณอารีย์เลี้ยงไว้ตอนนี้มีจำนวนรวมประมาณ 300 ตัว เลี้ยงในระบบโรงเรือน แล้วยังสร้างโรงเรือนอนุบาลลูกไก่ไว้อีก 1 หลัง เป็นการเลี้ยงแบบจัดระบบให้มีมาตรฐาน โดยลูกไก่จะให้อาหารข้นสำเร็จโดยให้กินคราวละไม่มาก แต่ให้จำนวนวันละ 4 ครั้ง ขณะเดียวกัน จะต้องมีน้ำให้เพียงพอ เป็นน้ำสะอาด อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการดูแลความสะอาดในโรงเรือน

ผลผลิตข้าวโพดนอกจากขายแล้วยังนำมาเป็นอาหารไก่ด้วย

“เมื่อลูกไก่มีขนาดโตจะย้ายเข้าโรงขุนแล้วยังใช้อาหารข้นเลี้ยง แต่ต้องปรับเปลี่ยนสูตร พร้อมกับเสริมด้วยอาหารทางธรรมชาติ โดยมีสูตรการเตรียมอาหารคือใช้อาหารข้นจำนวน 2 กิโลกรัม แกลบอ่อน 1 กิโลกรัม และปลายข้าว 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การนำอาหารจากธรรมชาติมาเป็นอาหารไก่ทั้งหยวกกล้วย แกลบ รำข้าว หรือหญ้าเนเปียร์ที่มีโปรตีนสูง

รวมถึงในบางคราวยังใช้พืชผักจากการปรุงอาหาร แล้วยังไปขุดปลวกตามป่า แนวทางนี้ช่วยให้ลดต้นทุนได้มาก แถมไก่ยังมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง จากคุณค่าที่ได้จากอาหารเหล่านั้น โดยอาหารจากธรรมชาติจะสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน จะค่อยๆ ลดปริมาณการใช้อาหารข้นลงเพื่อลดต้นทุนให้ได้เต็มที่แต่จะยังรักษาคุณภาพของอาหารไว้”

ไก่แม่ฮ่องสอนเลี้ยงแยกด้วยโรงเรือนมาตรฐาน

คุณอารีย์ ชี้ว่า แนวทางการให้อาหารแบบผสมผสานช่วยส่งผลให้ไก่เจริญเติบโตดี มีคุณภาพเนื้อดี ไม่มีไขมัน มีขนาดน้ำหนักตัวพอเหมาะกับความต้องการของตลาดในการนำไปปรุงอาหาร แล้วได้ลองชำแหละไก่พื้นเมืองนำไปขายยังตลาดชุมชนพบว่าได้รับความสนใจจากชาวบ้านดีมาก

โรงเรือนที่คุณอารีย์ใช้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนในแต่ละวันมีลักษณะเปิดและปิดเป็นช่วงๆ อย่างเวลาให้อาหารก็จะปิดเพื่อต้อนไก่ทุกตัวเข้ามากินอาหารให้ครบอย่างเต็มที่ แล้วเมื่อต้องการให้ไก่ผ่อนคลายก็จะเปิด ขณะที่ภายในโรงเรือนยังติดตั้งไฟสีเหลืองเพื่อป้องกันยุงอันเป็นพาหะโรค

โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ดำลูกผสม
จัดมาตรฐานตามหลักสุขอนามัย

สำหรับการดูแลสุขภาพไก่ที่เลี้ยงไว้ทั้งหมดนั้น คุณอารีย์ต้องหยอดยาให้กับไก่ในช่วงที่มีอายุสัปดาห์ที่ 4 เพื่อป้องกันโรคนิวคาสเซิล นอกจากนั้น ยังแบ่งโซนสายพันธุ์ไก่แม่ฮ่องสอนกับไก่ดำลูกผสมแยกจากกัน ขณะเดียวกัน ยังมีการควบคุมดูแลสุขลักษณะภายในโรงเรือนทุกแห่งอย่างถูกต้อง โดยหากพบว่าไก่ตัวใดมีความผิดปกติจะแยกออกมาก่อนเพื่อรอดูอาการ หรือรีบติดต่อขอคำปรึกษาจากทางปศุสัตว์

ทางด้านการตลาด คุณอารีย์ บอกว่า ไก่แม่ฮ่องสอนขายให้กับทางปศุสัตว์จังหวัดในน้ำหนักตัวประมาณ 1.2 กิโลกรัมที่มีอายุประมาณ 4-5 เดือน โดยขายในราคาตัวละประมาณ 120 บาท (13/9/61) ทั้งนี้ เป็นการขายไก่เพื่อนำเข้าโครงการฟู้ดแบงก์ หรือธนาคารอาหาร นอกจากนั้น ยังชำแหละขายที่ตลาดชุมชนในหมู่บ้านสัปดาห์ละครั้ง อีกทั้งยังนำไก่ทุกตัวขายให้กับทางเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี และกลุ่มแปลงใหญ่อีกด้วย

สมาชิกที่เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน

ด้าน คุณวิรุฬกันต์ โลกา นักวิชาการสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ไก่แม่ฮ่องสอนที่ชาวบ้านเลี้ยงตามชุมชนต่างๆ จะมีการซื้อ-ขาย ยังตลาดรับซื้อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในพื้นที่ก็จะขายในราคา 120 บาท/กิโลครับ มีลูกประจำมารับไปชำแหละขาย หรือตลาดตามเทศกาล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ของทุกปีมักซื้อ-ขายกันเป็นตัวในราคาตัวละ 100 บาท มีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประกอบพิธี เช่น พิธีมัดมือ เรียกขวัญ เลี้ยงไร่เหมืองฝาย เก็บเกี่ยวผลผลิต และที่ตลาดของโครงการธนาคารอาหารชุมชนซึ่งจะขายคืนให้แก่โครงการในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ทั้งนี้ เพื่อโครงการนำมาแปรรูปที่โรงงานแปรรูปท่าโป่งแดงซึ่งมีทั้งไก่สดชำแหละจำหน่ายกิโลกรัมละ 180 บาท

“สำหรับผลิตภัณฑ์ไก่แม่ฮ่องสอนแปรรูปที่ผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคแล้ว ได้แก่ ไก่นึ่งสมุนไพร, ไก่ทอดเกลือ, ไก่ต้มน้ำปลา, ไก่รมควัน, ไก่ข้าวนาสิเลอมัค, ไก่อุ๊บ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะออกจำหน่ายในงานต่างๆ ของจังหวัด เช่น งานปอยเหลินสิบเอ็ด (งานเทศกาลออกพรรษา), งานจัดเลี้ยงแขกผู้ใหญ่ แล้วล่าสุดจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำไก่แม่ฮ่องสอนนึ่งสมุนไพรจัดขึ้นโต๊ะเลี้ยงคณะ ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล”

คุณนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัด (กลาง) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่นำไก่แม่ฮ่องสอนนึ่งสมุนไพรขึ้นโต๊ะอาหารเลี้ยงคณะ ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล
แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไก่แม่ฮ่องสอน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องไก่แม่ฮ่องสอนได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (053) 612-043
ขอบคุณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำนวยความสะดวกในครั้งนี้