เรื่องเล่า “มังคุด” จากอดีตวุฒิสภาสองสมัย ผู้ผลิตมังคุดคุณภาพ ส่งออกรายแรกของไทย

ปีนี้เป็นปีทองผลไม้ไทยของเกษตรกรทุกราย โดยเฉพาะภาคที่มีผลไม้มากสุด เห็นจะเป็นจังหวัดที่อยู่ในแถบภาคตะวันออกของไทย สำหรับที่มีผลไม้ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากสุด อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และลำไย เมืองจันทบุรี คาดว่าอนาคตผลไม้ที่น่าจะไปไกลคงไม่พ้นทุเรียน ที่ชาวจีนต่างชื่นชอบจนไม่พอจำหน่าย ตรงข้ามคนไทยต้องบริโภคของแพง รวมทั้งมังคุดอีกต่างหาก

กล่าวถึงสวนมังคุดลุงสุน สวนมังคุดดังสุดจากอดีตและปัจจุบัน ซึ่งผู้อ่านหรือผู้บริโภคมังคุดลุงสุนแห่งอำเภอแกลง จังหวัดระยอง อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงมีคุณภาพดีเลิศ เขามีกระบวนการผลิตอย่างไรถึงได้ส่งออกจำหน่ายไปต่างประเทศเป็นรายแรกของไทย

กล่าวถึงวันนี้จากวันนั้นของสวนมังคุดลุงสุนที่โด่งดัง ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีเคยไปเยี่ยมสวนมาแล้ว สมัยท่านยังเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ชาวสวนผลไม้ระยองออกมาต้อนรับกันอย่างเนืองแน่น

วิบากกรรมของสวนมังคุดลุงสุนมันแสนสาหัสเพียงใด ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยรับฟัง รับรู้ อาจจะมองข้ามไปว่า ความสำเร็จของสวนลุงสุนนั้นกว่าจะเป็นวันนี้ได้ ลองมาฟังประวัติและชีวิตของลูกผู้ชายที่เรียนจบแม่โจ้ รุ่น 27 แล้วมาเสี่ยงชะตากับโรคโคนเน่ารากเน่าได้อย่างน่าเห็นใจ ที่ประสบกับปัญหาสวนทุเรียนมาก่อน

ผู้ชายที่ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาโรคพืชคนนี้ชื่อ ดร.นิวัฒน์ พ้นชั่ว

เดิมที เด็กชายนิวัฒน์ พ้นชั่ว เป็นชาวระยองโดยกำเนิด พอโตขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ พักอาศัยกับพี่สาว แล้วเข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่ทุกคนเรียนจบแล้วมีโอกาสก้าวหน้าหาที่เรียนต่อได้โดยไม่ยาก เขามีเพื่อนร่วมรุ่น ชื่อ สันติ เศวตวิมล หรือ ช้อย นางรำ ยอดนักชิมอาหารไทย ดังทางนักเขียน และอีกคนเป็นเจ้าของ บริษัท ช.การช่าง ที่เป็นบริษัทมหาชน ด้านการก่อสร้างที่ไปเรียนวิศวกรรมจุฬา

ดร.นิวัฒน์ พ้นชั่ว

ส่วนตัวเขาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.ศ.3 ปัจจุบัน) แทนที่จะเข้าโรงเรียนต่อระดับเตรียมอุดมศึกษาเหมือนเพื่อนๆ เขากลับมุ่งเบนเข็มไปที่วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ (มหา’ลัยแม่โจ้) อาจเป็นเพราะวัยรุ่นสมัยนั้นต่างหลงใหลพระเอกในนวนิยายเรื่องร้อยป่า พระเอกชื่อ “เสือ กลิ่นสัก” ที่นักอ่านหนังสือระดับนวนิยายที่เป็นชาววัยรุ่นต่างติดกันงอมแงม อยากมาเรียนที่แม่โจ้ตามรอยพระเอกในยุคนั้น

ด้วยรูปร่างอ้อนแอ้นเหมือนพระเอกยี่เก ร่างบอบบางไม่น่าจะมาเรียนเกษตร แต่เป็นเพราะมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ เขาใช้ความสามารถผ่านข้อเขียนที่ต้องไปสอบถึงเชียงใหม่ผ่านฉลุยมาจากความสามารถ แล้วมาผ่านการวิ่งมาราธอนสอบวิชาข้อปฏิบัติได้ จึงเข้าเรียนอยู่ในแม่โจ้ เพราะสายเลือดเกษตรชาวสวนเมืองระยอง บวกกับความแข็งแกร่งในแม่โจ้ถึง 5 ปี จนจบการศึกษาระดับอนุปริญญา ปี 2509

ความมีมานะอดทน และมีสวนยางพารา กับสวนทุเรียนที่พ่อเขาคือ ลุงสุน บุกเบิกไว้แล้วในแปลงขนาดเกือบ 200 ไร่ ริมถนนสุขุมวิทสายระยอง-แกลง ในยุคยางพาราเฟื่องฟู มีสวนทุเรียนรวมอยู่ด้วยเป็นรายได้สวนทุกปี

