เลี้ยงปลาช่อน เป็นอาชีพสร้างรายได้ มีน้ำดี พื้นที่เหมาะสมสามารถทำได้ ตลาดยังไปได้ดี คนยังนิยมบริโภค

ปลาช่อน อายุ 9 เดือนขึ้น

ปลาช่อน เป็นปลาที่อาศัยแพร่กระจายทั่วไปตามแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ เป็นปลาที่มีเกล็ด ลักษณะลำตัวกลมและเรียวยาว ประมาณ 30-40 เซนติเมตร หางมีลักษณะแบนข้าง ปากกว้าง ซึ่งภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวมีสีคล้ำอมน้ำตาลอ่อน

ปลาช่อน เป็นปลาที่มีความพิเศษคือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนได้เป็นแรมเดือน โดยการสะสมพลังงานไว้ หรือที่เรียกว่าปลาช่อนจำศีล

เนื้อปลาช่อนสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู หรือทำเป็นปลาเค็มใส่เกลือก็อร่อยไม่แพ้กัน จึงนับว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและในกระชัง

คุณกังวาล ชูแก้ว
คุณกังวาล ชูแก้ว

คุณกังวาล ชูแก้ว อยู่บ้านเลขที่ 200 หมู่ที่ 1 ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ลองเลี้ยงปลาช่อนจนประสบผลสำเร็จ จึงยึดเป็นอาชีพสร้างงานสร้างเงินได้แบบสบายๆ ในเวลานี้

จากพ่อค้า ผันชีวิตสู่อาชีพประมง

คุณกังวาล เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมตนมีอาชีพค้าขายของชำทั่วไปกับภรรยา ต่อมาได้เห็นพี่ชายของภรรยาเลี้ยงปลาช่อน จึงเกิดความสนใจที่อยากจะทดลองเลี้ยงบ้าง เพราะสมัยก่อนนั้นต้นทุนเรื่องอาหารยังไม่แพงมากนัก และตลาดยังไปได้ดีอีกด้วย

“พอ ปี 2542 เราก็เลิกค้าขายของชำ มาเริ่มเลี้ยงปลาช่อน เพราะว่าช่วงนั้นพี่ชายภรรยาเลี้ยงแล้วได้ดีมาก เห็นเวลาที่เขาจับแล้วมันได้น้ำหนักปลาดี ซึ่งโชคดีที่เรามาเลี้ยงตอนนั้นไม่ต้องลองผิดลองถูกอะไรมาก เรามีต้นแบบที่เขาประสบผลสำเร็จอยู่แล้ว เรื่องการเลี้ยงจึงไม่ใช่ปัญหาในตอนนั้นสำหรับการเริ่มต้น” คุณกังวาล เล่าถึงที่มา

จากความโชคดีที่มีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ จึงทำให้การเลี้ยงปลาช่อนไม่เป็นอุปสรรค รวมทั้งเรื่องการตลาดอีกด้วย เขาจึงสามารถเลี้ยงได้แบบสบายๆ เลยทีเดียว

 

เลี้ยงง่าย โตดี เพียงเข้าใจวิถีปลาช่อน

การเลี้ยงปลาช่อนให้มีการเจริญเติบโตที่ดีนั้น คุณกังวาล บอกว่า ในขั้นตอนแรกจะนำลูกปลาช่อนมาอนุบาลในบ่อดินเสียก่อน เพื่อให้ลูกปลาเจริญเติบโตเป็นขนาดไซซ์นิ้ว ซึ่งอาหารที่ให้ลูกปลาช่อนในระยะนี้กิน จะเป็นปลาทะเลผสมอาหารเสริมที่ผ่านการบดให้ละเอียด มีความเหลวเหมือนโจ๊ก

บ่ออนุบาลลูกปลาช่อน
บ่ออนุบาลลูกปลาช่อน

“ลูกปลาช่อน ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ พวกชาวบ้านเขาก็ไปหาช้อนมาขายให้ เราก็จะเอามาอนุบาลในบ่อดินก่อน อาหารที่ให้ก็จะให้ทั้งวัน ให้กินเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าลูกปลาไม่กินกันเอง เราต้องมาฝึกอีกครั้งเพื่อให้กินอาหารให้เป็น เพราะธรรมชาติของปลาช่อนมันจะกินกันเอง แต่ถ้ามีให้กินตลอดมันก็จะไม่กินกันเอง ซึ่งใช้เวลาในระยะนี้ ประมาณ 2 เดือน ลูกปลาช่อนก็จะใหญ่ขึ้น ก็จะคัดไซซ์แยกมาใส่ลงเลี้ยงในบ่อที่สำหรับเลี้ยงต่อไป” คุณกังวาล กล่าว

การเลี้ยงปลาช่อนในบ่อดิน เพื่อให้เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการของตลาดนั้น คุณกังวาล เล่าว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยง ต้องหมุนเวียนตลอด และบ่อดินที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยง ต้องมีขนาด 20×40 เมตร ลึก 2 เมตร

“บ่อก่อนเลี้ยงเราก็ต้องเตรียมให้สะอาด ต้องมีการฉีดขี้เลน จากนั้นก็โรยด้วยปูนขาว เพราะบ่อที่สะอาด ทำให้ปลาที่เราเลี้ยงมาก็จะได้ดี ไม่เป็นจิ๋วหรือปลาดาบ เพราะไม่มีเชื้อโรค ปลาก็แข็งแรง เจริญเติบโตได้ดี ส่วนข้างบ่ออาจใช้หินใหญ่ๆ วางข้าง ทำเป็นเหมือนเขื่อน เพราะปลาช่อนชอบคุดมุดดิน มันจะทำให้คันบ่อเราพังได้” คุณกังวาล บอก

บ่อสำหรับเลี้ยงปลาช่อน
บ่อสำหรับเลี้ยงปลาช่อน

เมื่อเตรียมบ่อเสร็จ จากนั้นนำปลาช่อนที่ผ่านการอนุบาลแล้ว ลงมาปล่อย จำนวน 10,000-15,000 ตัว ต่อบ่อ ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมสำหรับบ่อขนาดที่กล่าวไปข้างต้น

ปลาทะเล สำหรับบดเป็นเหยื่อสด
ปลาทะเล สำหรับบดเป็นเหยื่อสด

อาหารที่ให้ปลาช่อนกินในระยะนี้เป็นเหยื่อสด ที่ได้จากปลาทะเลเช่นเคย แต่การผสมอาจแตกต่างกว่าการให้ลูกปลาช่อนกิน คือมีการใส่รำและอื่นๆ ลงไปด้วย เพื่ออาหารจะมีเนื้อที่หยาบขึ้น ให้ปลาช่อนกินดูตามความเหมาะสม

“ฟาร์มนี้จะให้กิน วันละ 2 มื้อ คือ เช้ากับเย็น แต่ถ้าใครมีเวลาพอ จะให้วันละ 3 มื้อ ก็ได้ ถ้าให้ 3 มื้อนี่ ปลาจะโตดี ได้ขนาดใหญ่เร็ว แต่ที่นี่จะให้มากไปอีกนิด ต้องดูตามขนาดของตัวปลาด้วย ว่าจะให้มากให้น้อยขนาดไหน เราคนเลี้ยงจะกะได้เลย” คุณกังวาล อธิบายเรื่องการให้อาหาร

เหยื่อสดเหลวสำหรับให้ลูกปลาช่อน
เหยื่อสดเหลวสำหรับให้ลูกปลาช่อน

เรื่องโรคของปลาช่อนช่วงที่มีปัญหามากที่สุด คุณกังวาล บอกว่า จะเป็นช่วงฤดูหนาวจะทำให้ปลามีแผลเกิดตามลำตัว หากแผลถ้าเป็นมากๆ แล้ว ไม่สามารถทำให้หายได้ ซึ่งการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดขึ้น คือในช่วงนี้จะปิดทางไหลเวียนของน้ำทั้งหมด เพื่อไม่ให้น้ำจากข้างนอกเข้ามาภายในบ่อ และหากเจอปลาเป็นแผลก็จะต้องหยุดให้อาหารสักระยะจนกว่าปลาจะหายดี

เลี้ยงปลาช่อนไปอีก อย่างน้อย 9 เดือน ปลาช่อนก็จะมีขนาดไซซ์ 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ

ปลาช่อน อายุ 9 เดือนขึ้น
ปลาช่อน อายุ 9 เดือนขึ้น

ตลาดยังไปได้ดี เพราะเนื้อปลาคนยังนิยมกิน

คุณกังวาล เล่าให้ฟังในเรื่องของการตลาดว่า ในช่วงแรกๆ ไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากตนรู้จักกับคนในหลายจังหวัดจึงนำปลาไปส่งจำหน่ายได้ทั่ว ซึ่งปลาทั้งหมดก่อนที่จะนำไปส่งลูกค้า เขาจะต้องเป็นคนจับเอง ซึ่งผิดกับปลาอื่นๆ ที่มีคนมารับซื้อถึงหน้าบ่อ

kang-9

“สมัยก่อนไปมาทั่ว ไม่ว่าจะภาคเหนือก็ไปส่ง ต่อมาพอคนเริ่มมาเลี้ยงกันมากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดมันก็มีมากขึ้น เราก็จะส่งบริเวณใกล้เคียงนี้เอา อย่างในกรุงเทพฯ สิงห์บุรี และก็ในสุพรรณบุรี ราคาปลาช่อนช่วงนี้ก็ตกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 130 บาท ช่วงที่ถูกสุดก็อยู่ที่ กิโลกรัมละ 110 บาท ราคาก็เป็นไปตามฤดูกาล” คุณกังวาล เล่าถึงการตลาด

 

น้ำดี พื้นที่เหมาะสม การเลี้ยงปลาช่อนก็สำเร็จได้

คุณกังวาล บอกว่า ปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงปลาช่อนในช่วงหลังมานี้ จะเป็นเรื่องน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่กี่ปีมานี้ ในพื้นที่บริเวณแถบนี้ค่อนข้างที่จะมีน้ำในปริมาณที่จำกัด ทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ

ช่องสำหรับให้น้ำหมุนเวียนภายในบ่อ
ช่องสำหรับให้น้ำหมุนเวียนภายในบ่อ

“น้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะว่าภายในบ่อต้องให้มีน้ำหมุนเวียนตลอด หากเราทำเป็นบ่อปิด ไม่มีน้ำเข้าออกเลย ปลาก็จะหยุดกินอาหารไปเรื่อยๆ ต่อไปก็แทบไม่กินเลย ซึ่งทีนี้ก็จะมีขุดบ่อใหญ่ไว้ เพื่อให้ระบายน้ำออกจากบ่อเลี้ยงไปพัก แล้วก็เอาของที่พักเข้ามาสลับไปแบบนี้ ถ้าเราจะรอน้ำจากชลประทาน มันก็ไม่ไหว เราแย่แน่แบบนั้น เพราะช่วงนี้เขาจะปล่อยเป็นเวลา” คุณกังวาล กล่าวถึงปัญหา

ส่วนสำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ คุณกังวาล ฝากบอกว่า

“ปลาช่อน เป็นปลาที่เลี้ยงไม่ยาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ชอบความเงียบสงบ โดยพื้นที่เลี้ยงต้องไม่มีความวุ่นวาย หากมีเสียงดังจากรถที่วิ่งหรือแปลกกลิ่น ปลาช่อนก็จะหยุดกินอาหาร อย่างน้อย 1-2 วัน และอีกอย่างที่สำคัญเรื่องตลาดควรศึกษาให้ดีเสียก่อน เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วจึงค่อยตัดสินใจเลี้ยงได้เลย” คุณกังวาล กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกังวาล ชูแก้ว หมายเลขโทรศัพท์ (086) 344-1950