ITAP-สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเตาเผาเซรามิกระบบอัตโนมัติ วัดอุณหภูมิแม่นยำ แสดงผลได้ทุกที่ เพิ่มประสิทธิภาพการเผาและคุณภาพสินค้า สร้างศักยภาพการแข่งขันให้อุตสาหกรรมเซรามิกไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) หรือไอแทป ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ทวีเดช ศิริธนาพิพัฒน์ และคณะวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการวิจัยพัฒนาและช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ SME ถึงในโรงงาน ในโครงการ “การออกแบบและพัฒนาระบบวัดและแสดงผลอุณหภูมิเตาเผาเซรามิก” แก่ฆ้อนทองเซรามิกส์ ผู้ประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปาง เพื่อพัฒนาไปสู่การปรับปรุงเตาเผาเซรามิกในรูปแบบระบบอัตโนมัติ ที่สามารถวัดอุณหภูมิได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้คุณภาพสินค้าดีขึ้น และลดความเสี่ยงการเสียหายระหว่างการเผา พร้อมนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาใช้ นำค่าอุณหภูมิของเตาเผาขึ้นบน Cloud ทำให้เห็นค่าได้จากทุกแห่งในโลก จึงประเมินคุณลักษณะการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นและปรับปรุงกระบวนการได้ทันท่วงที ส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นและทันเวลานัดส่งสินค้า ตอบโจทย์การยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

คณะวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ผู้ประกอบการ และที่ปรึกษา ITAP

นางสาววลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาเทคโนโลยีอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการฆ้อนทองเซรามิกส์ ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้ตรงกับโจทย์ความต้องการของลูกค้า ช่วยออกแบบและพัฒนาระบบวัดและแสดงผลอุณหภูมิเตาเผาเซรามิก ให้มีประสิทธิภาพและตรงตามมาตรฐาน และสนับสนุนค่าใช้จ่ายของโครงการ 50% เช่น ค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ค่าวัสดุทดสอบทดลอง และค่าวิเคราะห์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดลำปางมีโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผากว่า 200-300 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กหรืออุตสาหกรรมครัวเรือน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่มีเพียง 20 กว่าโรงเท่านั้น อุตสาหกรรมเซรามิกไทยอยู่ในช่วงขาลงเพราะสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขายตัดราคา จึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างสรรค์ชิ้นงานเซรามิกใหม่ๆ เช่น ของตกแต่งบ้านรูปร่างแปลกตา เครื่องประดับสวยงาม หรือแม้แต่ลวดลายเซรามิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมกับทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย

ผศ.ทวีเดช ศิริธนาพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทางตนเองได้รับทราบปัญหาจากผู้ประกอบการและข้อจำกัดที่ทางบริษัทพบในการผลิต เพื่อนำไปศึกษาปรับองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับการผลิตในระดับ SME แนะแนวทางใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต โดยในขั้นตอนและแนวทางการออกแบบและพัฒนาระบบวัดและแสดงผลอุณหภูมิเตาเผาเซรามิก เริ่มจากการรับทราบช่วงอุณหภูมิที่ต้องการวัดในกระบวนการเผาเซรามิก ในที่นี้ช่วงอุณหภูมิเตาเผาสูงสุดที่ต้องการวัดคือ 1,200-1,300 องศาเซลเซียส จึงเลือกเซ็นเซอร์ที่เรียกว่า Thermocouple Type S ที่สามารถทนทานต่อการวัดในอุณหภูมิช่วงนี้ได้ และได้สร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับค่าจากเซ็นเซอร์ Thermocouple มาแสดงผลเป็นตัวเลขอุณหภูมิของเตาเผา รวมถึงนำเทคโนโลยี Internet of Things มาใช้ในการนำค่าอุณหภูมิของเตาเผาขึ้นบน Cloud ทำให้เห็นค่าอุณภูมิเตาเผาได้จากทุกแห่งในโลกผ่านอินเตอร์เน็ต โดยใช้ Cloud service ที่เป็นของ ThingSpeak

โครงการการออกแบบและพัฒนาระบบวัดและแสดงผลอุณหภูมิเตาเผาเซรามิก

“ผลที่ได้รับจากการพัฒนาระบบและเทคโนโลยี ทำให้ทราบถึงความถูกต้องของการวัดอุณหภูมิเตาเผา ซึ่งของเดิมที่ใช้มาหลายปีแล้วเกิดความคลาดเคลื่อน คุณภาพชิ้นงานที่เผาออกมาด้อยลง ผู้ปฏิบัติงานต้องคอยใช้ความรู้สึกของตนเองตัดสินว่าอุณหภูมิของเตาเป็นเท่าไรจากค่าอุณหภูมิที่วัดแล้วเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งการนำอุปกรณ์แสดงผลอุณหภูมิที่ได้จาก Thermocouple รวมถึงนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทำงานเตาเผา สามารถประเมินคุณลักษณะการเผาไหม้ที่เกิดขึ้น ทำการปรับปรุงกระบวนการเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที” ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ระบุ

ด้านผู้ประกอบการเซรามิก นายวีระวัฒน์ สุทธิศาล ผู้จัดการร้านฆ้อนทองเซรามิกส์ กล่าวเสริมว่า บริษัทมีปัญหาหรือโจทย์วิจัยที่อยากให้ ITAP สวทช. ช่วยเหลือคือ การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น การลดการใช้แรงงานคน เนื่องจากแรงงานฝีมือมีน้อย หายาก และค่าจ้างสูง รวมถึงอยากให้ช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดปริมาณของเสีย ลดต้นทุนต่างๆ โดยผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการคือ การได้รับการพัฒนาเครื่องมือการวัดอุณหภูมิที่มีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้คุณภาพสินค้าดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเสียหายระหว่างการเผา และช่วยให้ผมมีเวลาเพิ่มขึ้นจากการไม่ต้องมาคอยเฝ้าเตาเพื่อคอยเช็คกราฟตลอดเวลา เพราะทางคณะวิจัยสามารถทำให้ผมเช็คการเผาผ่านอินเตอร์เน็ตได้ ขณะที่ผลทางการตลาดที่ได้คือ ทำให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นและทันเวลานัดส่งสินค้า