พรรคพวกเพื่อนฝูงในรุ่นต่างแยกย้ายออกมาไปทำงานรับราชการ บางคนไปเรียนต่อ บ้างก็ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว ที่บรรดาลูกแม่โจ้ได้บ่มเพาะความรู้และและภาคปฏิบัติอย่างโชกโชน เขาก็เป็นคนหนึ่งที่มีเป้าหมายไปดูแลสวนยางพารา ทุเรียน ที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเห็นบิดามีอายุมากแล้วให้เป็นเสาหลัก ส่วนเขาถอดชุดมาเป็นลูกชาวสวนอย่างแท้จริง

ชีวิตลูกชาวสวนอย่าง นิวัฒน์ หรือ หลง ชื่อเล่นที่ชาวระยองใช้เรียกกัน เนื่องจากบิดาตั้งชื่อไว้ว่า “หลง” เพราะเป็นลูกหลงที่ออกมาห่างกับพี่ที่ถัดไปกว่า 10 ปี ว่ากันอย่างนั้น แต่ครั้นสวมชุดมาทำงานในสวนที่อยู่ห่างจากบ้านจังหวัดระยองถึงแกลง 50 กิโลเมตร สิ่งแรกที่เขาต้องประสบปัญหาในสวนนั้นกับโรครากเน่าโคนเน่ากับต้นทุเรียนที่ระบาดอยู่

จากสภาพสวนทุเรียนที่อยู่ติดกับสวนยางพารา มีสภาพใบร่วง ยืนต้นตายตามๆ กัน เขาสังเวชใจมาก เห็นสวนทุเรียนที่กำลังทำรายได้ในขณะนั้นกำลังมีอายุให้ผลผลิต ซึ่งเขาเคยมาอยู่ในระหว่างปิดภาคเรียน เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเกษตรที่อยู่ในจังหวัด ซึ่งขณะนั้น ถ้ายารักษาใช้ไม่ได้ผล ความพยายามของเขาที่จะต้องรักษาโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อไวรัสคงจะหายาก เมื่อเขาอุตส่าห์ไปขอความช่วยเหลือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำยามารักษาต้นทุเรียนก็ไร้ผล

จนในที่สุดคงต้องปล่อยไปตามยถากรรม ให้ทุเรียนยืนต้นตายเหมือนกับสวนส้มไร่กำนันจุลที่เพชรบูรณ์ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อพบปัญหาแท้จริงแล้ว เขาไม่ท้อแท้และหมดกำลังใจ เขาฟื้นฟูสวนทุเรียนใหม่หมด มาเป็นการปลูกมังคุดแทน แม้ว่ามังคุดจะใช้เวลานานกว่า 10 ปี ก็ต้องยอมรอมัน เพราะมังคุดมันจะทนระบบรากเน่าโคนเน่าดีกว่าพืชชนิดอื่น ที่เขาได้รับคำแนะนำจากบรรดาชาวสวนด้วยกัน และระหว่างการรอผลผลิตมังคุดนั้น บนพื้นที่กว่า 80 ไร่ สวนลุงสุน ยังพอมีรายได้จากการกรีดยางพาราขายมีรายได้จุนเจือ ไม่อนาทรร้อนใจ แม้ว่าจะขาดรายได้จากทุเรียนไปแล้ว ชีวิตของหนุ่มลูกแม่โจ้ที่ไม่ได้มาทำสวนอย่างที่เขาคิดว่ามันจะโรยด้วยกลีบกุหลาบราบรื่นก็หาไม่ อุปสรรคการทำสวนผลไม้มันช่างมีปัญหาทั้ง โรค แมลง ผลผลิต และราคาตลาดรับซื้อที่ต้องเสี่ยงกับรายได้จะคุ้มทุนหรือไม่

เข้าเครื่องอบไอน้ำ

ช่วงระหว่างเขาฟูมฟักสวนมังคุด เขาได้ศึกษาการดูแลผลไม้ให้ได้ผลประโยชน์ ความรู้ที่เรียนมากับประสบการณ์ที่เขาได้รับนั้น มาผสมผสานกันได้ลงตัวด้านปฏิบัติกับวิชาการ ต้องค้นคว้าอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เขาแข็งแกร่ง บึกบึน ต่อสู้กับปัญหามาโดยตลอด

จนในที่สุดเขาเริ่มรู้นิสัยของต้นมังคุดอย่างละเอียดถี่ถ้วน บทเรียนที่เขาเคยพบกับทุเรียนมาแล้ว เขาไม่ประมาท เมื่อมังคุดออกผลผลิต เขาต้องการมังคุดที่มีคุณภาพออกมาจำหน่าย เขาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้นก็คือ ถุงผ้าไม้สอยผลมังคุด เพื่อไม่ให้ผลตกลงบนพื้นดินจะมีตำหนิ การรักษามังคุดต้องเริ่มจากการดูแลรักษาตั้งแต่การให้ปุ๋ย และเริ่มรักษาการออกดอก การใช้ยาป้องกันโรค แมลง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลมังคุดออกมาได้คุณภาพทุกผล จนในเวลานั้นเกษตรกรเริ่มค้นคว้าเห็นว่าสวนมังคุดลุงสุนเป็นต้นแบบของการพัฒนามังคุดให้มีราคาดีขึ้น การคัดเกรดผลมังคุด การใช้เครื่องขัดผิวมังคุด ล้วนเป็นเทคโนโลยีในสมัยเมื่อ 30 ปีก่อน สามารถทำให้มังคุดเปิดตลาดออกไปสู่ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศแรกที่เขาประสบความสำเร็จ มีบริษัทส่งออกผลไม้มาร่วมมือด้วยจนทำให้ชื่อเสียงเขาโด่งดังทันที

