“คนสู้ชีวิต” หมดตัวจากไร่ข้าวโพด หันปลูกจันทน์ผาด่างประสบผลสำเร็จ ปลดหนี้ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวสบายๆ

ไม้ด่างเป็นพืชซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางธรรมชาติ แต่ความผิดปกติทางสายพันธุ์นี้เองกลับทำให้เกิดความแปลกแตกต่างกลายเป็นจุดเด่นจากสีเดิมๆ กลายเป็นแถบสี ลายจุด หรืออาจมีหลายสีสัน และลวดลายในใบเดียวกันที่แสดงอาการด่างตามส่วนต่างๆ ทั้งลำต้น ใบ และดอก

จันทน์ผาด่าง ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเมล็ดจันทน์ผาที่เห็นกันทั่วไป มีขนาดต้น สี และใบที่แตกต่างกันจากต้นแม่ โดยเฉพาะใบจะมีลวดลายและสีที่แปลกกว่าจันทน์ผาที่ปลูกเป็นไม้ประดับตามสนามหญ้าและสวนหินเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่เหล่านักสะสมต้นไม้ต้องใช้เวลาแสวงหามาไว้เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยราคาเท่าก็ตาม

ด้วยลักษณะของใบ สี และขนาดต้นที่แปลกแตกต่างจากต้นจันทน์ผาเดิม ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจหาชื้อและเพาะเก็บสะสมไว้ดูเล่น เนื่องจากการเพาะขยายพันธุ์ยังค่อนข้างยาก อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะกว่าจะได้ต้นด่างที่มีลักษณะต่างจากต้นแม่ ดังนั้น ปริมาณจึงมีไม่มากเหมือนกับจันทน์ผาที่เห็นวางจำหน่ายอยู่

ปัจจุบันจันทน์ผาด่างมีปลูกกันเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะมีทั้งปลูกไว้ดูเล่นและปลูกเก็บสะสมพอมีปริมาณมากพอก็นำมาและแลกเปลี่ยน เช่น ลุงสวัสดิ์ เที่ยงตรง เกษตรกรที่เปลี่ยนจากอาชีพทำไร่ มาเพาะเลี้ยงจันทน์ผาจำหน่ายหาเลี้ยงครอบครัว อยู่ที่ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว

ลุงสวัสดิ์ เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเองเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโพดอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกกว่า 300 ไร่ แต่ด้วยสภาพอากาศที่ทำอยู่ในช่วงนั้นแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดที่ปลูกล้มตาย กู้เงินมาลงทุนจนเป็นหนี้ จนตัวเองไม่ไหว จึงตัดสินใจขายทุกสิ่งที่มีอยู่ใช้หนี้และย้ายครอบครัวมาหาอาชีพและที่ทำกินใหม่ที่จังหวัดสระแก้ว

“มาครั้งแรก ชาวบ้านที่รู้จักเขาก็แบ่งที่ให้สร้างที่อยู่อาศัย ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จะมาทำอาชีพอะไรหาเลี้ยงครอบครัว พอดีชาวบ้านบริเวณนี้เขามีอาชีพเสริมในช่วงที่ว่างจากการทำการเกษตรคือ ขึ้นเขาไปหาเก็บต้นจันทน์ผาที่ขึ้นตามป่ามาจำหน่ายขายในราคากิ่งละ 10-20 บาท จากจุดเริ่มต้นของการตามขึ้นไปดู ทำให้เกิดแนวคิดทำเป็นอาชีพ แต่เราจะเปลี่ยนจากการตัดกิ่งมาจำหน่ายมาเป็นการนำกิ่งที่ตัดมาปลูกเลี้ยงในกระถางบริเวณพื้นที่รอบบ้าน พอต้นสมบูรณ์มีฟอร์มสวยก็จำหน่าย ซึ่งจะได้ราคาขายที่สูงกว่า โดยครั้งแรกได้เงินมาประมาณ 80,000 บาท”

ลุงสวัสดิ์ ใช้เวลาศึกษาการปลูก การดูแล และการขยายพันธุ์ ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนประสบความสำเร็จสามารถเพาะขยายพันธุ์เองได้ จากนั้นจึงหยุดออกไปหาจันทน์ผาตามป่ามาจำหน่าย หันมาทำการเพาะขยายพันธุ์จากต้นที่มีอยู่ โดยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำ

จันทน์ผาของลุงสวัสดิ์ที่ปลูกจำหน่ายอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะได้จากการเพาะขยายพันธุ์เองทั้งหมด เนื่องจากมีกฎหมายออกมาคุ้มครองให้จันทน์ผาเป็นไม้ที่อยู่ในกลุ่มไม้หวงห้ามนำออกจากป่า แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ไว้ปลูกประดับตกแต่งบ้านเรือน สถานที่ราชการ

หลังจากที่ประสบความสำเร็จสามารถปลูกจันทน์ผาได้ระยะหนึ่ง ลุงสวัสดิ์ ก็เริ่มนำจันทน์ผาด่างที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดลองปลูกควบคู่กับเพาะขยายจันทน์ผาพันธุ์ที่มีอยู่จำหน่าย

ปรงรูปทรงแปลก

“เป็นความสนใจส่วนตัว เห็นว่าเป็นจันทน์ผาเหมือนกัน การปลูกการดูแลน่าจะคล้ายๆ กัน พอดีมีคนรู้จักข้ามไปชายแดนฝั่งโน้นและนำเข้ามาปลูกขาย เลยไปขอแบ่งชื้อมาปลูกสะสมดู พอฟอร์มต้นสวย ใบมีลวดลายที่เด่น ซึ่งแตกต่างจากจันทน์ผาเดิม ราคาชื้อ-ขายก็สูง จากนั้นมาจึงเริ่มเพาะขยายพันธุ์เก็บสะสม ต้นไหนที่มีปริมาณจะประกาศขาย โดยราคาชื้อ-ขายสูงถึง 10,000-50,000 บาทต่อต้น บางต้นได้ถึง 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยงามและฟอร์มต้น”

ลุงสวัสดิ์ ใช้เวลา 4 ปี เก็บรวบรวมจันทน์ผาด่างได้มากถึง 20 แบบ (ลวดลาย สีสัน) มีปริมาณต้นแม่ที่ให้กิ่งกว่า 100 ต้น โดยขนาดและรูปทรงจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอายุและการดูแล และด้วยราคาขายที่สูงกว่าจันทน์ผาทั่วไป ลุงสวัสดิ์จึงหันมาให้ความสนใจเพาะขยายจันทน์ผาด่างและลดปริมาณการเพาะขยายจันทน์ผาที่ขายอยู่ทั่วไปลง

สำหรับเรื่องของวิธีการปลูก ลุงสวัสดิ์ บอกว่า จันทน์ผาเป็นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ดินที่ใช้ปลูกก็ใช้ดินร่วนทั่วไป แต่ถ้าจะให้ดีให้ใช้ดินภูเขาเนื่องจากจะระบายน้ำได้ดี

การตอนกิ่ง

การขยายพันธุ์ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปลูกจะเลือกวิธีใด แต่สำหรับลุงสวัสดิ์จะเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอน ปักชำ และเพาะเมล็ด

“การตอนกิ่งเป็นวิธีที่คิดขึ้นเอง จะใช้เพาะขยายต้นจันทน์ผาด่างที่มีกิ่งแตกออกมาจากต้นแม่ โดยเริ่มจากใช้ใบมีดหรือใบเลื่อยเฉือนที่ใต้กิ่งตอนให้รอยลึกของแผลประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำขุยมะพร้าวมาหุ้มที่แผล ประคองด้วยถุงพลาสติก มัดด้วยเชือก รดน้ำให้ขุยมะพร้าวมีความชื้นอยู่ตลอด ปล่อยไว้ 45 วัน รากก็จะเริ่มเดิน จากนั้นตัดและนำมาปลูกในกระถาง”

ลุงสวัสดิ์ ยังบอกต่ออีกว่า การทำให้ต้นจันทน์ผามีปริมาณกิ่งเยอะ ทำได้โดยการตัดยอดไปปักชำ ปล่อยต้นตอที่มีใบเลี้ยงประมาณ 6-7 ใบ ปล่อยไว้ระยะหนึ่งต้นตอที่ถูกตัดจะแตกกิ่งและผลิใบออกมาใหม่เพื่อสังเคราะห์แสง หาอาหารไปเลี้ยงลำต้น

ต้นยอดกระตุ้นการแตกยอด

สำหรับการปักชำและการเพาะเมล็ด ลุงสวัสดิ์ บอกว่า มีขั้นตอนและวิธีเหมือนกับการปลูกไม้ทั่วไป นำกิ่งที่ต้องการปลูกมาทาด้วยปูนแดงที่รอยแผล จากนั้นนำไปปลูกในกระถาง ส่วนการเพาะเมล็ด เลือกเมล็ดที่มีความพร้อม (แก่) มาผ่านกระบวนการลอกเปลือกนอกออก นำมาล้างน้ำเปล่า จากนั้นนำไปโรยในถาดเพาะที่มีดินร่วนรองพื้น กลบด้วยดินอีกครั้ง รดน้ำ ปล่อยไว้ประมาณ 10-20 วัน เมล็ดที่โรยจะเริ่มงอกออกมา

ปริมาณยอดที่แตก มากกว่า 3

“การดูแลจันทน์ผาในแต่ละวัน มีกิจกรรมให้ทำไม่มาก เดินตรวจดูโรคที่แสดงอาการออกทางใบและอาการเน่าที่เกิดทางลำต้น ซึ่งเกิดจากการให้น้ำมากจนเกินไป ดังนั้น การให้น้ำก็สำคัญ ควรให้ 3 วันครั้งก็เพียงพอ เนื่องจากเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามภูเขา ตามโขดหิน ค่อนข้างจะทนแล้ง น้ำจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับไม้ชนิดนี้ ส่วนการให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ก็สามารถใช้ได้”

รูปทรงแปลก

นอกเหนือจากจันทน์ผาด่าง ลุงสวัสดิ์เองยังเก็บรวบรวมไม้แปลกที่หาดูได้ยาก อย่างปรงทอง ปรงรูปทรงแปลก เพื่อเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาศึกษา กว่าจะนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักสะสมที่ถามกันมาปากต่อปาก และอีกส่วนคือพ่อค้าแม่ค้าขาประจำที่เข้ามารับชื้อที่บ้านในราคาที่ค่อนข้างสูง

ทุกวันนี้ ลุงสวัสดิ์ มีรายได้จากการขายจันทน์ผาเดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท จากที่ไม่มีทรัพย์สินและสมบัติติดตัวมา วันนี้มีบ้าน 1 หลัง มีเงินสะสมชื้อที่ทำมาหากิน 12 ไร่ มีเงินใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน ถือว่าเป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิตที่ไม่เคยท้อกับอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะเผชิญหน้าและแก้ปัญหา ทำให้เขาผ่านพ้นจุดวิฤกตของชีวิตมาได้ถึงทุกวันนี้

ลุงสวัสดิ์และภรรยา กับ ปรงทองหาดูยาก

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ.2560