แปลงผักน็อกดาวน์ ทำเงิน 3 เท่า! ชั้นบนปลูกผัก ชั้นล่างเลี้ยงกุ้ง-หอย 1 งาน สร้างรายได้ 60,000 บาท/เดือน

จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ 4 ปีแล้วที่ทางเทคโนโลยีชาวบ้านได้เคยสัมภาษณ์เกษตรกรรุ่นใหม่ท่านหนึ่ง ที่เขาได้ตั้งฉายาให้ตัวเองว่า “ไทบ้านฟาร์มเมอร์” โดยมีที่มาจากที่เขาเป็นคนต่างจังหวัด และมีวิถีชีวิตและหลักคิดในการทำเกษตรแบบบ้านๆ การสื่อสารกับผู้คนก็เป็นหลักคิดง่ายๆ เป็นกันเอง ชาวบ้านคนธรรมดาฟังแล้วรู้เรื่อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ

มาถึงปัจจุบันบทบาทหน้าที่ของหนุ่มไทบ้านคนนี้มีมากขึ้น คือการได้รับเลือกเป็นประธานสภาเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ และยังคงไม่ทิ้งงานเกษตรที่เป็นเหมือนลมหายใจของเขา จากจุดเริ่มต้นมีพื้นที่ปลูกผักสลัดลงดินเล็กๆ สู่การพัฒนาพื้นที่กว่า 6 ไร่ เพื่อขยับขยายพื้นที่ทำการเกษตร พร้อมกับการเป็นต้นแบบเกษตรกร สร้างโมเดลทำเกษตรบนพื้นที่น้อยแต่สร้างรายได้มาก ให้สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต

คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ หรือ คุณกระต่าย อยู่บ้านเลขที่ 751 หมู่ที่ 14 ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรนักพัฒนาโมเดลทำเกษตรพื้นที่น้อย แต่สร้างรายได้สูง มีพื้นที่ 1 งาน ก็สามารถสร้างรายได้หลักหมื่นได้ไม่ยาก

จากเมื่อ 4 ปีก่อนที่เริ่มทำเกษตร คุณกระต่าย เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำเกษตรด้วยการปลูกผักสลัดลงดินมีรายได้ทางเดียว ปัจจุบันพัฒนาการปลูกพืชหลากหลายและให้เหมาะสมกับฤดูกาลการปลูกมากขึ้น คือถ้าหากเป็นในช่วงหน้าหนาวทางฟาร์มก็จะปลูกผักสลัดเป็นหลัก จากนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนสภาพอากาศไม่เป็นใจต่อการปลูกพืช ก็จะใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมปัจจัยการผลิตไว้ให้พร้อม เช่น การหมักปุ๋ย การปรุงดิน รวมถึงการผลิตสินค้าแปรรูปขาย แล้วพอเข้าสู่ฤดูฝนต้องหาทางออกปลูกพืชที่ทนน้ำ ก็ต้องเป็นข้าว ซึ่งโจทย์ต่อมาคือ ถ้าปลูกข้าวทั่วไปก็ขายได้ราคาถูก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะการเพาะปลูกต้องมีการลงทุนทั้งการเตรียมดิน เตรียมระบบน้ำ นำไปสู่กระบวนการคิดว่าจะทำยังไงที่จะเพิ่มมูลค่าพืชที่ปลูกก็ง่ายนิดเดียว คือการเปลี่ยนชนิดพันธุ์ข้าวที่คนยังไม่นิยมปลูก เพราะดินที่นี่ดีอยู่แล้ว จึงเป็นไอเดียของการปลูกข้าวญี่ปุ่น โดยในฤดูกาลที่จะถึงนี้วางแผนการปลูกบนพื้นที่ 4 ไร่

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นการวางแผนผลิตเมล็ดพันธุ์ก่อนเนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นค่อนข้างมีราคาแพง หากจะให้ซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกในจำนวนมากก็มีเงินทุนไม่พอ เราก็เลยซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นมากิโลหนึ่งแล้วนำมาขยายพันธุ์เอง จึงต้องใช้เวลาผลิตเมล็ดพันธุ์ไปก่อน ซึ่งฤดูฝนปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเต็มรูปแบบ”

มีพื้นที่ 1 งาน ทำแปลงปลูกผักน็อกดาวน์
โมเดลสร้างความยั่งยืน สร้างรายได้มั่นคง

คุณกระต่าย บอกว่า แปลงผักของที่นี่จะปลูกในรูปแบบแปลงปลูกผักน็อกดาวน์ บนพื้นที่ 1 งาน มีทั้งหมด 12 แปลง ขนาดของแปลงหน้ากว้าง 1.20 เมตร ยาว 6 เมตร พื้นที่เหลือด้านล่างแปลงปลูกได้มีการประยุกต์ทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งฝอยและหอยเชอรี่

“รูปแบบแปลงผักน็อกดาวน์ของเราคือให้นึกภาพง่ายๆ คือจะเป็นแปลงผักมีหลังคาเหมือนดอกเห็ด ความสูงของโครงสร้าง 2 เมตร แล้วพื้นที่ทำแคร่ปลูกผักสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร เป็นความสูงที่กำลังพอดี ทำงานได้สะดวก และด้วยขนาดความกว้างของแปลงกว้าง 1.20 เมตร เท่ากับกระเบื้องแผ่นลอนพอดี เราก็ไม่ต้องตัดต้องเติมอะไร ใช้แผ่นเดียวจบ แล้วระยะเอื้อมแขนเอื้อมได้สุดแปลง ซ้ายขวา ส่วนความยาว 6 เมตรก็คือความยาวของเหล็ก 1 เส้น ง่ายสะดวกต่อการทำงาน”

ถัดมาคือบ่อเลี้ยงกุ้ง ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ใต้แปลงผักว่าง จึงมองหากิจกรรมทำเพิ่มเติมจากพื้นที่เหลือด้านล่าง จนมาได้ไอเดียทำบ่อเลี้ยงกุ้งใต้แปลงปลูกผัก เนื่องจากมีความคิดต่อยอดในอนาคตถ้ามีทุนทำเป็นร้านอาหารอีสานออร์แกนิก ประกอบกับที่ปัจจุบันกุ้ง หอย ปู ปลา ตามท้องที่เริ่มหายาก เพราะคนใช้สารเคมีเยอะ จึงเริ่มทำการทดลองทำบ่อเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกก่อน

“บ่อเลี้ยงกุ้งฝอยของเดิมทีเป็นบ่อทดลองเลี้ยงปลามาก่อน ซึ่งก็ได้ผลดี และจากนั้นไม่นานผมก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปเห็นปัญหาของเกษตรกรในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์มากขึ้น คือที่กาฬสินธุ์จะแบ่งออกเป็น 2 โซน คือโซนที่มีน้ำน้อย กับโซนพื้นที่มีน้ำมาก ก็คืออำเภอที่อยู่ใกล้กับเขื่อนลำปาวมีอยู่ประมาณ 6-7 อำเภอ ส่วนใหญ่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามสร้างรายได้ดี ต่างจากเกษตรกรอีก 5-6 อำเภอ ที่อยู่ห่างจากเขื่อน จะปลูกได้แต่ข้าว รายได้เขาต่ำ ทั้งที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน เราจึงกลับมาคิดว่าจะทำยังไงให้เขาเพิ่มมูลค่าได้ ก็เกิดสนใจการเลี้ยงกุ้งฝอย เพราะเลี้ยงง่าย สร้างมูลค่าสูง กิโลละ 300-500 บาท แล้วแต่พื้นที่ จึงเกิดไอเดียทดลองเลี้ยงกุ้งฝอยเป็นโมเดล โดยใช้พื้นที่ข้างล่างแปลงผักในการทดลองเลี้ยง แล้วให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ เพื่อไปเลี้ยงขายสร้างรายได้ในชุมชน เพราะว่าในชุมชนภาคอีสานเขาจะกินกุ้งฝอยกันอยู่แล้ว ใช้พื้นที่ไม่เยอะเพียง 1 งาน สร้างรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท ข้างบนเราก็ปลูกผักขาย”

โดยปัจจุบันที่ฟาร์มมีแปลงผักทั้งหมด 12 แปลง แต่เลี้ยงกุ้งจริงๆ เพียง 4 บ่อ อีก 8 บ่อ ที่เหลือรอขยายพันธุ์ เนื่องจากหากต้องลงทุนซื้อพ่อแม่พันธุ์กุ้งฝอยตัวละ 1 บาท หากต้องซื้อทั้งหมดจะใช้ต้นทุนสูง เพราะ 1 บ่อ ต้องใช้ต้นทุนถึง 3,000 บาท ถ้าเลี้ยง 12 บ่อ คิดเป็นเงิน 36,000 บาท ประกอบกับที่ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเลี้ยงสำเร็จหรือไม่ จึงเริ่มต้นทดลองเลี้ยงดูก่อน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงได้ผลดี รอการขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่มให้ครบทั้ง 12 บ่อ 

วิธีการเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย

ที่ฟาร์มจะเพาะเลี้ยงในบ่อพลาสติก คล้ายๆ กับการเลี้ยงในกระชังบก โดยการใช้พลาสติก HDPE อย่างดี มาเป็นวัสดุในการทำบ่อเลี้ยง ซึ่งใต้แปลงผักมีโครงสร้างเป็นเหล็กอยู่แล้ว เราก็ใช้พลาสติกมาคลุมทับให้เป็นบ่อสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 6 เมตร โดยอัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ต่อบ่ออยู่ที่ 3,000 ตัวต่อบ่อ ใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 3 เดือน สามารถจับขายได้

โดยหลักการในการเลี้ยงกุ้งคือ กุ้งชอบน้ำสะอาด ไม่มีสารเคมีตกค้าง มีออกซิเจนเพียงพอ และมีพืชน้ำไว้ให้สำหรับวางไข่ เท่านี้ก็เพียงพอ

การเตรียมบ่อเลี้ยง เนื่องจากที่ฟาร์มเลี้ยงในบ่อพลาสติกก็จะมีกลิ่นของพลาสติกติดมาด้วย ให้ล้างทำความสะอาดจนกว่าจะไม่มีกลิ่นเหม็นของพลาสติกค้างอยู่ในบ่อ ด้วยการเทน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำเปล่าลงไปประมาณ 1-2 ลิตร แช่ไว้ 3-5 วัน เสร็จแล้วปล่อยน้ำทิ้ง และมีข้อแนะนำว่าน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งควรเป็นน้ำบาดาลจะดีที่สุด เพราะน้ำบาดาลค่อนข้างจะปราศจากเชื้อโรค หากเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอาจจะมีไข่ของสัตว์อื่นๆ ปนมาอาจจะเป็นศัตรูของกุ้งในอนาคต

จากนั้นเมื่อทำการล้างบ่อจนสะอาดไม่มีกลิ่นของพลาสติกหลงเหลือแล้ว ให้เติมน้ำเข้าไปใหม่ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน แล้วในบ่อต้องมีพืชน้ำใส่ไปด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ผ่านมาเคยใช้สาหร่ายหางกระรอก ข้อเสียคือสาหร่ายหางกระรอกทำให้น้ำเน่าเสียง่าย ส่งผลให้ผู้เลี้ยงต้องล้างบ่อเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ทำให้เสียเวลา และเป็นการเพิ่มต้นทุน จึงได้มานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้น้ำสะอาดตลอดเวลา ก็ปิ๊งไอเดียจากที่เคยดูยูทูบที่เห็นคนเลี้ยงปลาไหล เขาใช้เชือกฟางมาฉีกเป็นเส้นๆ แทนการใช้พืชน้ำ เราก็มาทำแบบเขาเพื่อทดแทนการใช้สาหร่ายสำหรับเป็นที่ยึดเกาะของกุ้ง ให้ซ่อนตัวและวางไข่ แล้วเทคนิคนี้เวิร์ก เพราะทำให้น้ำไม่เน่าเสีย ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก

อาหาร ใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ่อละ 2 ช้อนโต๊ะ ให้วันละมื้อช่วงเย็น ซึ่งข้อดีของอาหารสำเร็จรูปคือน้ำไม่เน่าเสีย

การดูแลอื่นๆ การเลี้ยงกุ้งฝอยเป็นเรื่องไม่ยากหากผู้เลี้ยงเข้าใจพฤติกรรมของกุ้ง ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งนอกจากบ่อและน้ำสะอาด อาหารที่ดีแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือออกซิเจน ในบ่อกุ้งควรต้องมีออกซิเจนตลอด และแนะนำให้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทองร่วมกันในบ่อด้วย โดยหอยเชอรี่จะทำหน้าที่คอยเก็บกวาดสิ่งสกปรกภายในบ่อเลี้ยง เช่น เก็บกวาดขี้กุ้ง ตะไคร่น้ำ เก็บเศษอาหาร ทำให้บ่อสะอาด น้ำไม่เน่าเสียง่าย

แผนการสร้างรายได้ในอนาคต

คุณกระต่าย บอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มยังไม่มีรายได้จากการขายกุ้งฝอย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์ แต่ในอนาคตเมื่อขยายพันธุ์กุ้งฝอยจนครบทั้ง 12 บ่อแล้ว ได้มีการวางแผนสร้างรายได้คือเริ่มต้นจากการขายพ่อแม่พันธุ์ก่อนเป็นอันดับแรก แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้มองว่าตลาดขายพ่อแม่พันธุ์จะมีความยั่งยืน เพราะใครก็สามารถซื้อไปขยายต่อได้ ถ้าเขาเลี้ยงสำเร็จก็สามารถขยายผลต่อได้ เพราะฉะนั้นตลาดในระยะยาวจึงมุ่งไปที่ตลาดเนื้อ คือขายกุ้งฝอยพร้อมนำไปประกอบอาหาร เริ่มต้นจากการเปิดตลาดในชุมชนก่อน โดยการไปดีลกับพ่อค้าแม่ค้าร้านส้มตำ ขายในกิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องมีของพอไปป้อนตามความต้องการของร้านค้าด้วย

จากนั้นเมื่อการตลาดในชุมชนประสบความสำเร็จจึงค่อยขยายสู่ภูมิภาค คิดใหญ่ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่พื้นที่น้ำน้อย 5-6 อำเภอในกาฬสินธุ์ หันมาเลี้ยงกุ้งฝอยเพิ่มรายได้ พร้อมกับการทำสัญญาซื้อขายกับตลาดตามหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น และอุดรธานี เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่มีร้านค้าที่ต้องการกุ้งฝอยอีกมาก ซึ่งที่ฟาร์มก็จะรับหน้าที่เป็นตัวแทนรวบรวมผลผลิตและส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าเอง ในส่วนของรายได้คาดการณ์ไว้ว่าหากเลี้ยงกุ้งฝอยครบทั้ง 12 บ่อ จะมีรายได้ประมาณเดือนละ 30,000 บาท

“เราขยายพ่อแม่พันธุ์ก่อน อย่างกุ้งตัวหนึ่งออกมาได้ 50 ตัว เอารอดๆ เพราะมันไข่ประมาณ 200-300 ฟอง ผมคาดว่าตัวหนึ่งรอด 50 ตัว ปล่อยไป 3,000 ตัว ออกลูก 1,000 ตัว ก็เป็นบ่อละ 5,000 ตัว 12 บ่อ ก็ 60,000 ผมคิดรายได้แค่ครึ่งหนึ่งก็คือ 30,000 บาทต่อเดือน และนอกจากนี้ ยังมีรายได้จากแปลงผักที่อยู่ด้านบน พื้นที่ 1 งาน เก็บผักขายได้อาทิตย์ละ 40-50 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท สร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน และยังมีในส่วนของหอยเชอรี่ที่เลี้ยงรวมกับบ่อกุ้งอีกเดือนละ 10,000 บาท เรียกได้ว่ามีพื้นที่ 1 งาน หากรู้วิธีการจัดการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเดือนละครึ่งแสนเลยทีเดียว” คุณกระต่าย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 096-848-3468 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ไทบ้านฟาร์มเมอร์ 

 

เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566