หนุ่มราชบุรี จับปลาสลิดแปรรูปแดดเดียว สร้างยอดขายเดือนละกว่า 10 ตัน

คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือ คุณนิก อยู่บ้านเลขที่ 92 หมู่ที่ 11 ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงที่มองเห็นอนาคตช่องทางการสร้างรายได้และการต่อยอดจากปลาสลิด มองว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่น่าสนใจ โดยเริ่มจากการเลี้ยงเพื่อขายเป็นปลาสด ต่อมามีการศึกษาการตลาดเพิ่มขึ้น เห็นว่าตลาดสินค้าแปรรูปจากปลาสลิดค่อนข้างไปได้ดี และการเกษตรกับอุตสาหกรรมเป็นของคู่กันอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตปลาสลิดราคาอาจจะตก แต่ถ้านำมาแปรรูปก็จะเป็นการชดเชยและต่อยอดรายได้ขึ้นมา 

คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือ คุณนิก

การเลี้ยงปลาสลิด ให้ได้คุณภาพ
เพื่อนำมาแปรรูป ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน

คุณนิก เล่าว่า ตนเองเริ่มเลี้ยงปลาสลิดมานานกว่า 7 ปี ช่วง 3 ปีแรกเลี้ยงเพื่อขายเป็นปลาสดเพียงอย่างเดียว เริ่มมามีการแปรรูปตอนช่วง 4  ปีหลังมานี้ โดยการเลี้ยงของที่ฟาร์มจะแบ่งเลี้ยงทั้งหมด 6 บ่อ ขนาดของแต่ละบ่อไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ขนาด 7-20 ไร่ ต่อบ่อ และมีการทดลองเลี้ยงปลามาหลายรูปแบบ ทั้งเลี้ยงแบบหนาแน่น เลี้ยงแบบเบาบาง จนได้ค้นพบวิธีเลี้ยงแบบพอดีๆ ปลาอยู่สบาย คือประมาณ 1-1 ตันครึ่ง ต่อไร่

วิธีการคำนวณ ปริมาณการปล่อยปลา 1 บ่อ ต้องคำนวณต่อไร่ และคำนวณอัตรารอด และอัตราเหลือ สมมุติว่าตั้งเป้าไว้ให้มีอัตรารอด 50 เปอร์เซ็นต์ อยากได้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน และอยากได้ไซซ์ 5 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ก็คำนวณ 1,000 กิโลกรัม ต่อปลา 5,000 ตัว อัตรารอด 50 เปอร์เซ็นต์ ตั้งต้นต้องปล่อย 10,000 ตัว ต่อไร่ มีพื้นที่บ่อ 7 ไร่ ก็ปล่อย 70,000 ตัว

บ่อเลี้ยงสะอาดได้มาตรฐาน

ขั้นตอนการเลี้ยงปลาสลิดเพื่อนำมาแปรรูป

สิ่งที่ต้องคำนึงคือ 1. น้ำต้องสะอาด 2. อาหารต้องดี 3. สภาพแวดล้อมต้องสมบูรณ์ การเตรียมบ่อพื้นฐานต้องมีการปรับบ่อ พักบ่อให้หญ้าขึ้น การเลี้ยงปลาสลิดต้องมีหญ้า ต้องมีพืชน้ำ และดินต้องมีความอุดมสมบูรณ์ระดับหนึ่ง อุดมไปด้วยแหล่งอาหารธรรมชาติ สร้างแพลงตอน ไรแดง หนอนแดง ด้วยการโรยขี้ไก่แล้วราดน้ำหมักจุลินทรีย์อีเอ็มลงไป มีการหมักอาหารธรรมชาติ นำฟางลงในบ่อ เพื่อที่จะสร้างอาหารธรรมชาติ และต้องมีการเช็คสีน้ำ เช็คแพลงตอนอยู่ตลอด ถ้าน้ำดีก็จะมีแพลงตอนตัวดีเยอะ รวมระยะเวลาในการเตรียมบ่อใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เดือนแรกเป็นการสร้างระบบนิเวศภายในบ่อ เดือนที่สองเป็นการเตรียมน้ำและตรวจเช็คสภาพน้ำ ตรวจค่าความเป็นกรด-ด่าง เพื่อคุมสภาพน้ำให้เหมาะสม

ตัวใหญ่กว่าฝ่ามือ

หลังจากปล่อยน้ำเข้าบ่อปลาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่เพาะด้วยวิธีธรรมชาติเลี้ยงในบ่อดิน เมื่อลูกปลาเริ่มโตกินอาหารได้ ให้นำลงบ่อที่เตรียมไว้ เนื่องจากอยากให้ลูกปลาเกิดขึ้นมาในสภาพแวดล้อมนั้น ดีกว่าการที่ซื้อลูกพันธุ์ปลามาปล่อยในคนละสภาพแวดล้อม หลังจากปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเพียงไม่กี่วันก็จะเริ่มเห็นลูกปลาขึ้นมาตอดน้ำ จากนั้นให้ดูแลตามปกติไปเรื่อยๆ เมื่อปลามีน้ำหนัก 200-250 กรัม หรือประมาณไซซ์ 4-6 ตัว ต่อกิโลกรัม จะเริ่มนำมาเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปได้

อาหารที่ใช้เลี้ยง 1. มีอาหารที่เกิดจากการเตรียมบ่อสร้างแพลงตอนในตอนแรก จะได้ไรแดงหนอนแดงมา พวกนี้มีโปรตีนสูงลูกปลาชอบ 2. อาหารธรรมชาติที่เกิดจากการหมัก แต่ส่วนใหญ่จะผลิตไม่ทันปลากิน จึงต้องมีการเสริมพืชน้ำให้ปลาตอดกินได้ตลอด 3. อาหารเม็ดที่ได้มาตรฐาน

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาสลิด “สลิดกัน”
ต้องได้มาตรฐานทุกขั้นตอน

คุณนิก บอกว่า เบื้องต้นโรงงานผลิตในนาม “บจก. ผลิตอาหารธรรมชาติ” มีการตรวจมาตรฐานฟาร์ม GAP ไม่ใช้สารเคมีฉีดพ่นฆ่าเชื้อหญ้าในบ่อ ผลิตในโรงงาน ได้รับมาตรฐานอาหารและยา หรือ อย. GMP และ HACCP คือการวิเคราะห์อันตราย และจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม ในการผลิตอาหาร เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนการปลอดภัยแน่นอน

กรรมวิธีแดดเดียว-ตากแดดในโซลาร์โดมปิดมิดชิด ป้องกันแมลงและสิ่งสกปรกจากภายนอก

ขั้นตอนแปรรูปปลาสลิดแดดเดียว

  1.  เลือกปลาสลิดที่เหมาะแก่การนำมาทำปลาแดดเดียวต้องมีลักษณะดังนี้ ทรงตัดป้านหนา เนื้อเยอะ  ตัวสวย ไม่เรียวบางเกินไป
  2.  เมื่อได้ลักษณะและขนาดไซซ์ปลาที่ต้องการให้นำปลามาล้างทำความสะอาดและทำการน็อกน้ำแข็ง
  3. ขอดเกล็ดและตัดหัวปลาออก ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยที่นำหน้ากว่าที่อื่น เพราะเรามีเครื่องขอดเกล็ดตัดหัว ช่วยทุ่นแรง ซึ่งขั้นตอนนี้ถ้าไม่มีเครื่องทุ่นแรงคนงานต้องใช้แรงเยอะในการหั่นหัวปลาและขอดเกล็ดออก
  4. ทำการควักไส้
  5. นำปลาไปดองเกลือทิ้งไว้ 2 คืน
  6. ดองเกลือเสร็จ นำไปตากแดด 1 วัน ในโซลาร์โดมควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งในโซลาร์โดมนี้มีความสามารถคือตากได้ร้อนกว่าอุณหภูมิทั่วไป ทำให้เราได้ปลาที่แห้งกว่าในเวลาที่เท่ากัน เมื่อแห้งกว่าก็เก็บได้นานกว่า คุณภาพดีกว่า เพราะทั้งหมดนี้มีการควบคุมอุณหภูมิมาโดยตลอด รับรองด้วยมาตรฐาน GMP คือต้องรักษาความสะอาดของสถานที่การผลิต ผลิตเสร็จในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
  7. นำไปแพ็กบรรจุในถุงสุญญากาศแล้วแช่ฟรีซไว้ ซึ่งในอนาคตกำลังจะมีการทดลองเรื่องการฆ่าเชื้อซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
  8. ฟรีซเสร็จ แพ็กขนส่งขั้นตอนนี้ต้องแพ็กดีๆ หนาๆ เพื่อให้อยู่ได้นาน 30 ชั่วโมง ก่อนถึงมือลูกค้า หลังจากนั้น ลูกค้าสามารถซื้อแล้วนำไปแช่ในตู้เย็นอยู่ได้นาน 6 เดือน ซึ่งจริงๆ แล้วปกติอาหารแช่แข็งจะอยู่ได้นาน 1-2 ปี แต่ถ้าหลังจาก 6 เดือนไปแล้วสีจะเริ่มเปลี่ยน เนื้อสัมผัสไม่ดี ถ้าไม่ได้ใส่สารเคมีควบคุมเข้าไป
โซลาร์โดมใช้ตากปลา

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาสลิดสลิดกัน”

