หนุ่มเมืองเพชร เลี้ยงปลากัดคุณภาพ ทำตลาดส่งขายทั้งในและต่างประเทศ

ปลากัด สัตว์น้ำจืดที่มีขนาดเล็ก นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เพราะลำตัวและครีบมีสีสันที่โดดเด่นชวนมอง ซึ่งปลากัดมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ตัวเรียวยาวแบนข้างและปากมีขนาดเล็กเชิดขึ้นด้านบนเล็กน้อย ปลากัดสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างดี ไม่ได้จำหน่ายแต่เพียงในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถทำเพื่อการส่งออกไปได้หลายประเทศทั่วโลก จึงทำให้ปลาชนิดนี้มีการพัฒนาการผสมพันธุ์อยู่เสมอ เพื่อให้สีสันสวยงามและรูปทรงตามความต้องการของตลาด

คุณอภิสิทธิ์ แก้วชิงดวง หรือ คุณพุ

คุณอภิสิทธิ์ แก้วชิงดวง หรือ คุณพุ มีความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลากัด ซึ่งปลาที่เลี้ยงไม่ได้ทำตลาดแต่เพียงในประเทศเท่านั้น ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศที่มารับซื้อถึงหน้าฟาร์มกันเลยทีเดียว ทำให้คุณพุไม่ได้หยุดพัฒนาในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ แต่ยังผสมพันธุ์ปลากัดอย่างสม่ำเสมอชนิดที่ว่าทำให้ปลาติดตลาด จากสมัยก่อนที่เคยคิดที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมกลับกลายเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับคุณพุมาจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ภายในฟาร์ม
เตรียมปลาส่งขาย 

จากเลี้ยงปลากัด 10 คู่ พัฒนาจนเกิดรายได้

คุณพุ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีทำอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรอยู่แล้วคือการเลี้ยงไก่ไข่ และเมื่อการเลี้ยงเริ่มทำรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้มองหาช่องทางการทำรายได้เพิ่ม โดยประมาณปี 2561 มาทดลองเลี้ยงปลากัดจำนวน 10 คู่ จากนั้นพัฒนาสายพันธุ์ให้ลูกปลามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฟาร์ม คุณพุใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปี เพื่อทำให้สายพันธุ์ปลากัดในฟาร์มมีลักษณะนิ่ง โดยสายพันธุ์มีทั้งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพ

อาหารที่ให้ปลากัดกิน
บ่อสำหรับเพาะพันธุ์

“ปลากัดช่วงแรกผมไปเห็นของอินโดนีเซีย สีสันปลากัดของประเทศนี้สวยมาก เลยซื้อเข้ามาเพื่อทำการเลี้ยงและพัฒนาพันธุ์ แต่พอทำไปทำมามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ก็มีการผสมพันธุ์ไม่ประสบผลสำเร็จบ้าง เพราะลูกพันธุ์ที่ทำออกมาความสวยไม่นิ่ง ผมก็ไม่เสียกำลังใจ พยายามนำสายพันธุ์ที่มีอยู่มาพัฒนาต่อ โดยพยายามจับต้นจนปลายให้ถูก เพื่อที่จะได้จับคู่การผสมพันธุ์ให้ถูกต้อง พยายามทำมาเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี สายพันธุ์ที่มีภายในฟาร์ม ก็เริ่มนิ่งประมาณปี 2563 จากนั้นก็สามารถผลิตขายมาได้จนถึงปัจจุบัน” คุณพุ บอก

ชั้นวางปลากัด

สำหรับการผสมพันธุ์ปลากัดให้เป็นที่ต้องการของตลาดนั้น คุณพุ บอกว่า หลักการคือต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีสันฉูดฉาดมาผสมกัน จะช่วยทำให้ลูกพันธุ์ปลากัดที่ได้มีความสวยในแบบที่ตลาดต้องการ ซึ่งฟาร์มของเขาจะเน้นในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ลูกค้าในพื้นที่เข้ามาเลือกซื้อปลา 

ปลากัดหลังเพาะพันธุ์ อายุ 5 เดือน ส่งขายได้

Advertisement

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัดที่ใช้สำหรับผสมพันธุ์นั้น คุณพุ เล่าว่า จะเลี้ยงแยกจากกันโดยใส่ขวดหรือโหลแก้วอย่างละ 1 ตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากัดกันจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปลากัดที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไปจะเป็นช่วงอายุที่พร้อมหรือเหมาะสมที่จะนำมาสร้างเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นไรแดงสดสลับกับเต้าหู้ไข่บ้างในบางครั้งในกรณีที่ไรแดงไม่เพียงพอให้ปลากัดกิน อาหารเหล่านี้ให้กินวันละ 1 มื้อ

การก่อหวอดของปลากัด

เมื่อต้องการนำพ่อแม่พันธุ์ปลากัดมาผสมพันธุ์กันจะเลือกให้สีของปลาไม่ทิ้งกันมาก ถ้าพ่อพันธุ์มี 2-3 สี การเลือกแม่พันธุ์มาผสมก็จะเลือกให้สีคล้ายๆ กับพ่อพันธุ์ ก่อนจะนำอยู่รวมกันอาจจะมีการเปิดให้ปลากัดจ้องกันก่อนเป็นระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงจับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ลงไปใส่ในบ่อสำหรับผสมพันธุ์ เมื่อเวลาผ่านไปได้ประมาณ 1 คืน จะเริ่มเห็นปลาก่อหวอดขึ้นมาบนผิวน้ำ และเริ่มมีการวางไข่ออกมาให้เห็นทั่วบริเวณ ทำการจับแม่พันธุ์ออกจากบ่อเพาะทันที ปล่อยให้ปลากัดตัวผู้ฟักไข่หรือดูแลลูกปลากัดต่อไป

Advertisement
ปลากัดเรดกาแล็คซี่

“การจับคู่ลงในพื้นที่สำหรับผสม จะใช้ตัวผู้และตัวเมียอยู่ที่ 1 ต่อ 1 จากนั้นพอลูกปลาเริ่มฟักออกจากไข่มาได้ 3-4 วัน จะเริ่มให้กินไรแดงในช่วงแรก ซึ่งช่วงนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้พ่อปลากัดกินลูกปลาด้วย พอเลี้ยงไปลูกปลากัดได้อายุประมาณ 7-8 วัน จะตักพ่อปลากัดออกจากบ่อเพาะ พร้อมกับตักลูกปลาไปไว้ในบ่ออนุบาลที่เตรียมไว้ ช่วงอนุบาลให้ไรแดงกินวันเว้นวัน และเติมน้ำใหม่ลงไปทุกวัน วันละ 1 ขัน เพื่อป้องกันน้ำเน่า ดูแลไปประมาณ 2 เดือน ลูกปลากัดจะโตพร้อมที่จะแยกเพศได้แล้ว จากนั้นจึงคัดความสวยงาม และนำมาเลี้ยงในโหลละ 1 ตัว” คุณพุ บอก

การเลี้ยงปลากัดอายุ 2 เดือน ในช่วงนี้ให้กินไรแดง ไข่ตุ๋น และเต้าหู้ไข่สลับกันไป เพราะช่วงอายุนี้ต้องเร่งในเรื่องของการขุนเพื่อให้ปลาได้สารอาหารอย่างครบถ้วน จะให้กินอาหารวันละ 2 มื้อ ช่วงเช้าและเย็น ดูแลในระยะนี้ต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน ปลากัดก็จะได้ทรงที่สวยและมีสีสันสวยงามที่พร้อมขายได้ อายุจะต้องอยู่ที่ประมาณ 5 เดือน

ปลากัดแบล๊คสตาร์

ส่วนโรคที่เกิดขึ้นระหว่างเลี้ยงปลากัด คุณพุ บอกว่า ในช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่มีให้เห็นมากนัก แต่เมื่อการเลี้ยงเป็นระยะเวลานาน จะมีโรคที่มากับน้ำหรือเกิดจากการสะสมของเสียที่เกิดจากการให้อาหาร การป้องกันก็คือเมื่อจำหน่ายปลากัดแต่ละรุ่นออกจากฟาร์มแล้ว ต้องหมั่นทำความสะอาดภาชนะที่ใช้เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้การสะสมของโรคไม่มีและปลากัดจะมีสุขภาพที่ดีจนไม่เกิดการเจ็บปวดหรือตายจนเกิดความเสียหาย

 

ทำตลาดส่งจำหน่าย ทั้งในและต่างประเทศ

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลากัดภายในฟาร์มนั้น คุณพุ เล่าว่า ปัจจุบันปลากัดถือว่าสามารถส่งขายทางช่องทางไปรษณีย์ได้ การทำตลาดออนไลน์จึงเหมาะสมกับการทำตลาดในยุคนี้ โดยตลาดทั้งหมดที่ส่งจำหน่ายแรกๆ เน้นทำตลาดให้กับลูกค้าในท้องถิ่นก่อน ต่อมาเมื่อฟาร์มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงได้ทำตลาดในช่องทางออนไลน์ คือการโพสต์ภาพปลากัดที่มีสีสันและทรงสวยอยู่เสมอ ซึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงปลากัดนั้นจะมีการประมูลการซื้อขายกันด้วย จากการโพสต์ภาพปลากัดให้ลูกค้าได้ประมูลนี้เอง จึงทำให้เป็นที่รู้จักของตลาดในวงกว้างมากขึ้น

ปลากัดสีปลานีโม่

ปลากัดที่จำหน่ายในฟาร์มจะมีอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป ราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักร้อยและราคาสูงขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น นอกจากนี้ ทางฟาร์มยังได้ผลิตปลากัดสำหรับนำไปประกวด โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ที่ฟาร์มและสามารถส่งเข้าประกวดได้ทันที จุดนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่ช่วยให้ปลากัดในฟาร์มแห่งนี้เป็นที่รู้จัก รวมไปถึงลูกค้าที่อยู่ตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน

“การขายปลากัดในฟาร์มของผม จะเน้นขายแบบยกคู่ตัวผู้กับตัวเมียไปพร้อมกัน ราคาจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสวยและทรงของปลา ซึ่งลูกค้าก็มีตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนถึงลูกค้าที่ส่งปลาเข้าประกวด โดยในประเทศลูกค้าก็จะชอบสีสันตั้งแต่ดำมุกทอง กับแคนดี้ แต่ถ้าเป็นตลาดจีนก็จะเน้นปลากัดที่ออกไปทางสีแดงเป็นหลัก ตั้งแต่ที่ทำมาก็ถือว่าการเพาะเลี้ยงปลากัด เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดี และตลาดยังไปได้อีกไกล เพราะสินค้าที่สามารถทำตลาดส่งออกไปต่างประเทศได้ ตลาดมันยังไปได้อีกไกลครับ ฝากถึงใครที่อยากจะเลี้ยงถ้ามีความตั้งใจและเรียนรู้อยู่เสมอประสบผลสำเร็จได้แน่นอนครับ” คุณพุ กล่าวทิ้งท้าย

ปลากัดดำมุกทอง
ปลากัดสีแคนดี้

สำหรับท่านใดสนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลากัด หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอภิสิทธิ์ แก้วชิงดวง หรือ คุณพุ ฟาร์มตั้งอยู่ที่ ถนนหนองงู ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 090-439-0544