แนะวิธีเลี้ยง หอยแครง ที่ได้ผลดี

“หอยแครง” เป็นหนึ่งในเมนูอาหารจานเด็ดที่ขายได้ขายดีตลอดทั้งปี ทำให้หลายคนสนใจที่จะลงทุนเลี้ยงหอยแครงเป็นอาชีพ ความจริงการเลี้ยงหอยแครงให้ได้ผลดี ทำได้ไม่ยาก สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ขอแนะนำให้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์หอยแครง และการเลือกทำเลที่ตั้งเหมาะสมสำหรับทำฟาร์มหอยแครงเสียก่อน

 

ธรรมชาติของหอยแครง

หอยแครง จัดอยู่ในกลุ่มหอยกาบคู่ (Class Bivalvia)  มีเปลือก 2 ชิ้น ประกบกัน โดยยึดติดกันทางด้านบนบริเวณขั้วเปลือก ทั่วโลกพบหอยทะเลกาบคู่มากกว่า 8,000 ชนิด แบ่งเป็น 34 วงศ์ ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยกะพง หอยจอบ หอยมุก หอยขวาน หอยเชลล์ หอยนางรมหนาม หอยมือเสือ เป็นต้น

หอยแครง (Blood clam) เป็นหอยกาบคู่ที่พบบ่อยในทะเลไทย หอยแครงอาศัยตามพื้นทะเล บริเวณที่เป็นดินเลน เช่น อ่าวปากแม่น้ำ ปากคลอง ป่าชายเลน โดยมุดตัวลงไปอยู่ใต้พื้นเล็กน้อย มักจะอยู่รวมกันหนาแน่น หอยแครงมีสารเฮโมโกลบินในเลือด ทำให้เลือดมีสีแดง ซึ่งแตกต่างจากหอยกาบคู่อื่นๆ

หอยแครงที่พบในน่านน้ำไทย

โดยทั่วไป ในน่านน้ำไทยพบหอยแครง จำนวน 5 ชนิด ได้แก่

1.หอยแครงทั่วไป เปลือกหอยมีขนาด 1.5-2.0 นิ้ว มักอาศัยอยู่บริเวณหาดโคลนละเอียดตามชายฝั่งน้ำตื้นๆ ที่จังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล ปัตตานี และระนอง

2.หอยแครงขุ่ย รูปร่างยาวรี เกือบเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาศัยอยู่บริเวณเดียวกับหอยแครงชนิดแรก

3.หอยแครงมัน มีรูปร่างคล้ายหัวใจ พบชุกชุมตามบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีหาดโคลน ตั้งแต่จังหวัดพังงาไปจนถึงสตูล

4.หอยแครงเบี้ยว รูปร่างยาวรี ลักษณะคล้ายหอยคราง แต่ไม่มีขน พบมากที่จังหวัดชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

5.หอยคราง หรือ หอยแครงขน เป็นหอยแครงที่มีขนาดใหญ่ ฝาสองข้างไม่เท่ากัน ผิวนอกของเปลือกมีขน ขนาดเปลือกยาว 2 นิ้ว โดยเฉลี่ย อาศัยอยู่ตามพื้นโคลนปนทรายในระดับน้ำค่อนข้างลึก แถบจังหวัดตราด เพชรบุรี ภูเก็ต และสงขลา

พฤติกรรมการกินอาหาร

หอยแครง มักฝังตัวอยู่ในโคลนหรือเลนละเอียดตื้นๆ หรือระดับเดียวกัน ฝาทั้งสองจะเปิดอ้าเล็กน้อย ดูดน้ำเข้าในตัวแล้วพ่นออก และเคลื่อนที่อยู่เสมอเพื่อทำอาหารและหลบหลีกศัตรู หอยแครงมีเหงือก 2 คู่ ทำหน้าที่โยกพัดอาหารเข้าสู่ช่องปาก แล้วกรองเอาอาหารขนาดเล็กไว้ ส่งต่อเข้าไปในช่องปาก ผ่านหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหาร อาหารของหอยแครงคือ อินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย รวมทั้งแพลงตอนสาหร่ายและไดอะตอม หอยแครงผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดปี แต่จะวางไข่ได้มากที่สุดในเดือนกรกฎาคม

ทำเลเหมาะสำหรับเลี้ยงหอยแครง

การทำฟาร์มหอยแครง ควรเลือกพื้นที่เป็นโคลนตามชายฝั่งที่เรียบและลาดเอียงเล็กน้อย เป็นถิ่นที่มีคลื่นลมและกระแสน้ำพัดไม่แรง ผิวหน้าดินเลนลึก 40-50 เซนติเมตร โคลนไม่มีกลิ่นเน่าเหม็น น้ำมีความเค็มประมาณ 10-31 ส่วน ในพันส่วน และที่สำคัญสถานที่ต้องห่างจากแหล่งอุตสาหกรรม หรือแหล่งชุมชน

การเลี้ยงหอยแครง

การเลี้ยงหอยแครงระดับชาวบ้าน มีขนาดฟาร์มประมาณ 5-30 ไร่ ต่อครอบครัว ใช้วิธีกั้นคอกด้วยเฝือกไม้ไผ่ล้อมแปลงที่เลือกไว้ นำลูกหอยขนาด 300-2,500 ตัว ต่อกิโลกรัม หว่านลงในคอก อัตรา 800-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้เวลาเลี้ยง 1-2 ปี จะได้หอยแครง ขนาด 70-80 ตัว ต่อกิโลกรัม หรือให้ผลผลิต 2,000-3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อรุ่น วิธีเก็บหอยแครงนิยมใช้คราดมือ เก็บรวบรวมไว้ในถุงตาข่าย ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำขึ้นผึ่ง ข้อดีของการเลี้ยงหอยแครงคือ ไม่ต้องให้อาหาร เพราะหอยแครงจะหากินตามโคลนเลนด้วยตัวของมันเอง

ด้านตลาด

การตลาดหอยแครง ตลาดภายในประเทศยังค่อนข้างแคบ เนื่องจากหอยแครงตายและเน่าเสียหายภายใน 2-3 วัน เท่านั้น ตลาดหลักจึงอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่อยู่ใกล้แหล่งผลิต ส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีเส้นทางขนส่งที่ยาวไกล ทำให้คุณภาพของหอยแครงด้อยลง ขณะเดียวกันจะมีราคาแพง จึงไม่ค่อยนิยมบริโภคกัน