เด่นที่เรื่องความสะอาดและคุณภาพ และอยากให้ลูกค้าได้เห็นว่าตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง เราเลี้ยงอย่างไร ถ้ากระบวนการเลี้ยงตั้งแต่ต้นดี น้ำดี พันธุ์ปลาดี สุขภาพปลาก็จะดี ปลาไม่ป่วย เมื่อปลาไม่ป่วยก็ไม่ต้องใช้สารเคมี ปลาก็จะไม่มีสารตกค้าง และมั่นใจได้เพราะที่ฟาร์มของเรามีประมงมาตรวจฟาร์มเพื่อให้ได้มาตรฐานตลอด และขั้นตอนถัดมาเมื่อตัววัตถุดิบมาดี สะอาดไม่มีสารตกค้าง ปลาก็จะไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งการจะทำให้ได้แบบนี้ต้องมีการประสานกันตั้งแต่ตอนเลี้ยง เพราะส่วนใหญ่แล้วที่เจอคือคนเลี้ยงก็เลี้ยงอย่างเดียว คนแปรรูปก็แปรรูปอย่างเดียว คุณภาพที่ได้ก็ไม่ประสานกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัย อย่ามองเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด ต้องทำทั้งหมดนี้ให้ผู้บริโภคเห็นว่าเราใส่ใจจริงๆ แล้วสุดท้ายราคาของสินค้าจะสูงไปเอง

ราคาขาย ปลาสลิดแดดเดียว ไซซ์เล็กขนาด 11 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 259 บาท ตัวใหญ่ไซซ์ 5 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 349 บาท ราคานี้นับว่าคุ้มค่ากับผู้บริโภค ซึ่งนอกจากปลาสลิดแดดเดียวแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก เช่น ปลาสลิดแดดเดียวที่แล่เนื้อเป็นชิ้นพร้อมรับประทาน ปลาสลิดแดดเดียวทอดเป็นตัวและแล่เป็นชิ้น มีเนื้อปลาสลิดทอดหั่นชิ้น รสดั้งเดิม รสไข่เค็ม รสลาบ รสซีฟู้ด รสสมุนไพร และน้ำพริกปลาสลิด รสคั่วกลิ้ง รสพริกขิงด้วย

การตลาด มีตัวแทนจำหน่าย และขายเองผ่านช่องทางออนไลน์ สร้างยอดขายต่อเดือน เดือนละเป็นหลัก 10 ตันขึ้นไป ยิ่งช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ยิ่งขายดีมากขึ้น สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน 

กรรมวิธีแดดเดียว-ตากแดดในโซลาร์โดมปิดมิดชิด ป้องกันแมลงและสิ่งสกปรกจากภายนอก

ฝากถึงเกษตรกร

ในมุมของเกษตรกรคือเลี้ยงแล้วเขาต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง ถ้าเลี้ยงออกมาดี ยังไงต้นทุนก็ไม่มากไป มันมีกำไรเหลืออยู่แล้ว ให้คิดง่ายๆ ว่าเมื่อของเราดีราคาก็จะดีไปด้วย ถึงแม้จะมีราคาตลาดก็ตาม แต่ปัจจุบันเกษตรกรบางรายยังคิดถึงแค่จะทำผลผลิตให้ได้สูงสุด เอากำไรสูงสุด ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นอุดมคติเกินไป เราแค่ปรับวิธีคิดเลี้ยงไม่ให้หนาแน่นเกินไป พื้นที่ 1 ไร่ เลี้ยงสัก 1-1 ตันครึ่ง ถ้าเลี้ยงหนาแน่นเกินไปน้ำไม่ดีปลาก็ตายง่าย สูญเสียง่าย แต่ถ้าเลี้ยงแบบพอดีๆ ปลาสุขภาพก็ดี โตดี จะเห็นกำไรจากตรงนั้น เลี้ยงแบบเน้นคุณภาพ ของมาดีเวลาแม่ค้าเขาเห็นทรงปลา ตัวปลา เขาก็ตีราคาบวกให้ได้ อย่าไปเอาแบบคุ้มที่สุด และอย่าไปแข่งกับใคร คุณนิก กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับท่านที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจสั่งซื้อปลาสลิด “สลิดกัน” สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (091) 835-4616 หรือช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก : ปลาสลิด สลิดกัน Salidkhan Thailand และ ไลน์ : @ Salidkhanthailand

ปลาสลิดแดดเดียว ไซซ์ XL (5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม) มีไข่
ปลาสลิดแดดเดียว ไซซ์ XL (5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม) มีไข่
ปลาสลิดทอดกรอบ สลัดน้ำมัน คุณภาพส่งออก เราพิถีพิถันทุกกระบวนการเพื่อให้ได้ปลาสลิดที่สะอาด
น้ำพริกปลาสลิดรสคั่วกลิ้ง
ปลาสลิดแดดเดียวแล่

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่