จังหวัดเชียงใหม่ จับมือกระทรวงเกษตรฯ จัดประชุมอุตสาหกรรมกาแฟอาเซียน หวังร่วมสร้างอาเซียนเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญของโลก

จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้ายุทธศาสตร์กาแฟแห่งจังหวัดเชียงใหม่ 2561-2565 ผลักดันเชียงใหม่เมืองกาแฟต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกระทรวงเกษตรฯ ภาคเอกชน ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และผู้ผลิตกาแฟอาเซียนจัดการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 (1st ASEAN1 Coffee Industry Development Conference: 1st ACID) ขึ้น ระหว่าง วันที่ 14 -17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ หวังร่วมมือสร้างอาเซียนเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญของโลก

นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองกาแฟอย่างแท้จริงว่า เชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีศักยภาพและความพร้อมอย่างมากในการก้าวสู่เมืองกาแฟที่สำคัญของโลก ด้วยองค์ประกอบที่เป็นทั้งพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมกาแฟ มีธุรกิจร้านกาแฟมากกว่า 1,000 แห่ง รวมถึงมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟและการแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟในระดับอุตสาหกรรม

ซึ่งเป็นในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำอย่างครบวงจร โดยทางจังหวัดได้มีการวางยุทธศาสตร์กาแฟแห่งจังหวัดเชียงใหม่ 2561-2565 ไว้ โดยมุ่งเน้นใน 5 ส่วนสำคัญ คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2. พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม 3. พัฒนาด้านการตลาด 4. การวิจัยและพัฒนาและกลยุทธ์ 5. การบริหารจัดการ

ซึ่งแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตกาแฟในอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมกาแฟในระดับภูมิภาค

โดยล่าสุดได้มีการร่วมมือกับ 12 หน่วยงานภาครัฐ สมาคม และ เอกชน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพ  สมาพันธ์กาแฟอาเซียน สมาคมบาริสต้าไทย สมาคมกาแฟไทย สมาคมชาวสวนกาแฟไทย สมาคมกาแฟและชาไทย มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จัดการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความเชื่อมโยงในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟของอาเซียนให้เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลก

ด้าน ดร. อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมกาแฟของไทยว่า ยังมีการเติบโตที่โดดเด่นต่อเนื่องมีมูลค่ารวมสูงถึง 35,558 ล้านบาท ส่วนธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 21,220 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 โดยความต้องการบริโภคกาแฟและใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มสูงถึง 1 แสนตัน

ในขณะที่ผลผลิตกาแฟรวมภายในประเทศอยู่ทีประมาณ 30,000 ตัน ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้ง เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว พม่า และ ไทย ล้วนเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพดีที่ทั่วโลกต้องการ ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงและร่วมมือกันจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นหนึ่งในแหล่งกาแฟที่สำคัญของโลกได้

ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

การประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 14 -17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยและอาเซียน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย

  • การประชุมสัมมนาโดยนักวิชาการและนักธุรกิจจากนานาชาติที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมกาแฟระดับโลก นิทรรศการ
  • การจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านวิชาการและงานแสดงสินค้า โดยองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวของกับอุตสาหกรรมกาแฟ
  • การเปิดโอกาสหาพันธมิตรและเจรจาธุรกิจของทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านการเกษตร กิจการโรงคั่ว กิจการโรงงาน กิจการเครื่องมือและเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจกาแฟ กิจการร้านค้ากาแฟ และ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจกาแฟ

  • พาวิลเลี่ยนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ
  • การแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟ (1st ACID Latte Art Championship)และ ผู้มีทักษะในการชงกาแฟด้วยมือโดยใช้กระดาษกรองระดับนานาชาติ (1st ACID Brewers Cup Championship) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • การเยี่ยมชมดูงานด้านกาแฟ อาทิ โครงการหลวง แหล่งปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ และร้านกาแฟ

จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟและผู้สนใจในกาแฟเข้าร่วมชมงานในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการจัดงานที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟจากต้นน้ำยังปลายน้ำได้อย่างแท้จริง