สิ่งแรกที่เขาเผชิญก็คือ การถูกเชื้อเชิญจากหน่วยงานของรัฐบาลให้ไปบรรยายการเก็บเกี่ยวมังคุด การดูแลรักษามังคุดให้ได้คุณภาพ จะได้เผยแพร่ไปสู่เกษตรกรชาวสวนรายอื่นๆ ต่อไป สิ่งที่เขาไม่ประทับใจก็คือ

ศึกษาดูงานไม่ขาด

ในสมัยที่คนเห่อปริญญา การที่เชิญไปบรรยายตามสไตล์ของหน่วยงานรัฐบาล จะต้องบอกคุณวุฒิของผู้บรรยายที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งมีปริญญามันยิ่งขลัง ว่างั้นเถอะ แต่ทว่าจบแม่โจ้ในยุคเก่า พอเห็นสีหน้านักฟังที่เป็นนักวิชาการเกษตร หน้าตาบ่งบอกถึงไม่ยินดียินร้ายกับคุณวุฒิที่เป็นวิทยากร ทำให้เขาต้องออกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี จนเรียนจบปริญญา

ความสำเร็จในการใช้ถุงผ้าสอยมังคุด เขาต้องเดินสายไปบรรยายถึงปักษ์ใต้ เกษตรกรภาคใต้ตื่นตัว เพราะราคาสวนมังคุดตกต่ำมาโดยตลอด อาจทำให้ราคาดีขึ้น

ทำให้จังหวัดระยองมีชื่อเสียงจนเขาได้รับเป็นนายกสมาคมชาวผลไม้ระยอง และเป็นเกษตรกรดีเด่นภาคตะวันออก ที่ชาวสวนระยองให้การยอมรับที่ชาวสวนมังคุดมีรายได้ส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น จนทำให้มังคุดส่งออกมีราคาสูงขึ้น แต่สิ่งที่เขาเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ผลมังคุดจะดีได้ ขออย่าให้ผู้หญิงเข้ามาคัดเป็นอันขาด หมายถึงสวนมังคุดรายเล็กๆ ที่ไม่มีเครื่องคัดขนาด หรือคัดผิวมันได้ต้องใช้มือคัดเกรดมังคุด เพราะเหตุผลผู้หญิงจะเสียดายผลมังคุด อยากได้ราคาดี แต่ดูจากสายตาแล้วตกเกรด จะเอามารวมกับเกรดดีๆ เพื่อให้ราคาสูงขึ้น แต่ในที่สุดมันมีผลเสียก็ต้องถูกตีกลับมาเพราะคุณภาพไม่ถึง

ชีวิตของลูกผู้ชายที่ต่อสู้กับสวนผลไม้และประสบผลสำเร็จ ทำให้เขาต้องได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิต เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาแห่งชาติ ในปี 2538 โดยอยู่ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์วุฒิสภา ตลอด 4 ปี ที่เขาได้รับการคัดเลือกเป็นประธานคนที่ 4 มีโอกาสลงพื้นที่ออกมารับใช้เกษตรกรทั่วประเทศ

ต่อมาในปี 2539 เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ด้านสวนผลไม้ ชาวสวนระยองต่างชื่นชมกับตำแหน่ง

ปี 2540 มหา’ลัยเกษตรแม่โจ้ ในฐานะศิษย์เก่าที่ทำชื่อเสียงให้กับสถาบัน จนได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชศาสตร์

เมื่อหมดสมัยวาระการเป็นสมาชิกวุฒสภา แต่งตั้งจบสิ้นลงในปี 2542 เขาสามารถเข้าชิงสมัครการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก ในปี 2543 จนชนะ การเลือกตั้งในจังหวัดระยองอยู่จนครบวาระ ปี 2549 ซึ่งเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์วุฒิสภา

ถัดมาในปี 2544 เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรโลก หรือเกษตรกรยูเอ็น (สหประชาชาติ) ที่น้อยคนนักจะได้รับคัดเลือกสำหรับคนไทย

ความมีชื่อเสียงและช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด เขายึดมั่นในความซื่อสัตย์ อดทน ช่วยเหลือเกษตรกรมามาก เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วเขายังได้รับการเลือกตั้งให้เป็น สมาชิกสภาการเกษตรแห่งชาติ จังหวัดระยอง จนถึงปัจจุบัน

ชาวแม่โจ้ และชาวระยอง ภาคภูมิใจในตัวเขา ที่สร้างชื่อเสียงและความดีที่เขาต่อสู้เพื่อเกษตรกรไทยมาตลอด