ของใช้ชาวบ้าน : โถพลูดินเผา

โถพลู ของเราชาวบ้านมีหลายชนิด บางชนิดเหมาะสำหรับเก็บพลูสดๆ บางชนิดเหมาะสำหรับเก็บพลูแห้ง

คำว่า “พลูแห้ง” ไม่ได้หมายถึง ใบพลูที่แห้งเองตามธรรมชาติ แต่เป็นใบพลูที่ทำให้มันแห้งด้วยความร้อน ก่อนเก็บไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ ถ้าเป็นใบพลูที่ปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาตินั้น ไม่เหมาะสำหรับนำมากินกับหมาก หากแต่เหมาะสำหรับนำไปเป็นปุ๋ยให้พืชต่างๆ

เห็นไหมว่า สิ่งของชนิดเดียวกัน แค่การแปรสภาพในลักษณะต่างกัน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ไม่ต่างอะไรกับคน เราต่างเป็นคนเหมือนกัน เมื่อประพฤติตัวต่างกัน คุณค่าของความเป็นคนก็ต่างกันไปด้วย

โถพลูดินเผา ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ทำมาจากดินเผา แต่ไม่ใช่เผาธรรมดา หากแต่เผาและเคลือบสีเขียวด้วย เพื่อให้มีความคงทนถาวร ของใช้ชิ้นนี้ผลิตขึ้นมาใส่พลูแห้งโดยเฉพาะ เนื่องจากอุณหภูมิภายในจะเย็น ทำให้สิ่งของที่ใส่เข้าไปอยู่ได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย

คุณสมบัตินี้ ทำให้ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ในการถนอมใบพลู ในยามสงคราม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2482-2488 สยามเราเข้าไปอยู่ในสงครามกับเขาด้วยอย่างเลือกไม่ได้ ช่วงนั้นเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง พลูก็แพงกับเขาไปด้วย เพราะพลูเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องกินหมาก แม้เราชาวบ้านจะมีพลูมากมายในสวน แต่การจะออกไปเก็บพลูท่ามกลางเสียงระเบิดตูมๆ คงไม่สนุกนัก

แม้พลูสดๆ จะกินหมากอร่อย แต่ความอร่อยท่ามกลางการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย บวกกลบลบกันแล้วน่าจะได้ไม่เท่าเสีย

ช่วงสงคราม “พลู” มีความสำคัญมาก เพราะคนสยามยังกินหมากอยู่อย่างแข็งขัน

แม้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะชักชวนให้เลิกกินหมาก โดยออกประกาศ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2482 แต่เอาเข้าจริงเราชาวสยามก็หาได้ผ่อนเพลาการกินหมากไปได้สักเท่าใด จะทำอย่างไรได้ ก็ใจมันรักที่จะเคี้ยว “กินหมากสักคำ ฟันดำสักซี่ มีผัวสักคน แก้จนสักที” นี่เป็นคำร้องเล่นๆ ของหญิงชาวบ้านในสมัยนั้น

เรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งห้ามกินหมากนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่หรือวาระแห่งชาติเลยทีเดียว เริ่มต้นที่รัฐบาลประกาศชักชวนให้คนสยามเลิกกินหมาก เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2482 โดยมีมติคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวง ทบวง กรม แนะนำและชักชวนให้ข้าราชการในสังกัดเลิกกินหมากก่อน เรียกว่าใช้ไม้นวมขอร้องกันนุ่มๆ ก่อน

ครั้นต่อมา ในวันที่ 31 สิงหาคม ในปีเดียวกันนั้นเอง ไม้แข็งก็ออกมา แต่ยังใช้คำนุ่มนวลอยู่ นอกจากชักชวนให้เลิกกินหมากแล้ว ยังแจกแจงโทษของการกินหมาก เป็นต้นว่า ฟันสีดำไม่เจริญตา ไม่เป็นอารยชน โดยที่คนไทยสมัยนั้นอย่างเราชาวบ้าน คำว่า อารยชน ยังไม่ค่อยรู้ว่ามีความหมายว่ากระไร นอกจากนั้น ยังแจกแจงพิษภัยต่างๆ ที่เกิดจากการกินหมากอีกมากมาย

ด้วยคำสั่งนี้ ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ต้องยอมอดหมาก และที่เลวร้ายคือ ถ้าชาวบ้านเคี้ยวหมากหยับๆ เข้าไปหาหน่วยงานใดของราชการ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานนั้นบางคนถึงกับไม่ยอมทำงานให้

นั่นเป็นเรื่องความรันทดของคนกินหมาก ส่วนเรื่องความจำเป็นต้องใช้โถพลูดินเผาคือ ช่วงสยามเข้าสู่สงคราม การออกจากบ้านเป็นเรื่องยาก โถพลูดินเผา ซึ่งเหมาะสำหรับเก็บพลูที่ทำให้แห้งจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก

วิธีใช้ก็คือ เก็บพลูขนาดที่ต้องการมา มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ความต้องการ เมื่อเก็บมาได้แล้วเราชาวบ้านก็นำเตารีดออกมา เตารีดสมัยก่อนโน้นเป็นเตารีดที่ใส่ถ่านไม้ ถ่านที่ใส่เตารีดเผามาจากไม้ เมื่อจุดไฟแล้วก็ใส่เข้าไปในเตารีด ความร้อนก็จะถ่ายลงไปพื้นล่าง ช่วงนี้เองเราชาวบ้านก็นำพลูสดๆ ออกมาค่อยๆ รีดให้แห้ง

การนำพลูสดมารีดด้วยเตารีด ชาวบ้านเรียกว่า “นาบ” ดังนั้น พลูที่ได้จากกรรมวิธีนี้ เราจึงเรียกว่า “พลูนาบ”

เราเรียกตามวิธีการผลิต นั่นคือ ใช้ความร้อนจากเตารีดกดลงบนใบพลู เมื่อใบพลูแห้งตามต้องการแล้วก็จับเรียงไว้ในโถพลูดินเผา การทำลักษณะนี้จะเก็บพลูได้มากและเก็บได้นาน เพราะภายในโถพลูดินเผามีความเย็นจากวัสดุธรรมชาติ

นับเป็นภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาของคนชอบกินหมากโดยแท้จริง