พฤกษารักขม…ป่วยใจ หากรักสมุนไพร ไม่กลัว…ยาขม

“คนไทยก็มีความชาญฉลาด ที่นำการแพทย์อายุรเวทมาผสมผสานกับองค์ความรู้การแพทย์พื้นถิ่น แล้วปรับให้เหมาะกับภูมิอากาศ และทรัพยากรที่หาได้ ก่อเกิดเป็นการแพทย์แผนไทย และตำรับยาไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

โดย ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร คำขึ้นต้นในบทความ เรื่อง ยาสมุนไพร ภูมิปัญญาไทยแต่บรรพกาล

ยาสมุนไพรนั้นไม่ต่างจากยาแผนปัจจุบันในแง่ที่ว่า เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นยาก็ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ดังนั้น การใช้สมุนไพรก็อาจพบผลข้างเคียงและอาการแพ้ยาได้เช่นกัน”

โดย ภก. ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร คำขึ้นต้นในบทความ เรื่อง สมุนไพรไม่ใช่ยาขม เข้าใจและเลือกใช้ให้เป็น

ทั้ง 2 คำขึ้นต้นและรายละเอียดเนื้อเรื่องในบทความ ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “คู่มือเภสัชกรรมสมุนไพร เล่ม 1 สมุนไพรไม่ใช่ยาขม” ได้บันทึกเรื่องน่ารู้ ก้าวสู่บทบาทเภสัชกรสมุนไพร จัดทำโดย สภาเภสัชกรรม สนับสนุนการพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยพะเยา พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2558

ได้รับหนังสือที่กล่าวถึงตอนต้นนี้ ในงานสมุนไพรแห่งชาติ เนื่องจากได้ร่วมกิจกรรมเล็กๆ น้อย โดยตอบคำถามสั้นๆ จากบู๊ธนิทรรศการของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดขึ้นที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2559 ซึ่งจัดงานอยู่ประมาณ 10 วัน ได้สัมผัสคุณค่าของสมุนไพรเต็มอิ่ม ทั้งชม ดม ดื่ม และที่สำคัญคือได้เห็น สัมผัสสมุนไพรหลายชนิดที่เคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยเห็นมาก่อนทั้งบางชนิดมีชื่อแปลก ซึ่งไม่คิดว่าเป็นชื่อต้นไม้ แต่ละปีจึงรอที่จะชมงาน “สมุนไพรแห่งชาติ”

แรงบันดาลใจจากที่ได้อ่านบทความของ ภก. ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ที่หัวข้อเรื่อง ว่า “สมุนไพรไม่ใช่ยาขม” แล้วได้ฟังเพลง “ความรักเหมือนยาขม” ของ คุณสายัณห์ สัญญา ทำให้เกิดความรู้สึกสับสนว่า ถ้าสมุนไพรไม่ขมแล้วไม่ค่อยกล้าดื่มดิน หรือไม่ค่อยเรียกหาเรียกใช้ แต่ “ความรัก” เหมือน “ยาขม” ทำไมแต่ละคนจึงอยากจะไขว่คว้าหาความรักกันตลอดมา ความรักเป็นที่ต้องการของทุกเพศและทุกวัย แต่สมุนไพรกลายเป็นของคู่กับ “วัยชรา” ทั้งๆ ที่รู้ว่า สมุนไพรคือภูมิปัญญาตั้งแต่บรรพกาล

ท่าน ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว กล่าวถึงการแพทย์แผนไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง นับเป็นยุคทองของสมุนไพรไทย เพราะพระองค์ทรงมีสวนป่าสมุนไพรที่ใหญ่โตมาก เนื้อที่หลายร้อยไร่ อยู่บนยอดเขาคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบัน ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นป่าสงวนฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าสำหรับในสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าสมุนไพรเป็นทั้งยาและอาหารมาช้านาน มีการส่งเสริมให้คนไทยรู้จักนำสมุนไพรมาดูแลสุขภาพเบื้องต้น เป็นได้ทั้งยาสามัญประจำบ้าน และเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน และของชาติได้ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการพระราชดำริสวนป่าสมุนไพรขึ้นหลายแห่ง แล้วมีการรวบรวมศึกษาค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรในทุกๆ ด้าน ได้แก่ การศึกษาทางชีววิทยา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน

บรรพบุรุษของเราเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาศัย “ยา” ซึ่งประกอบจากสมุนไพร ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่หาได้จากธรรมชาติเพื่อบรรเทาอาการหรือโรค ก็มีการสะสมประสบการณ์ทั้งลองผิด ลองถูก สรุปเป็นองค์ความรู้ถ่ายทอด หรือบันทึกไว้บนแผ่นไม้ แผ่นหิน กระดาน กระดาษ ให้คนรุ่นต่อๆ มาแล้วพัฒนาต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งดูประหนึ่งว่าเป็นจุดเริ่มต้นตลอดมา โดยไม่ถึงเวลาที่จะหยุดนิ่งในการศึกษาค้นคว้า เพราะแม้ว่ายาจากสมุนไพรไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นความรู้ที่ยังไม่จำเป็นต้องถึงปลายทางที่จะใช้ความรู้และประโยชน์จากสมุนไพรมารับใช้มวลมนุษย์นานาชาติ

เมื่อเอ่ยถึงสมุนไพร อาจจะคิดที่จุดเริ่มต้นว่าเป็น “ยาขม” แต่ปัจจุบันเราใช้ประโยชน์จากสมุนไพรโดยลืมคิดถึงพืชวัตถุดิบที่เป็นต้นตอ ที่เป็นตัวยาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราเรียกหาอย่างไม่รู้ตัว หรือเผลอคิดไปว่ามันคือสินค้าทั่วๆ ไป เพราะการพัฒนายาสมุนไพรเพื่อใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันในระบบบริการสุขภาพ เช่น เครื่องสำอางต่างๆ ยาแคปซูล ยาน้ำ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งล้วนแต่จะป่าวประกาศในเชิงการค้าว่าให้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค สามารถปรับธาตุที่บกพร่องคืนความสมดุลกลับคืนให้ร่างกายได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้ตลาดอาหารสมุนไพร อาหารทางเลือก และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรเติบโตในตลาดเพื่อสุขภาพ ทั้งความงาม-กายและใจ จนลืม “ความขม” ลงไปบ้างแล้ว

จากประมาณการเบื้องต้นที่เชื่อว่าพืชสมุนไพรมีตัวเลขถึงแสนชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชนานาชนิด การนำมาใช้เป็นยากลางบ้าน หรือยาแผนโบราณ ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบัน และแม้จะไม่ได้ระบุช่วงเวลาว่าการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นมานานเพียงใด แต่นักประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานว่า การแพทย์แผนไทยคงจะได้รับอิทธิพลจากอายุรเวทของอินเดีย ซึ่งเข้ามาพร้อมกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งก็นับเวลาได้เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ด้วยความชาญฉลาด และภูมิปัญญาไทย การผสมผสานองค์ความรู้และการแพทย์อายุรเวท รวมทั้งภูมิปัญญาการแพทย์พื้นถิ่น บวกกับทรัพยากรหลากหลายชนิดใน “พฤกษาสมุนไพร” ของเราก็ก่อเกิดเป็นการแพทย์แผนไทย และมีตำรับยาสมุนไพรไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมาะกับบริบทของคนไทยอย่างเหมาะสม ซึ่งไม่เพียงแค่การอนุรักษ์ การดูแลสุขภาพจากบรรพบุรุษเราเท่านั้น แต่ประโยชน์คุณค่าที่ตามมาในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปยิ่งใหญ่มหาศาล ดังขอสรุปจาก ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว ทั้ง 3 ด้าน คือ

– ด้านเศรษฐศาสตร์ การใช้ยาสมุนไพรไทยเป็นอัตลักษณ์ของคนไทย ต่างจากวิถีของชนชาติอื่น การดูแลสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทยจะช่วยลดภาระของแพทย์แผนปัจจุบัน และจะได้ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

– ด้านการพึ่งตนเอง จากการส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพร กระตุ้นให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยเกิดนวัตกรรมใหม่ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาระบบบริการสุขภาพจากรัฐ

– ด้านการสานต่อความรู้ของบรรพชน สมุนไพรเปรียบเหมือนมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษถึงคนรุ่นเรา จะเป็นการรักษาและส่งต่อมรดกล้ำค่านี้ในรุ่นต่อๆ ไป

“สมุนไพรไม่ใช่ยาขม” ถ้าหากเข้าใจและเลือกใช้เป็นคำปรารภจากหัวเรื่องในบทความที่ ภก. ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ท่านได้เขียนไว้และชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ๆ ออกวางจำหน่ายมากมาย และไม่ใช่มีเพียงเฉพาะของในประเทศไทย แต่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากต่างประเทศอีกมากมายเช่นกัน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องดื่มผสมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาจากสมุนไพรโดยตรง ก็ทำให้แนวโน้มการตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี และด้วยข้อมูลการเลือกใช้สมุนไพรมีมากมาย ทั้งทางตรงทางอ้อม โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงรวดเร็วและง่ายที่จะรับรู้ หรือตกลงใจจากการนำเสนอทั้งภาพและเสียง เพียงแต่ว่าอาจจะมีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และข้อมูลที่แอบแย่งเชิงพาณิชย์หาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี มุ่งทำเงินรายได้ทางการตลาดโดยตรงก็มี

ท่านอาจารย์ ภก. ณัฐดนัย มุสิกพงศ์ จึงได้แนะนำเว็บไซต์เกี่ยวกับสมุนไพรและยาแผนโบราณไว้น่าสนใจ ได้แก่ www.rspg.or.th ของสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี www.medplant.mahidol.ac.th ของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://herbal.pharmacy.psu.ac.th ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผิดพลาด! การอ้างอิงการเชื่อมโยงหลายมิติไม่ถูกต้องสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น หรือค้นจากฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่างเช่น Pubmed, Springer link, Wiley online library, Sciencedirect, Natural Standard รวมทั้งหนังสือคู่มือการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ปัจจุบัน คำว่า “สาธารณสุขมูลฐาน” เริ่มเป็นที่รู้จักสำหรับการใช้สมุนไพรเพื่อการดูแลสุขภาพในอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นทั่วๆ ไป และมีความปลอดภัยสำหรับการนำมารักษาอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ท้องเสียไม่รุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ไอมีเสมหะ ไข้ กลาก เกลื้อน นอนไม่หลับ เคล็ดขัดยอก อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ก็สามารถใช้ยาสมุนไพรกลางบ้านรักษาอาการได้ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แล้วหยุดยา นอกจากนี้ ภก. ณัฐดนัย ยังมีคำแนะนำการใช้สมุนไพรเบื้องต้น โดยยึดหลัก “5 ถูก” คือ ถูกต้น (ชนิดของต้นไม้) ถูกส่วน (ส่วนที่จะใช้) ถูกขนาด (ปริมาณที่จะใช้) ถูกวิธี และถูกโรค เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปออกมาสะดวกใช้ เช่น ยาลูกกลอน หรือบรรจุแคปซูล ก็ยังควรคำนึงถึงหลัก 5 ถูก ทุกครั้งที่ใช้

