ปลาหมอสีคางคำ มหันตภัยของผู้เลี้ยงปลา

คุณอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดงาน

จากกรณีที่มีผู้พบการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอสีคางคำ” (หรือ ปลาหมอคางดำ) ในหลายพื้นที่ของจังหวัดชุมพร เช่น ในพื้นที่อำเภอละแม และอำเภอสวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์ชนิดอื่นๆ เนื่องจากปลาหมอสีคางคำเปรียบเหมือนกับ “ปลาเอเลี่ยน” ที่จะกัดกินปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ จนส่งผลเสียต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมากนั้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ที่ทำการชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามแม่น้ำสวี หมู่ที่ 5 ตำบลปากแพรก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร คุณอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ชาวชุมพรร่วมใจขจัดภัยหมอสีคางดำ รักษ์ลุ่มน้ำสวี” เพื่อช่วยกันกำจัดปลาหมอสีคางดำ หลังจากพบเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง กรมประมง และเกษตรกร โดยชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามแม่น้ำสวี ได้ร่วมกำจัดพ่อแม่พันธุ์ปลาหมอสีคางดำ

คุณอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดงาน

พร้อมกับปล่อยปลาพื้นเมือง เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง ซึ่งเป็นปลานักล่า ลงแหล่งน้ำเพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันรณรงค์ให้ช่วยกันกำจัดปลาหมอสีคางดำ โดยกรมประมงได้ให้การสนับสนุนทั้งอุปกรณ์ในการกำจัด และพันธุ์ปลาพื้นเมืองนักล่า

คุณอรุณชัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีการพบปลาหมอสีคางดำแพร่กระจายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากให้กับผู้เลี้ยงปลาและกุ้ง กรมประมงได้ออกคำสั่ง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ในพื้นที่จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด กรมประมงได้รับฟังข้อคิดเห็นของเกษตรกรชาวประมง และชุมชนเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ปลาหมอสีคางดำ

เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่น พร้อมทั้งยังมีคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (IBC) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยมีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 มารองรับการปฏิบัติงาน สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิด พันธุ์ที่ห้ามตามประกาศ ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์

“แนวปฏิบัติหลักๆ ที่สำคัญคือ กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมประมงโดยด่วน กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย” คุณอรุณชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่ต้องการเพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการ ขอให้แจ้งขออนุญาตต่อกรมประมง และห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะถือว่ามีความผิดตาม มาตรา 144 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 หากพบผู้ใดฝ่าฝืน ลักลอบนำปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำปลาทั้ง 3 ชนิดไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างงานภาครัฐและเอกชนตลอดประชาชนภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) ไม่ควรปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เพราะจะมีผลกระทบอันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เหมือนเช่น ปลาหมอสีคางดำ ที่ต้องมีการจัดกิจกรรมในการกำจัดในครั้งนี้” คุณอรุณชัย กล่าว

ปลาหมอสีคางคำ ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีภัยมหันต์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก หากผู้ใดพบเห็นว่ามีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือพบเห็นว่ามีการแพร่ระบาดในพื้นที่ใด ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่คือ ประมงอำเภอ หรือประมงจังหวัด รับทราบทันที เพื่อเร่งหาทางกำจัดและหาทางป้องกันต่อไป