เที่ยวเชียงราย อันซีน “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน”

จังหวัดที่ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวทางภาคเหนือยอดนิยม จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ เชื่อว่าจังหวัดเชียงรายคงอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ ของหลายๆ คน อย่างแน่นอน แต่สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยว คาดว่า “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน” ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย คงไม่ใช่สถานที่ที่ในใจของใครที่ต้องมาเยือนเมื่อมาท่องเที่ยวยังจังหวัดเชียงรายแห่งนี้

คุ้กกี้งาม้อน

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามคณะของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปจัดสัมมนาศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และหนึ่งในภารกิจก็คือ การเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยแห่งนี้ จึงทำให้ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจ จึงอยากถ่ายทอดให้ผู้อ่านรับทราบ เผื่อครั้งหน้าจะได้ลองไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ และก็จะได้รับความประทับใจกลับมาเหมือนกับผู้เขียน

โดยสถานที่แห่งนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์วิจัยแล้วยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมโรงงานชาน้ำมันต้นแบบ โดยมีเจ้าหน้าที่พาเข้าชมในทุกขั้นตอน ซึ่งมีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย สะอาด มีการคำนึงถึงระบบสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ มีระบบควบคุมการใช้พลังงาน ให้โรงงานเป็นโรงงานที่มีรูปแบบทันสมัย สวยงาม และมีสีสัน ด้านนอกทำเป็นสวนพักผ่อนสาธารณะ เป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม ร่มรื่น และได้ความรู้เกี่ยวกับพืชน้ำมัน

คุณมาริสา ผู้ให้ข้อมูลในการไปเยือน

รวมทั้งสามารถเข้ามาทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียงกับศูนย์ ซึ่งกิจกรรมที่นิยมก็คือ การออกกำลังกาย รับประทานอาหาร ที่ร้าน “เมล็ดชา” ร้านอาหารของศูนย์ที่ใช้น้ำมันชา และผลผลิตด้านการเกษตรจากโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในการประกอบอาหารและจัดทำร้านขายของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าโครงการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค เช่น น้ำมันชา น้ำมันทานตะวัน น้ำมันงา และผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง และ น้ำสลัด เป็นต้น เรียกได้ว่ามาที่นี่ได้ทั้งความรู้และอิ่มท้อง อิ่มตากับความสวยงามของบรรยากาศรอบตัวแบบเต็มอิ่มกันเลยทีเดียว

ต้นชาน้ำมันในศูนย์

โดยในการไปเยือนครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณมาริสา มณีจรัสแสง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคณะของผู้เขียนอย่างยิ่ง โดยได้เล่าประวัติความเป็นมาของศูนย์แห่งนี้ว่า ในปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมัน สายพันธุ์ Camellia oleifera จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลิตน้ำมันเมล็ดชาในประเทศไทย หลังจากนั้น มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมันขึ้น และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมัน ซึ่งศูนย์วิจัยชาน้ำมันจะผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น

น้ำมันมะรุม

น้ำมันเมล็ดชา เป็นที่รู้จักในประเทศจีนมานานกว่า 1,000 ปีแล้ว มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอกและไม่มีกรดไขมันทรานส์ จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ น้ำมันเมล็ดชายังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี และสารคาเทชิน ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น และมีเกิดควันสูงมากกว่า 250 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นผัด ทอด และใช้เป็นส่วนผสมของน้ำสลัดหรือซอสหมักเนื้อสัตว์ได้

น้ำมันเมล็ดชา

นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่เหลือเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกส่วนของพืชนั้นๆ รวมถึงเป็นโรงงานต้นแบบที่สามารถเข้าชมได้ทุกจุดของการดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งปี มีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย และคำนึงถึงระบบเลียนแบบธรรมชาติ มีระบบควบคุมการใช้พลังงานและรูปแบบที่ทันสมัย สวยงาม มีสีสัน ในขณะที่บริเวณด้านนอกได้รับการออกแบบให้เป็นสวนพักผ่อนสาธารณะ เป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยงามและเป็นสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชน้ำมัน และล่าสุดที่นี่ก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบของงานจัดเลี้ยง งานแต่งงาน และการถ่ายภาพครอบครัว ภาพพรีเวดดิ้ง เพียงแต่โทรศัพท์มาสอบถาม จองสถานที่ล่วงหน้าเท่านั้น ทางศูนย์ยินดีต้อนรับทุกคณะ

