กระเทียม สมุนไพรมหัศจรรย์

กระเทียมจีนหัวใหญ่ เนื้อมาก แกะง่าย กลิ่นไม่ฉุนแรง แต่จะมีน้ำเยอะ รสจืดกว่ากระเทียมไทย

ใครบ้างที่ไม่รู้จักกระเทียม มีบางคนรู้จักกระเทียมเพียงแค่ในส่วนที่ถูกนำมาใช้ทำอาหารเท่านั้น หรือบางคนรู้จักกระเทียมมากกว่านั้น คือ รู้ว่ากระเทียมสามารถนำไปใช้เป็นยารักษาโรคได้ด้วย ขณะเดียวกันบางคนกลับรู้จักกระเทียมในแง่ที่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ เพราะเวลากินกระเทียมหรือกินอาหารที่ใส่กระเทียมทีไร ทำให้เพื่อนพ้องเมินหน้าหนีกันเป็นแถวๆ กับกลิ่นเหม็นติดปากของเจ้ากระเทียมนี่เอง

เนื่องจากกระเทียมเป็นพืชสมุนไพร ที่ปัจจุบันทั้งวงการแพทย์และสาธารณสุขตลอดจนประชาชนผู้บริโภคทั่วไปได้ให้ความสนใจ หันมาศึกษาวิจัย ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับกระเทียมกันอย่างมาก และหากท่านได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับกระเทียม ท่านจะต้องทึ่งในสรรพคุณของมันแน่นอน

 

มารู้จักกระเทียมกัน

กระเทียม มีชื่อท้องถิ่นที่เรียกขานกันในแต่ละภูมิภาค กระเทียม (ภาคกลาง) หอมขาว (ภาคเหนือ) หอมเตียน ผักเทียม (ภาคอีสาน) หัวเทียม เทียม (ภาคใต้) กระเทียมเป็นพืชตระกูลเดียวกับหัวหอม (หอมแดง) ลำต้นมีลักษณะเป็นหัวอยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะเป็นกลีบเล็กๆ เกาะติดกันคล้ายกลีบส้ม เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี และชอบอากาศเย็น แหล่งปลูกกระเทียมในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาก็ภาคอีสาน ซึ่งกระเทียมแต่ละพันธุ์จะมีสีแตกต่างกัน คือ ขาว ชมพู เหลือง รสชาติของกระเทียมค่อนข้างเผ็ดและร้อน เมื่อใดที่ท่านกินกระเทียมเข้าไปแล้ว รับรองว่ากลิ่นกระเทียมติดปากท่านแน่นอน

กระเทียม พืชตระกูลเดียวกับหัวหอม (หอมแดง) ลำต้นมีลักษณะเป็นหัวอยู่ใต้ดิน

 

พลิกตำนาน เล่าขานเรื่องกระเทียม

กระเทียม เป็นพืชพื้นเมืองที่เก่าแก่และเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยถูกนำมาใช้เป็นอาหารและยารักษาโรคมานานหลายพันปีแล้ว จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่า ชนชาติต่างๆ ทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกา ต่างก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการกินกระเทียม และการนำกระเทียมไปใช้ในการบำบัด รักษาโรค ซึ่งพอจะมีข้อมูล ดังนี้

ชาวกรีกและโรมัน เชื่อว่ากระเทียมมีคุณสมบัติในการเพิ่มพละกำลังและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกาย (โดยเฉพาะพวกนักกีฬาชาวกรีก และทหารโรมันนิยมกินกระเทียมกันมาก) รวมทั้งได้นำกระเทียมมารักษาโรคต่างๆ มากมาย เช่น ใช้รักษาบาดแผล โรคผิวหนัง พยาธิ ใช้รักษาอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และอาการผิดปกติของลำไส้ เป็นต้น

ชาวอียิปต์โบราณ ใช้กระเทียมรักษาโรคพยาธิ โรคปวดหัว หัวใจ หืด ไอ หวัด และโรคเกี่ยวกับระบบประจำเดือนของสตรี นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเช่นเดียวกับชาวกรีกว่า กระเทียมจะช่วยเสริมสร้างพละกำลังและความแข็งแกร่งของร่างกาย

ชาวยิว เชื่อว่าถ้าพกกระเทียมติดตัวจะปลอดภัยจากโรคติดต่อที่แพร่กระจายในประชาชนได้ ในฝรั่งเศส ราวศตวรรษที่ 18 พบว่า นักโทษที่กินกระเทียมผสมน้ำส้มสายชูเป็นประจำทุกวัน สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคระบาดได้

สำหรับในประเทศไทย กระเทียมเป็นทั้งอาหารและพืชสมุนไพรมามากกว่า 600 ปี โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยันได้ว่า หมอพื้นบ้านของไทยใช้กระเทียมสดรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน หิด แก้ไอ หวัด และหืดหอบ เป็นต้น

คุณค่าทางอาหารของกระเทียม

กระเทียมจะมีแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม เหล็ก และเซเลเนียม ส่วนวิตามินที่สำคัญ คือ มีวิตามินบี 1 บี 2 และวิตามินซี ส่วนแร่ธาตุที่สำคัญในกระเทียม คือ กระเทียมมีเซเลเนียมมากกว่าพืชอื่นๆ เซเลเนียมเป็นสารแอนตีออกซิแดนต์ ช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย และช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเป็นพิษจากสารโลหะหนัก และนอกจากนี้กระเทียมยังมีวิตามินบี 1 หรือที่เรียกว่าไธอะมิน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อสร้างพลังงาน ซึ่งบทบาทสำคัญนี้อาจช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมนักกีฬาชาวกรีกหรือทหารโรมันในสมัยก่อนกินกระเทียม เพราะมันทำให้พวกเขาแข็งแรง ซึ่งอาจเป็นเพราะ ไธอะมิน ช่วยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตในอาหารให้เป็นพลังงานส่วนพิเศษก็เป็นได้

กระเทียมจีนจะเอามาใช้ซอยใส่น้ำพริก น้ำปลา หรือเอาไว้โรยอาหารเพื่อความสวยงาม
เมนูยอดฮิต กระเทียมโทนผัดไข่

สรรพคุณทางด้านการรักษาโรค

กระเทียม ได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรครอบจักรวาล ใช้รักษาได้สารพัด ลองมาดูกันว่ากระเทียมใช้รักษาโรคอะไรกันได้บ้าง

  1. โรคเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน หูด รักษาแผล ฝี หนอง แผลสุนัขกัด แก้สิว แก้ลม พิษผื่นคัน โรคเท้าเปื่อย ผิวหนังอักเสบ
  2. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ ไอเรื้อรัง ขับเสมหะ แก้โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ วัณโรค ไอกรน
  3. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ท้องร่วง ท้องเสีย บิด
  4. โรคเกี่ยวกับระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โดยช่วยป้องกันผนังหลอดเลือดหนาและเส้นเลือดอุดตัน ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือดด้วย
  5. โรคเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขัดเบา นอกจากนี้ กระเทียมยังช่วยขับพยาธิชนิดต่างๆ ด้วย เช่น พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืด พยาธิเข็มหมุด พยาธิตัวกลม
  6. โรคอื่นๆ เช่น โรคปวดข้อ ข้ออักเสบ แก้เคล็ดขัดยอก แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดฟันรำมะนาด แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ชักกระตุก แก้ลมบ้าหมู โรคภูมิแพ้ โรคประจำเดือนผิดปกติในสตรี เป็นต้น

นอกจากเราจะใช้กระเทียมเป็นยาบำบัดรักษาโรคแล้ว กระเทียมยังถือเป็นยาบำรุงสุขภาพโดยเชื่อว่า เมื่อกินกระเทียมเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากล้ำกราย และช่วยให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

 

สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกระเทียม

อัลลิซิน จากข้อมูลพบว่า สารตัวนี้ทำหน้าที่หลักในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ ทำให้เป็นตัวต่อต้านการอักเสบ และติดเชื้อต่างๆ

ได-ซัลไฟต์ เชื่อกันว่า สารกลุ่มนี้มีผลต่อการลดลงของคอเลสเตอรอล โดยช่วยให้กระเทียมควบคุมไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดได้

กระเทียมโทนสลายไขมันในเลือด รักษาโรคไขมันในเลือดสูง

 

กลิ่นร้ายของกระเทียม

ในสมัยก่อนได้มีการผูกเรื่องราวของกระเทียมเข้ากับวิญญาณชั่วร้าย ซึ่งรู้จักกันในตำนาน แดร็กคิวล่า โดยเชื่อกันว่ากลิ่นฉุนของกระเทียม สามารถขับไล่ภูติผีปีศาจได้ ก็คงเพราะความร้ายกาจของกลิ่นกระเทียมนี้นี่เอง จึงทำให้เกิดเป็นตำนานและความเชื่อในเรื่องโชคลางขนาดนั้น

ในทางวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาถึงการเกิดกลิ่นของกระเทียมไว้โดยพบว่า กระเทียมจะส่งกลิ่นฉุนออกมาได้ก็ต่อเมื่อเรานำกระเทียมมาแกะกลีบออก แล้วนำมาบด สับ หรือทุบให้แตกเท่านั้น จึงจะเกิดปฏิกิริยาทำให้สารอัลลิซินที่มีอยู่ตามธรรมชาติในกระเทียมสดออกมา

 

วิธีดับกลิ่นกระเทียม

ที่นิยมกันมากคือ การใส่ผักชีฝรั่งลงไปในอาหารที่ปรุงด้วยกระเทียม เพราะผักชีฝรั่งเป็นสารดับกลิ่นตามธรรมชาติตัวหนึ่ง นอกจากนี้นมสดหรือน้ำผึ้งกับน้ำมะนาวก็มีผู้นำไปใช้ดับกลิ่นกระเทียมได้อีกวิธีหนึ่ง ในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ ผลิตกระเทียมสกัดบรรจุในแคปซูลออกมาจำหน่ายตามร้านขายยา และร้านอาหารเพื่อสุขภาพกันมากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งก็คงเป็นเหตุผลที่ตระหนักในสรรพคุณของกระเทียมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จนทำให้ผู้คนซื้อหามากินกันมากขึ้น เพราะบางคนทนกับกลิ่นกระเทียมสดๆ ไม่ไหว

 

กระเทียมไทย กระเทียมจีน

ท่านทราบหรือไม่ว่า กระเทียมที่ท่านกินหรือใช้การทำอาหารในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นกระเทียมจีน เพราะหลังเปิดเสรีการค้ากับจีน กระเทียมจีนก็ทะลักเข้ามา โดยกระเทียมจีนได้เข้ามาครอบครองตลาดทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารและครัวสมัยใหม่ที่นิยมความง่าย ความเร็ว และราคาถูก เนื่องจากกระเทียมจีนกลีบขนาดใหญ่ เนื้อมาก แกะง่าย กลิ่นไม่ฉุนแรง จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งอาหาร

กระเทียมจีนหัวใหญ่ เนื้อมาก แกะง่าย กลิ่นไม่ฉุนแรง แต่จะมีน้ำเยอะ รสจืดกว่ากระเทียมไทย

ถ้าพูดถึงเรื่องคุณภาพแล้วกระเทียมไทยคุณภาพดีที่สุด กระเทียมไทยมีหัวเล็ก แห้งกว่า กลิ่นและรสจัดกว่า เผ็ดกว่า เข้มข้นกว่า ลองกินเปล่าๆ ดูจะรู้เลยว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง และคนที่เขากินกระเทียมเพื่อลดคอเลสเตอรอลก็ต้องใช้กระเทียมไทย แต่ที่ส่วนมากใช้กันเยอะก็เพราะมันถูกและทำง่ายเท่านั้นเอง

กระเทียมจีนหัวใหญ่ หัวสวย แต่จะมีน้ำเยอะ รสก็จืดกว่ากระเทียมไทย ถ้าเอากระเทียมไทยไปทำอาหารไทย จะให้รสชาติดีกว่าและเหมาะมากกว่า เทียบได้เลยว่าอร่อยกว่ากันเยอะจริงๆ ส่วนมากกระเทียมจีนจะเอามาใช้ซอยใส่น้ำพริก น้ำปลา หรือเอาไว้โรยอาหารเพื่อความสวยงาม แต่ถ้าจะเอาไปปรุงรสชาติอาหาร ยังไงกระเทียมไทยเราชนะขาดลอย

ดูเหมือนว่าเราจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่างกระเทียมไทยกับกระเทียมจีน หรือถ้าท่านมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารที่ปรุงจากกระเทียมไทย กับอาหารที่ปรุงจากกระเทียมจีน ลองนั่งพินิจพิเคราะห์ดูเอาเองว่า รสชาติ กลิ่น และความเผ็ดที่สัมผัสลิ้นนั้นมันแตกต่างกันอย่างไร บางทีเราอาจได้ค้นพบกับความละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง ละมุนละไมจากศิลปะของอาหารไทยๆ อย่างที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อนก็ได้นะ