ดูประเพณีกินหนอนทะเล เพื่อความรุ่งโรจน์ของชาวอินโดฯ จากตำนานเจ้าหญิงยอมตาย

เทศกาลเบา ญาเล เป็นภาษาท้องถิ่นซาซัก มีความหมายว่า การจับหนอนทะเล จัดขึ้นทุกๆ ปีในเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณชายหาดของหมู่บ้านกูตา ในจังหวัดลอมบอกกลาง ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันตั้งแต่ก่อนฟ้ารุ่ง พร้อมกับอุปกรณ์จับปลาแบบท้องถิ่นเพื่อใช้ในการขุดหนอนทะเลตามชายหาด ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์

ชาวบ้านหลายคนมีเชื่อว่าเกี่ยวกับตำนานเจ้าหญิงมานดาลิกา ว่าหนอนทะเลคือ เจ้าหญิงที่จมน้ำในทะเลลอมบอกกลับชาติมาเกิด ซึ่งในตำนานดังกล่าวมีอยู่ว่า เจ้าหญิงมานดาลิกา มีสิริโฉมงดงามยิ่ง จนทำให้เจ้าชายจากทั่วสารทิศของหมู่เกาะอินโดนีเซียต้องการแต่งงานด้วย

นายลาลู เฟาซาล เจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวเล่าตำนานนี้ว่า กษัตริย์ต้องการให้เหล่าเจ้าชายสู้กันเพื่อครอบครองเจ้าหญิง เจ้าหญิงได้ยินดังนั้นจึงไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของการนองเลือด จึงวิ่งหนีลงทะเลและฆ่าตัวตาย

พิธีกรรมกินหนอนทะเลมีผู้สืบทอดปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าศตวรรษ และเพิ่งจะมีการส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา หนอนทะเลที่ชาวบ้านจับมานั้นมีหลากหลายสี ทั้ง สีเขียว สีเหลือง และสีน้ำตาล อีกทั้งยังดูแวววาวภายใต้แสงไฟ

หลังจากจับหนอนทะเลได้แล้ว ชาวบ้านจะนำไปรมควันหรือนึ่ง จากนั้นค่อยกิน ซึ่งบางคนเชื่อว่าหนอนคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความรุ่งโรจน์ นอกจากที่มีการกินหนอนทะเลแล้ว เทศกาลนี้ยังมีการประกวดดนตรีพื้นบ้านและการเดินขบวนวัฒนธรรม

“นี่เป็นการเฉลิมฉลองสำหรับพวกเราที่อาศัยอยู่ที่นี้ เพื่อเจ้าหญิงมานดิลิกา เรายังดีใจอีกด้วยที่ผู้คนมาที่ชายหาดแห่งนี้เพื่อจับญาเล (หนอน)” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว