กรมอนามัยแนะปลูกต้นไม้ดักฝุ่น ‘ตะขบ- โมก-เบญจมาศ-เสน่ห์จันทร์แดง’

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การปลูกต้นไม้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการดักจับสารพิษในอากาศ และสามารถป้องกันฝุ่นละออง เพราะส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ โดยเฉพาะใบ สามารถช่วยดักฝุ่นได้ดี ซึ่งฝุ่นละอองที่ลอยอยู่บนอากาศจะผ่านต้นไม้ติดค้างอยู่บนผิวใบ โดยพืชตระกูลสนจะช่วยดักจับฝุ่นได้ เพราะโครงสร้างของใบมีความละเอียดซับซ้อน แต่หากเป็นไม้เลื้อยจะดักจับฝุ่นได้มากกว่าไม้อื่น เพราะมีพื้นผิวใบมากกว่าต้นไม้อื่น ด้วยลักษณะใบที่เรียวเล็ก ชื้น หยาบ มีขน หรือผิวใบที่เหนียวจะทำให้ฝุ่นเกาะติดใบได้ดี ส่วนลำต้น กิ่ง ก้าน ที่มีโครงสร้างพันกันอย่างสลับซับซ้อนมีส่วนช่วยดักจับฝุ่นได้เช่นกัน อาทิ ไทรเกาหลี คริสตินา โมก ตะขบ การเวก พวงครามออสเตรเลีย อโศกอินเดีย และสนฉัตร แต่ไม่ควรปลูกไม้ผลัดใบ เพราะบางช่วงไม่มีใบดักจับฝุ่น ก่อนปลูกจึงต้องเลือกชนิดต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพหรือบริเวณที่จะปลูก

“สำหรับไม้ประดับภายในอาคารหรือในบ้านให้เลือกที่สามารถปลูกได้ง่าย อาทิ พลูด่าง ลิ้นมังกร กล้วยไม้พันธุ์หวาย เบญจมาศ เยอร์บีร่า เสน่ห์จันทน์แดง ที่ช่วยดูดสารพิษได้มาก ซึ่งการปลูกต้นไม้ 1 ต้น ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 9-15 กิโลกรัม ต่อปี ดักฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้ 1.4 กิโลกรัม ต่อปี ช่วยฟอกอากาศ ลดการเกิดภูมิแพ้และหอบหืดได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้สดชื่น ผ่อนคลาย ลดความเครียด รวมทั้งลดอุณหภูมิรอบบ้านได้ 2-4 องศาเซลเซียส เพราะช่วยให้ร่มเงาและป้องกันรังสี UV ได้เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว