แค็กตัส ไม้ประดับจัดสวน ปลูกก็สวย ปลูกขายก็ทำเงิน

ถึงแม้รูปร่างจะมีหนามแหลมคมอยู่รอบตัว แต่ไม้ดอกไม้ประดับที่เรารู้จักและเรียกขานกันว่า แค็กตัส หรือกระบองเพชร ได้กลายมาเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีการเพาะเลี้ยงปลูกจำหน่ายทำเป็นธุรกิจ ยึดทำเป็นอาชีพหลักและเสริม สร้างรายได้ปีละหลายล้านบาท

เอกลักษณ์และความโดดเด่นของทรงต้น บวกกับความแปลกของหนามที่มีลวดลายและลักษณะของสีดอก ขนาดรูปร่าง ทรงต้น ที่แตกต่างกัน ทำให้แค็กตัสกลายเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งบรรดาเหล่านักสะสมต้นไม้ได้รวบรวมเก็บสะสมและปลูกไว้ดูเล่น ตลอดจนนำมาตกแต่งเพิ่มสีสันให้กับสวนในบ้านหรือหน่วยงานต่างๆ

การปลูกเลี้ยงแค็กตัสเป็นสิ่งที่หลายคนต้องกังวล และจะตั้งคำถามว่าจะดูแลอย่างไรไม่ให้รากเน่า ปลูกอย่างไรให้เห็นดอกเร็ว รวมถึงแนวทางหรือคำแนะนำที่จะทำเป็นธุรกิจต้องเริ่มอย่างไร วันนี้เราจะพาผู้อ่านไปไขข้อสงสัยพร้อมกัน กับ อาจารย์วีรวุฒิ มุตโตเพลง อดีตข้าราชการครูเกษตร แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ

ยึดหลักเศรษฐศาสตร์ เพื่อการผลิตพืช

อาจารย์วีรวุฒิ อดีตเป็นครูสอนเกษตร คลุกคลีกับอาชีพข้าราชการครูเกษตรมากว่า 45 ปี ตลอดระยะเวลาที่รับบทบาทครูซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้คนได้มีความรู้ในด้านเกษตรนั้น อาจารย์วีรวุฒิก็เป็นคนที่ชอบงานค้าขาย อะไรที่สร้างรายได้ ทำแล้วมีความสุข ไม่เดือดร้อนและไม่ผิดต่อหน้าที่ข้าราชการ จะทำทุกอย่าง จึงหันมาเพาะปลูกต้นไม้จำหน่ายควบคู่กันไป

“ด้วยความที่ผมก็เป็นครูสอนเศรษฐศาสตร์เกษตร หลักการตลาดจึงเป็นแนวทางที่ทำให้ผมเลือกที่ผลิตต้นไม้ที่ตลาดต้องการ ซึ่งพืชตัวแรกที่จับคือ โป๊ยเซียน เป็นไม้ที่ได้กระแสการตอบรับดีในช่วงนั้น แต่ไม้ดอกไม้ประดับมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา จากโป๊ยเซียนก็เปลี่ยนมาเพาะปลูกโกสน ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน แต่ก็ทำมาได้ประมาณ 6 เดือน ไม้ทั้งสองชนิดตลาดเริ่มมีความต้องการน้อยลง จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนพืชปลูกอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นไม้ตระกูลว่าน ขึ้นเขาลงห้วยไปหามาเพาะขยายพันธุ์จำหน่าย”

กระแสไม้ดอกไม้ประดับที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีไม้ใหม่ออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบกับไม้ดอกไม้ประดับที่อาจารย์วีรวุฒิผลิตจำหน่าย แต่ด้วยหัวใจที่เป็นพ่อค้า บวกกับความกล้าที่จะเปิดรับและทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่มีคนแนะนำมาทดลองและทดลองลงมือทำ

“การได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นสิ่งที่ผมกับเพื่อนและลูกศิษย์ทำอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีอยู่วันหนึ่งมีลูกศิษย์ที่ปลูกเลี้ยงแค็กตัสมาเที่ยวหา และด้วยความที่เราเป็นคนที่มีความสนใจเกี่ยวกับแค็กตัสอยู่แล้วก็ได้สอบถามเกี่ยวกับการปลูกเลี้ยง กระแสตลาดในช่วงนี้เป็นอย่างไร ซึ่งลูกศิษย์ก็ได้ให้คำแนะนำและชวนไปชมฟาร์มแถวอำเภอดำเนินสะดวก

ก้าวแรกที่ผมเดินลงไป เราไม่ได้มองเพียงความสวยงามของต้นไม้เพียงอย่างเดียว เรามองสิ่งแวดล้อม ลูกค้าที่เข้ามาซื้อแต่ละคนไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือชาวบ้านทั่วไป แต่ละคนมีการแต่งตัวที่ค่อนข้างจะมีกำลังซื้อที่สูง ทำให้เรามองเห็นว่าไม้ดอกไม้ประดับชนิดนี้เป็นอีกตัวหนึ่งที่มีกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังทรัพย์มากพอ”

หลังจากการไปชมฟาร์มมาในวันนั้น ทุกๆ วันอาจารย์วีรวุฒิก็เริ่มออกไปดูตามฟาร์มต่างๆ ตามคำแนะนำ ซึ่งการได้ไปดูสถานที่จริงทำให้ได้เห็นสภาพฟาร์ม ความสวยงามของต้นไม้แต่ละต้น ทำให้กลายเป็นแรงผลักดันที่จะกลับมาเริ่มศึกษาถึงที่มาที่ไป วิธีการเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง เลือกวัสดุปลูกให้เหมาะสม การดูแลรักษาในแต่ละช่วงอายุ ตลอดจนการเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนที่ทำการเพาะขยายพันธุ์

“ทำการเพาะขยายพันธุ์ครั้งแรกๆ ต้นเน่าตาย ปลูกอย่างไรก็ไม่ขึ้น แต่เราเป็นคนที่ทำอะไรจะจริงจัง ไม่หยุดเมื่อเกิดปัญหา ศึกษาเพิ่มเติม เดินทางไปทั่วประเทศศึกษาอย่างจริงจังอีกครั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะมาจับทางถูก พูดง่ายๆ ว่า วันนี้หยิบต้นแค็กตัสโยนลงไปที่พื้นดินก็ยังขึ้น”

จับทางถูก ต่อยอดทำธุรกิจ

อาจารย์วีรวุฒิเริ่มเก็บสะสมแค็กตัสจากหลายแหล่งมารวบรวมไว้ และเริ่มทำการเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ไม่เหมือนกับที่ผ่านมา อาจารย์วีรวุฒิไม่ได้ทำเพียงคนเดียว ได้มีหุ้นส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตกลงให้อาจารย์วีรวุฒิเป็นคนลงแรง ลงความรู้ ลงมือทำ ได้เงินเดือนเป็นค่าตอบแทน ส่วนหุ้นส่วนเป็นผู้ลงทุน หาพื้นที่ ขายได้มาก็จ่ายเป็นเงินเดือนให้กับอาจารย์วีรวุฒิเป็นค่าตอบแทน

ระยะเวลาเพียง 6 ปี ที่ก่อสร้างธุรกิจเพาะปลูกแค็กตัสกับหุ้นส่วน สามารถขยายการผลิตมีโรงเรือนเพิ่มขึ้น จาก 1 โรง เป็น 5 โรง มีสื่อต่างๆ เข้ามาติดต่อทำข่าวมากมาย ซึ่งเฉลี่ยๆ ทำรายได้ปีละกว่า 10 ล้านบาท แต่ทั้งหมดไม่ได้เป็นของคุณวีรวุฒิเอง

จนกระทั่งหุ้นส่วนเสียชีวิตลง อาจารย์วีรวุฒิก็ตัดสินใจเกษียณอายุตัวเองและนำเงินที่เก็บสะสมมาสร้างธุรกิจเพาะเลี้ยงแค็กตัสอยู่บริเวณบ้านของตัวเอง

“เนื้อที่รอบบ้าน 96 ตารางวา ทุกตารางนิ้วผมใช้พื้นที่ที่มีอยู่น้อยที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าพื้นที่ทั้งหมดจะสร้างชั้นวางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยจะยกสูงจากพื้นประมาณ 70-80 เซนติเมตร เพื่อใช้วางต้นแค็กตัสที่แยกลงกระถางรอจำหน่าย

ส่วนด้านบนโรงเรือนจะยกเสาสูงมุงด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต โปร่งแสง เพื่อให้แสงส่องผ่านถึงและให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก”

ระหว่างที่อาจารย์วีรวุฒิทำการศึกษาและเพาะขยายพันธุ์แค็กตัสอยู่นั้น ก็ได้รับเอาต้นแค็กตัสจากสวนเกษตรกรที่เพาะปลูกจำหน่ายมาขายตามตลาดนัด ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้ซื้อ เป็นการกระตุ้นให้ต้องหาคำตอบมาเพื่อตอบลูกค้า ซึ่งแต่ละวันจะมีคำถามเข้ามาหลากหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกัน ต้นแค็กตัสที่ขายออกไม่ได้ มีปริมาณเหลือ ก็จะเก็บสะสมทำการเพาะขยายพันธุ์ โดยยึดลูกค้าที่มาซื้อว่าต้องการสายพันธุ์ไหน ลักษณะอย่างไรที่ลูกค้าต้องการ เพื่อผลิตจำหน่ายควบคู่กับการรับจากสวนอีกทางหนึ่ง

จากประสบการณ์ที่ทำมากว่า 6 ปี และประสบการณ์ที่ได้รับจากลูกค้า ทำให้มีความชำนาญมากพอ ต้นไม้ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องก็นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ทำการเพาะขยายพันธุ์ ทำให้ปัจจุบัน ต้นไม้กว่า 10,000 ต้น เป็นต้นไม้ที่ผลิตออกจากสวนตัวเองทั้งหมด

“จากที่เราเคยซื้อเขามา ตอนนี้เขาต้องมาซื้อเราแทน เพราะเนื่องจากเรามีพันธุ์ที่หลากหลายจากหลายแหล่งมารวมอยู่ที่เรา อีกทั้งเรามีวิธีการเพาะขยายพันธุ์ที่รวดเร็วและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดทำลายยอดเพื่อกระตุ้นให้แตกยอดใหม่ขึ้นมา การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเมล็ด การนำมาต่อยอดหรือการกราฟติ้ง ซึ่งวิธีการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีเหล่านี้ สามารถช่วยเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วและหลากหลาย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่ว่าคนที่ทำการขยายพันธุ์จะต้องมีความชำนาญและความรู้” 

เลี้ยงอย่างถูกวิธี มีผลผลิตออกตลาดตลอดปี

สำหรับมือใหม่หัดขับ อาจารย์วีรวุฒิ แนะนำว่า อันดับแรก จะต้องเลือกดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ผสมกับทรายน้ำจืดที่ผ่านการร่อน อัตราส่วน 60 : 40 เพิ่มความโปร่งให้กับวัสดุปลูก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสวยงาม ดึงดูดลูกค้าได้ (แต่หากต้นไหนที่ต้องการทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ก็ให้เพิ่มปริมาณเนื้อดินให้เพิ่มขึ้น เพราะพืชต้องอยู่ในกระถางนานกว่าปกติ ส่วนต้นไหนที่ปลูกเพื่อจำหน่ายก็ให้ลดปริมาณดินและเพิ่มเนื้อทรายเข้าไป)

“โดยทั่วไปแค็กตัสเป็นไม้ที่ชอบน้ำ หากเราให้น้ำในปริมาณมาก ต้นก็จะดูดนำไปใช้มาก ซึ่งจะส่งผลทำให้ผนังเซลล์แตก เชื้อโรคที่มีอยู่ก็เข้าทำลายได้ง่าย ดังนั้น ภายในกระถางปลูกจะต้องระบายน้ำได้ดี

ซึ่งภายในกระถางปลูกจะรองก้นกระถางด้วยถ่าน ขุยมะพร้าวสับ อิฐมอญ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากนั้นก็ใช้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มีธาตุอาหารมากผสมกับทรายน้ำจืดกลบทับอีกชั้นหนึ่ง

ส่วนการให้น้ำ ต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ปลูก โดยสังเกตจากน้ำหนักกระถาง หากมีน้ำหนักมากอยู่แสดงว่ายังมีปริมาณความชื้น ไม่จำเป็นต้องให้น้ำอีกเพราะเนื่องจากแค็กตัสสามารถดูดซับเอาความชื้นจากอากาศมาใช้หล่อเลี้ยงตัวเองได้ แต่หากกระถางน้ำหนักเบา ก็ให้รด 3 วัน 1 ครั้ง แต่หากจะให้แน่ใจให้ดูว่าดินที่ใช้ปลูกมีส่วนผสมของอะไรอยู่บ้าง ในอัตราส่วนเท่าไร สภาพภูมิอากาศ ฤดูกาล เป็นอย่างไร มีความเหมาะสมที่จะให้น้ำหรือไม่ให้ ซึ่งผู้ปลูกจะต้องมีความชำนาญ”

ปัญหาที่มือใหม่หัดขับเจอและไม่อยากที่จะทำ คือการเปลี่ยนกระถางใหม่ รูปร่างที่มีหนามอยู่รอบตัว การเปลี่ยนกระถางแต่ละครั้งต้องพบกับการบาดเจ็บ เลือดตกยางออก เนื่องจากความที่ไม่รู้เทคนิคการเปลี่ยนที่ไม่ให้ตัวเองต้องเจ็บตัว วันนี้ ปัญหานั้นจะไม่มีอีกแล้ว ซึ่งอาจารย์วีรวุฒิได้แนะนำเทคนิคการเปลี่ยนกระถางแบบง่ายสำหรับมือใหม่คือ ให้ใช้ผ้าพันที่ต้นหรือส่วนที่มีหนาม ซึ่งจะมีลักษณะรูปทรงอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ กลมแป้น บอลลูน ทรงสูง จากนั้นยกออกจากกระถาง ล้างรากด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง ตัดแต่งรากให้สวยงาม เพียงเท่านี้ก็นำไปลงในกระถางใหม่ที่เตรียมไว้ เท่านี้แค็กตัสก็จะได้บ้านหลังใหม่โดยที่ไม่บอบช้ำและเราก็ไม่เจ็บตัว

ณ วันนี้ ฟาร์มแค็กตัสของอาจารย์วีรวุฒิ มีแค็กตัสหลากหลายสายพันธุ์ มีทุกขนาด ราคาจำหน่ายตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น ทำรายได้ปีละแสนบาท ทุกพื้นที่ที่ว่างบริเวณบ้านถูกดัดแปลงใช้เป็นสถานที่ผลิตเกือบทุกซองทุกมุมบ้าน

“การทำธุรกิจปลูกแค็กตัสเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ต้องดูแลเหมือนไม้อื่นๆ จะไปต่างจังหวัด 3-4 วัน โดยที่ไม่มีคนดูแล ให้น้ำ พวกเขาเหล่านี้ก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ โดยที่ไม่เหี่ยวไม่ตาย”

ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อทำธุรกิจซื้อ-ขายต้นแค็กตัส สามารถติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 163/190 หมู่บ้านณัฎธรียา อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี อาจารย์วีรวุฒิ มุตโตเพลง โทรศัพท์ 081-868-3688

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2564