สาวเมืองพิษณุโลก หันทำเกษตรเลี้ยงปลาบ่อรวม พร้อมปลูกพืชผสมผสาน สร้างรายได้ดีอยู่กับบ้าน

คุณพัชรี สิงห์สม ประมงอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ให้ข้อมูลว่า การทำประมงในพื้นที่เกษตรกรมีการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบประกอบอาชีพส่งจำหน่าย และบางส่วนเลี้ยงสำหรับเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งการเลี้ยงแบบในครัวเรือนส่วนใหญ่เกษตรกรจะนำมาแปรรูปและจำหน่ายเอง โดยไม่ผ่านการค้าขายกับพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้รายได้ที่เกิดจากการทำประมงจึงได้ผลกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พร้อมทั้งมีการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน จึงทำให้การเลี้ยงปลามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงเกิดผลกำไรมากยิ่งขึ้น

คุณวิภาลักษณ์ สุดสงวน

คุณวิภาลักษณ์ สุดสงวน อยู่บ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 1 ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ได้ปรับพื้นที่นาบางส่วนมาทำการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ พร้อมทั้งปลูกพืชผักผสมผสานเข้ามาช่วย จึงทำให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง พร้อมทั้งหาวิธีการลดต้นทุนการเลี้ยงด้วยการคิดค้นสูตรอาหารต้นทุนต่ำ ส่งผลให้การลงทุนในเรื่องของการให้อาหารปลาจึงถูกลง เมื่อนำมาแปรรูปจำหน่ายเองทำให้มีผลกำไรจากการจำหน่ายได้เป็นเท่าตัว

บ่อเลี้ยงปลา

คุณวิภาลักษณ์ เล่าว่า เดิมทำงานบริษัทเอกชนเป็นเซลล์ขายของในห้างสรรพสินค้า จนถึงปลายปี 2559 มีความคิดอยากกลับมาประกอบอาชีพที่บ้าน ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำการเกษตร การปลูกพืชผักสวนครัว และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากอาชีพเดิมมีรายได้ที่ไม่แน่นอนและประสบปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบกับทางครอบครัวมีอาชีพ มีที่ดินทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่แล้ว จึงได้กลับมาอยู่บ้านเพื่อต่อยอดการทำเกษตรกรรมทั้งด้านการปลูกพืชผักสวนครัว และการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว พร้อมทั้งได้ดูแลคนที่รักไปพร้อมๆ กัน

นำมาแปรรูป

“พอเราทำงานเป็นพนักงานแล้ว เรารู้สึกว่าบางครั้งรายได้ก็ไม่แน่นอน จึงมองย้อนกลับไปที่ครอบครัวเราคือพ่อกับแม่ ซึ่งที่บ้านทำการเกษตรอยู่แล้ว แต่พ่อแม่เราเขาสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ และที่สำคัญมีเก็บออมด้วย จึงคิดว่าเราเริ่มมาคิดกับตัวเองว่า อยากจะกลับไปอยู่บ้าน ต่อยอดการทำเกษตรของครอบครัว เพราะอย่างน้อยการที่เราได้ไปอยู่บ้านก็ได้ดูแลคนที่เรารัก พอตัดสินใจได้แล้ว จึงกลับมาศึกษาการทำเกษตรจากหลายๆ ช่องทาง พร้อมทั้งปรับพื้นที่ทำการเกษตรของเรา ให้มีการผสมผสานมากขึ้น ขุดบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งการเลี้ยงปลาถือว่าเป็นสินค้าที่คนในพื้นที่ต้องการมาก ทำขายเท่าไรก็มีคนซื้อจนหมด จึงทำให้การเลี้ยงปลาเราก็ปรับให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ควบคู่ไปกับทำสวนผสมผสาน” คุณวิภาลักษณ์ เล่าถึงที่มาของการทำเกษตร

จากที่ดินที่เคยเป็นพื้นที่นามาก่อนจึงได้มีปรับเปลี่ยนผืนนาเป็นพื้นที่ทำสวนไม้ผล และขยายพื้นที่ปลูกสวนครัวเพิ่มมากขึ้น และทำการขยายพื้นที่ขุดบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยปรับปรุงบ่อเลี้ยงปลาเพิ่มเติมเป็นบ่อดินขนาด 1.5 ไร่ 1 บ่อ บ่อขนาด 1 ไร่ 1 บ่อ และบ่อขนาด 6×6 เมตร เพื่ออนุบาลลูกพันธุ์ปลาให้มีขนาดใหญ่จำนวน 2 บ่อ และมีกระชังอนุบาลขนาด 2×3 เมตร จำนวน 4 กระชัง ซึ่งภายในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำทุกบ่อ เกษตรกรจะมีการวางยอไว้ในบ่อเพื่อตรวจสอบการกินอาหาร เพื่อใช้ในการประเมินความเพียงพอของอาหารที่ให้สัตว์น้ำกินในแต่ละมื้อ

ปลาดุกเตรียมนำไปย่าง

คุณวิภาลักษณ์ ยังเล่าเสริมอีกว่า ข้อมูลการเลี้ยงปลาต่างๆ เธอได้เริ่มศึกษาการเลี้ยงและการผลิตอาหารแบบลดต้นทุนจากสื่อออนไลน์ด้วยตนเอง และขอคำปรึกษาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากปราชญ์ชาวบ้าน จากเกษตรกรในชุมชนผู้มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ และประมงอำเภอในพื้นที่ ตลอดจนการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ จากนั้นจึงได้เริ่มซื้อลูกพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยเพิ่ม

โดยอนุบาลในกระชังขนาดกว้าง 2×3 เมตร ก่อนปล่อยเลี้ยงลงในบ่อดินต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอาหารธรรมชาติในบ่อเพื่อลดต้นทุน โดยการทำกองปุ๋ยหมัก และการสร้างอาหารสมทบเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้ต่ำลง โดยหาแนวทางลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์น้ำ ตลอดจนการจัดการให้อาหารสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยการประยุกต์หลักวิชาการให้เหมาะสม โดยการใช้จุกกล้วย ลูกกล้วย รำละเอียด ข้าวดอกหญ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีราคาถูก พร้อมกับหญ้าเนเปียร์ นำมาผสมรวมกันกับอาหารเม็ดสำเร็จรูป ใช้สำหรับเลี้ยงปลาภายในบ่อ ซึ่งเป็นการประหยัดและลดต้นทุนในการเลี้ยงปลาได้เป็นอย่างดี

(คนแรกซ้ายมือ) คุณพัชรี สิงห์สม ประมงอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

“การเลี้ยงปลาเราจะเน้นเลี้ยงแบบบ่อรวม โดยให้ในบ่อเดียวกันมีปลาหลายๆ ชนิด หลักๆ ก็จะประกอบไปด้วยปลานิล ปลาสวาย ปลาตะเพียนขาว ปลาสลิด และปลาดุก ให้กินอาหารประหยัดต้นทุนที่เราทำขึ้นทุกวัน ซึ่งขนาดของปลาที่เลี้ยงว่าจะให้มีอายุกี่เดือนเราก็ไม่ได้กะเกณฑ์ เราพร้อมจะทำขายตอนไหน ก็จะจับขึ้นมาชำแหละ และทำการแปรรูปเอง ส่วนโรคที่เกิดขึ้นกับปลาไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เรามีการจัดการในเรื่องน้ำเข้าออกบ่อ จึงทำให้น้ำมีการถ่ายเทจึงไม่เกิดการสะสมของโรคจนทำให้ปลาตาย” คุณวิภาลักษณ์ บอก

การผสมอาหารลดต้นทุน

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลาในบ่อที่เลี้ยงนั้น คุณวิภาลักษณ์ บอกว่า จะจำหน่ายในรูปของปลาสด และการแปรรูป เช่น ปลาแดดเดียว ปลารวมควัน ปลาย่าง โดยทำการตลาดเองด้วยการวางจำหน่ายในตลาดสดสถานีรถไฟบางกระทุ่มทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และตลาดนัดในหมู่บ้านร่วมกับการจำหน่ายพืชผักสวนครัวที่ปลูกภายในฟาร์ม ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่นำออกไปจำหน่ายแต่ละครั้งก็สามารถจำหน่ายได้หมดในทันที เพราะลูกค้าเชื่อมั่นและวางใจในทุกขั้นตอนการผลิตของเธอ

ราคาปลาดุกและปลาสวายจำหน่ายเป็นปลาสดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท และถ้านำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท ส่วนปลาสลิดที่ผ่านการแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-150 บาท

ปลาแดดเดียว

“พอเรามาทำงานทางด้านการเกษตรอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ต้องบอกเลยว่าทุกวันนี้มีความสุขมาก แม้จะเหนื่อยกว่าการทำงานในห้างสรรพสินค้า แต่เราเป็นนายตัวเอง ทำมากก็ได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นได้อยู่กับพ่อแม่ในทุกๆ วัน จึงทำให้เรามีเวลาดูแลคนที่เรารัก การเกษตรไม่ใช่เรื่องยากและง่าย เพียงแต่ใจเราต้องสู้ และเรียนรู้การปรับตัวในการทำเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้สินค้าเราขายได้และมีเงินเก็บออม และพัฒนาต่อๆ ไปเป็นอาชีพที่ยั่งยืน” คุณวิภาลักษณ์ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจเข้าศึกษาดูงานการเลี้ยงปลาบ่อรวมและการทำเกษตรผสมผสาน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิภาลักษณ์ สุดสงวน หมายเลขโทรศัพท์ (064) 675-1538

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563