บรรยากาศภายในศูนย์ฯมองจากร้านอาหารเมล็ดชา

สำหรับวัตถุประสงค์การก่อตั้งก็เพื่อผลิตน้ำมันคุณภาพสูง เช่น น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันเมล็ดไนเจอร์ น้ำมันเมล็ดงาม้อน น้ำมันมะรุม ฟักทอง และผักน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำมันและส่วนต่างๆ ของพืชน้ำมัน เพื่อใช้ประโยชน์ทุกส่วนและเป็นการเพิ่มมูลค่า และที่สำคัญยังเป็นแหล่งรวบรวมศึกษาและทดสอบประโยชน์สูงสุดของพืชน้ำมันต่างๆ ที่สามารถนำมาเป็นสะพานน้ำมันได้ เป็นแหล่งความรู้เรื่องพืชน้ำมัน คุณสมบัติ และกระบวนการผลิตน้ำมัน และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจออกกำลังกายและท่องเที่ยวของบุคคลทั่วไป

ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ศูนย์ผลิตได้

สำหรับแปลงปลูกชาน้ำมันนั้น มูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกต้นชาน้ำมัน ตั้งแต่ปี 2548 โดยนำเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของต้นชาน้ำมันจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาทดลองปลูก ในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 500 เมตร ของภาคเหนือ เช่น บริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง พื้นที่บ้านปางมะหัน และบ้านปูนะ จังหวัดเชียงราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีต้นชารวมกว่า 1 ล้านต้น มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเจริญเติบโต และศักยภาพการให้ผลผลิตของชาน้ำมันในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจรวบรวมและศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชสกุลชา (Camellia L.) ในประเทศไทย ศึกษาและวิจัยการสกัดแยกน้ำมันจากเมล็ด เก็บข้อมูลสำหรับกำหนด ลักษณะอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิต และวิจัยน้ำมันจากเมล็ดชาเพื่อประโยชน์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพืชน้ำมันอื่นๆ อาทิ ฟักทอง Rapeseed มะรุมพันธุ์อินเดีย (Moringa Oleifera) มะเยาหิน (Vernicia montana) ผักน้ำมัน และแมคคาเดเมีย

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเมล็ดชา

สำหรับคุณสมบัติของน้ำมันเมล็ดชา มีกรดไขมันอิ่มตัวหรือไขมันไม่ดีต่ำกว่า 10 ถึง 15% มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือไขมันดีสูง 81 ถึง 87% แบ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวหรือกรดโอเลอิก (กรดโอเมก้า 9) 72-78% กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง คือ กรดไลโนเลอิก (โอเมก้า 6) และกรดแอลฟาไลโนเลอิก (กรดโอเมก้า 3) 1-10% ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวนี้ช่วยลดแอลดีแอล (คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี) และเพิ่ม เอชดีแอล (คอเลสเตอรอลชนิดดี) ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ จึงดีต่อสุขภาพของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้สูงอายุ และผู้รักสุขภาพทั่วไป สำหรับประโยชน์อื่นๆ ของน้ำมันเมล็ดชา สามารถนำไปเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ครีม โลชั่นน้ำมันบำรุงผิว ครีมกันแดด แชมพูสระผมหรือผสมกับน้ำมันหอมระเหย ส่วนกากเมล็ดชาที่เหลือจากการหีบน้ำมันสามารถใช้เป็นยาตัวกำจัดศัตรูพืช เช่น กำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าว และปลาในบ่อกุ้ง

ผัดผักเมล็ดชา

คุณมาริสา ระบุว่า จะเห็นได้ว่าน้ำมันเมล็ดชานั้นมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้ผลิตเครื่องสำอางระดับโลก คือ ชาแนล และลาแมร์ ส่งผู้แทนมาติดต่อขอทำสัญญาการส่งมอบน้ำมันเมล็ดชาให้กับบริษัทเพื่อนำไปผสมเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง โดยพร้อมรับในจำนวนไม่จำกัด แต่ทางศูนย์ไม่สามารถรับได้ เพราะผลผลิตมีจำนวนจำกัด โดยในหนึ่งปีสามารถผลิตน้ำมันเมล็ดชาได้เพียง 1 ครั้ง เท่านั้น จากนั้นก็ต้องพักต้นไปนานกว่า 9-10 เดือน จึงจะเก็บผลผลิตได้อีกครั้ง ในส่วนของชาน้ำมันรวม 90 ตัน ต่อปี ขณะที่ปีที่แล้วประมาณ 190 ตัน ซึ่งต้นชาน้ำมันนี้จะให้ผลผลิตแบบสลับมากน้อยในแต่ละปียังยากที่จะทำตลาดแบบมีพันธสัญญา

โรงงานผลิตน้ำมันชา

ดังนั้น ทางศูนย์จึงต้องนำพืชอื่นๆ มาสกัดน้ำมันควบคู่กันไปด้วย เช่น มะรุม สกัดได้ประมาณ 12 ตัน ต่อปี  ซึ่งน้ำมันมะรุมนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด น้ำมันมีเนื้อบางเบาช่วยลดเลือนริ้วรอย อุดมไปด้วยวิตามินอีที่ช่วยสร้างคอลลาเจนให้กับผิว วิตามินซี ช่วยลดเลือนริ้วรอยจุดด่างดำ รักษาผิวแพ้แดด ฟื้นฟูสภาพผิว วิตามันอีช่วยลดการอักเสบและสร้างความชุ่มชื้น นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เช่น โลชั่นทาผิว ครีมนวดผม สบู่ รวมทั้งยังใช้ในการรักษาสิว ปรับสมดุลของผิวหน้าได้อีกด้วย

น้ำมันงาม้อน 3-4 ตัน เป็นแหล่งของกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 เปรียบเสมือนโอเมก้า 3 แห่งขุนเขา มีบทบาทต่อระบบประสาทและสมองที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ ทั้งยังพบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและภูมิแพ้ และยังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง รวมถึงช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อระบบประสาท และน้ำมันไนเจอร์อย่างละ 3-4 ตัน ต่อปี เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่อุดมไปด้วยวิตามินอี กลุ่มไทโคฟิรอสและไคโตรอีนอส ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ช่วยลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือดได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาจำหน่ายตลอดทั้งปี และมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยจำหน่ายทั้งที่ร้านค้าของศูนย์เองและส่งไปจำหน่ายที่ร้านภัทรพัฒน์ สาขาต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง

รับรองได้ว่า นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนศูนย์แห่งนี้จะไม่ผิดหวัง เพราะจะได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับการผลิตชาน้ำมัน และพืชน้ำมันที่อาจไม่เคยได้รู้จากที่ไหนมาก่อน แล้วยังเพลิดเพลินกับความเขียวขจีของต้นไม้น้อยใหญ่ ณ ศูนย์แห่งนี้ ที่มีพื้นที่กว่า 150 ไร่ บวกกับอาหารที่อร่อยได้คุณค่าจากร้านเมล็ดชา และก่อนกลับก็จะได้ช็อปปิ้งในร้านจำหน่ายสินค้าของศูนย์ เรียกได้ว่าคุ้มค่าต่อการแวะเที่ยวชมอย่างแน่นอน

ถ้าไม่เชื่อก็ต้องลองไปพิสูจน์กัน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา ที่อยู่ เลขที่ 888 หมู่ที่ 10 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ติดถนนใหญ่ มีความสะดวกในด้านการคมนาคม โทรศัพท์ติดต่อ 053-734-140, 053-734-440