หากจะกล่าวถึงคำว่า “ยาขม” ของสมุนไพร ก็คงจะเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันในแง่ที่ว่า ยาทุกชนิดประเภท ย่อมมีทั้งคุณและโทษ หากไม่เข้าใจวิธีใช้ หรือใช้อย่างผิดวิธี สมุนไพรอาจทำให้เกิดอาการ “ผลข้างเคียงจากยา” และ “อาการแพ้ยา” ได้ ซึ่งสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ตุ่มเล็ก ตุ่มโต ตาบวม ปากเจ่อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้นหรือผิวหนัง ใจสั่น ใจเต้น ตัว-ตาเหลือง หรือหากปัสสาวะเหลืองเป็นฟอง ถ้าเกิดอาการนี้ก็จัดว่าเป็นระดับอันตราย

“ยาดีใกล้ตัว” ภก. พินิต ชินสร้อย จาก รพ.วังน้ำเย็น เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน ขออนุญาตนำมาสรุปเสนอ เพื่อจะได้ใกล้ชิดเข้าใจสมุนไพรมากขึ้น อาจจะทำให้รู้สึกลด “ความขม” ของ “รสยา” ได้ เนื่องจากเรื่องสำคัญที่สุดที่ควรทราบในความรู้ที่เกี่ยวกับสรรพคุณเภสัช คือเรื่องรสยา ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกถึงสรรพคุณ หรือกลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาของสมุนไพรชนิดนั้นๆ ในการแบ่งรสของยา นิยมแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ยารสประธาน และรสของตัวยาสมุนไพรแต่ละชนิด

การปรุงยา คือ การเภสัชกรรม คือการผสมเครื่องยาที่กำหนดตามตำรา รวมถึงการฆ่าฤทธิ์ การประสะยา เพื่อลดความรุนแรงหรือพิษของยาลง ในกระบวนการปรุงยาแปรรูปทางเภสัชกรรม เช่น ยาต้ม ยาดอง ยากลั่น หรือยาหุงด้วยน้ำมัน ส่วนสรรพคุณของสมุนไพร ที่ใช้คำว่า สรรพคุณเภสัช ที่นำมาปรุงยาซึ่งทำให้เกิดรสของยา ก็จะต้องกล่าวถึง พิกัดยา น้ำกระสายยา และรสยา รวมถึงข้อห้ามในการใช้ยา

สรรพคุณ หรือกลไกการออกฤทธิ์ของยาสมุนไพร ที่ปรุงจะแบ่งได้ถึง 3 รสหลัก คือ

ยารสร้อน ใช้ในการรักษาโรคทาง วาโย (ลม) เช่น ท้องอืด เฟ้อ จุกแน่น ชา สามารถแก้โรคประจำฤดูฝน สมุนไพรรสเผ็ดร้อน เช่น เบญจกูล ขิง ข่า กะเพรา พริกไทย

ยารสเย็น ใช้รักษาโรคทางเตโช (ไฟ) เช่น ไข้ ร้อนใน แก้โรคประจำฤดูร้อน ในตำรับยาจะมีรสจืดหรือรสขม รับประทานแล้วจะมีความรู้สึกเย็น เช่น ย่านาง ยาห้าราก

ยารสสุขุม ใช้รักษาโรคในกองอาโป (น้ำ) เช่น อาการทางโลหิต หรือลดไข้ที่มีอาการหนาวร่วมด้วย จะเป็นยารสกลางๆ ไม่ร้อน ไม่เย็น เช่น โกฐ เทียน อบเชย ชะลูด เกสรต่างๆ ส่วนใหญ่ปรุงอยู่ในยาหอม

นอกจากการปรุงยา ลักษณะยารสประธานแล้ว ยังมีการแบ่งตามชนิดของสมุนไพร ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น 4 รส 6 รส 8 รส หรือ 9 รส จะมีรสยาสรรพคุณการออกฤทธิ์ยาต่างกัน เช่น ตัวอย่างยา 9 รส ลองท่องจำเป็นบทกลอนตามรอยสุนทรภู่ดูแล้วน่าจำ

“ฝาดสมาน หวานซาบเนื้อ เมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบขม แก้ลมเผ็ดร้อน มันซาบเส้นเอ็น หอมเย็นบำรุงหัวใจ เค็มซาบผิวหนัง เปรี้ยวปราบเสมหะ”

อาจารย์ ภก. พินิต ชินสร้อย กล่าวถึงคนไทย เพราะว่าเข้าถึงยาสมุนไพรและเลือกใช้บำบัดมาก่อนที่การแพทย์ตะวันตกและยาสมัยใหม่จะเข้ามา เราจึงควรช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำสมุนไพรที่ได้รับการคัดเลือกมาใช้เป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ส่งเสริมให้พึ่งตนเองได้ จะได้สอดคล้องกับสโลแกน ว่า “รักษ์ไทย ใช้ยาไทย ไม่ต้องกลัว…ยาขม”

 ความรักเหมือนยาขม

คำร้อง-ทำนอง ก้อง กาจกำแหง

ขับร้อง สายัณห์ สัญญา

 ก่อนเคยเคยรักกันปานดวงใจ พอรู้เธอมาเปลี่ยนแปรไป ดั่งดวงใจจะขาดรอนรอน เธอลืมฉันลง ไม่มั่นคงเหมือนดังแต่ก่อน แฝงไว้ด้วยใจกระล่อน ยอกย้อนหัวใจไม่จริง

หลอกฉัน เธอนั้นรักเพียงลมลม ความรักเธอเหมือนดั่งยาขม ฉันต้องตรมเพราะคารมหญิง เธอแจกหัวใจให้กับชายไม่เคยประวิง หัวใจไม่เคยหยุดนิ่ง รักจริงไม่มีให้ใคร

วังเวงเหว่ว้า รักเธอเท่าฟ้า แต่เธอกลับมาทำลาย เสียแรงรักเธอ แต่เธอไม่เคยเห็นใจ ไปมีคู่ควงคนใหม่ ทิ้งไปไม่หวนคืนมา

จากกันแล้วไกลแสนไกล เธอไม่ได้รักจริงจากใจ เหมือนใครเขาปรารถนา หวังรักหวานชื่น ต้องกล้ำกลืนขมขื่นเรื่อยมา หากแม้นว่ามีชาติหน้า ขออย่าพบคนหลายใจ

จากกันแล้วไกลแสนไกล เธอไม่ได้รักจริงจากใจ เหมือนใครเขาปรารถนา หวังรักหวานชื่น ต้องกล้ำกลืนขมขื่นเรื่อยมา หากแม้นว่ามีชาติหน้า ขออย่าพบคนหลายใจ

 เคยได้ยินคำว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” และคำว่า “หวานอมขมกลืน” ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึก หวานและขม คงไม่ได้มีผลมาจากการดื่มกินจริงๆ แต่พอฟังเพลง “ความรักเหมือนยาขม” ก็ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เรื่อง “น้ำผึ้งขม” นำแสดงโดย คุณสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ และ คุณนฤมล นิลวรรณ เป็นเรื่องของความรักขมเช่นกัน เนื่องจากคำว่า น้ำผึ้ง น่าจะหมายถึงรักที่หวานดุจดื่มน้ำผึ้ง (พระจันทร์) แต่ทำไม๊ น้ำผึ้งจึงขมได้ แล้วนิยายเรื่องนี้ยังมาเป็นละครโทรทัศน์อีกหลายครั้ง ก็แสดงให้เห็นว่า “ความรัก” ชนิด “ขม” ก็มีจริงๆ

แม้แต่ความรักก็ยังขมได้ ทั้งๆ ที่ดื่มด่ำความรักก็ยังกลายเป็นยาขม ดังนั้น หากจะหันมาลองชื่นชมยาสมุนไพร ก็เชื่อว่าคงจะไม่ผิดหวัง เพรา… “จะรักจะชังก็ยังขม กลับมาดื่มมาดมสมุนไพร ถึงอย่างไรขมก็คงไม่ติดลิ้น!”