นมควาย น้ำนมควายขาวข้น แต่ลูกนมควาย ทำไม? เขียวเหลืองและแดงส้ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uvaria rufa Blume

ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

ชื่ออังกฤษ : Carabao Teats

ชื่ออื่นๆ : พีพวนน้อย หมากผีผวน ติงตัง ตีนตั่งเครือ หำลิง สีม่วน (ภาคอีสาน) บุหงาใหญ่ นมแมวป่า (ภาคเหนือ)

ฉันรู้…ว่าคุณคิดว่าฉันเป็นควาย แล้วพูดไม่รู้เรื่อง แหม…! อ้ายเราก็คิดว่า “ควาย” ไม่ใช่ไว้ไถนาอย่างเดียว “อย่าดูหมิ่นว่าควายนั้นช่างโง่เขลา ใยถึงคิดว่ากล่าวว่าเราไม่ทันสมัย ทั้งสาปกลิ่นโคลนแดดเผาผิวดำเกรียมไหม้ แต่ใยน้ำนมควายจึงกลายเป็นนมขาวข้นราวเนยทอง…” ฉันจึงขอเป็นตัวแทนของเหล่า “คาราบาว” โดยเฉพาะพันธุ์ “มูร่าห์” (Murrah buffalo, bubalus bubalis) จากอินเดีย ที่ให้น้ำนมสูงทั้งปริมาณและคุณภาพ จนได้ฉายาว่า Queen of buffalo คุณสมบัติมีมากกว่า “นมวัว” โดยเฉพาะ Butter fat มีมากเป็น 2 เท่า โปรตีนก็มากกว่าแต่คอเลสเตอรอลต่ำกว่า เหมาะที่จะแปรรูปพร้อมดื่มเป็นชีส หรือเนยแข็ง กี (qhee) โยเกิร์ต รวมทั้งมอสซาเรลลาชีส  เพียงขอเตือนว่าอาจจะไม่เหมาะกับเด็กทารก แต่เหมาะกับหนุ่มๆ ที่อยากจะ “อัปไซซ์หุ่น” ก็ดื่มนมควายกล้ามเป็นมัดๆ แน่นอน

ฉันเชียร์ให้ดื่มนมควาย เพราะตรงกับชื่อฉัน พอเอ่ยชื่อฉัน ยังมีคนไม่รู้จักและไม่ได้คิดว่าเป็นชื่อต้นไม้หรอก เพราะชื่อฉันจะโด่งดังจากป่ามาสู่ท้องถนนข้างทางบนรถเข็นในกระจาดตะกร้าเพียงปีละครั้ง ช่วงเลยกลางปีตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปแล้ว ใครผ่านไปทางอีสานใต้ ตั้งแต่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ถึง อุบลราชธานี จะพบแผงผลไม้ข้างทาง ขนาดลูกตำลึงสีส้มแดง หรือแดงเข้ม ผูกมัดเป็นช่อ หรือชั่งกิโลวางขายตลอดเส้นทางถึงสกลนครก็มีวางขาย

ตอนนี้คงเข้าใจแล้วนะที่ฉันพูดถึง “นมควาย” ก็ฉันหมายถึงตัวฉันเองที่มีถิ่นกำเนิดมาจากหลายท้องถิ่นในต่างประเทศ ทั้งลังกา และอินเดีย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่ฉันชอบอยู่เมืองไทยก็จะเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้งรวมทั้งป่าเบญจพรรณ ฉันมีชื่อเรียกแต่ละภาค หรือแต่ละท้องถิ่น ที่ฉันไม่ชอบเลยถ้าใครเรียกฉันว่า “หำลิง” ฟังแล้วน่าเกลียด จะเรียกนมวัว นมแมว หรือบักผีใดๆ ฉันไม่รู้สึกหรอก แต่ลูกนมควายของฉันนั้นใหญ่กว่าหำลิงแน่ๆ แล้วส่วนตัวฉันเขาก็จัดเป็นประเภทไม้พุ่มเลื้อย ตอนเล็กๆ ขึ้นมาเป็นต้นตรง ต่อไปพัฒนาเป็นเถาไม้เลื้อย เป็นไม้เนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกลหลายเมตร จะเลื้อยขึ้นพันต้นไม้อื่นก็ได้ เถาอ่อนๆ จะมีสีน้ำตาลแดง มีขนเป็นกระจุก ใบเดี่ยวสลับรูปวงรีหรือรูปไข่ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร ปลายเรียวโคนมน ขอบแผ่นใบเรียบ ใต้ใบมีขน ออกดอกตามกิ่งหรือง่ามใบ ช่อหนึ่งมี 2-3 ดอก ดอกหนึ่งมี 6 กลีบ 2 ชั้น มีทั้งดอกเดี่ยวและกระจุก กลีบดอกสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอมแรงเวลากลางคืน เกสรเพศผู้อัดแน่นสีเหลืองแต่จะปะปนกับเกสรที่เป็นหมัน เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ แล้วพัฒนาเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 5-20 ผล ต่อช่อ ผลรูปไข่ ส่วนใหญ่ช่อหนึ่งอาจจะมีมากถึง 6 ผล ผิวย่นมีขนอ่อนๆ ปกคลุม ผลดิบสีเขียวเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และถ้าแก่สุกเต็มที่จะเป็นสีแดงสดเข้มหรือออกส้ม มีเมล็ดอยู่ภายใน แต่ละผลมีมากกว่า 10 เมล็ด ผลรูปไข่กลับเท่ากับลูกตำลึง เนื้อในผลมีสีขาวขุ่นเป็นวุ้นเม็ดในสีดำ ถ้าเป็นช่วงผลอ่อน นำมาตำผสมน้ำทาแก้ผดผื่นคันตามตัว ผลสุกแก่จัดเป็นยารักษาโรคหืด หากนำมารับประทานโดยปอกเปลือกก็จะมีรสหวานหอมอมเปรี้ยว หรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ทำไวน์ ทำผลไม้อบแห้ง

ตัวฉันเองภูมิใจที่คนรู้จักมาตั้งแต่โบราณกาลในด้านสมุนไพรหายาก เพราะไม่ค่อยมีคนปลูกในพื้นที่บ้าน ส่วนใหญ่พบฉันได้ในป่าธรรมชาติ ซึ่งจะออกดอกช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคมนี้ หรืออาจจะเริ่มติดผลบ้างบางท้องถิ่น แล้วจึงสุกแก่ช่วงกลางปี คนเข้าป่าเก็บมาขายข้างทาง สำหรับคนที่รู้จักฉันมาตั้งแต่โบราณปู่ ย่า ตา ทวด เขาก็ใช้เถารากมาเป็นยาสมุนไพร ที่ปลาบปลื้มใจที่สุดก็คือที่รู้ว่า ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี ท่านเคยป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ทางแพทย์ให้ท่านผ่าตัด แต่ท่านกลับมาใช้ “เถาแห้งของต้นนมควาย” มาปิ้งให้เหลืองแล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ ชงดื่ม แค่นี้ฉันก็ภูมิใจที่สุดแล้ว นอกจากนั้น แพทย์พื้นบ้านอีสานยังนิยมใช้นมควายเป็นหนึ่งในสมุนไพรรักษากามโรค รวมถึงการใช้เพื่อรักษาไตพิการ

ชื่อของ “นมควาย” มันแปลกจริงๆ เพราะเวลานำมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ใช้ “น้ำนม” หรือน้ำยางข้นเหมือนนม  กลายเป็นใช้ส่วนของแก่น ราก เถาต้น ผล มาใช้อย่างผลนี่ใช้เป็นยาเย็นถอนพิษไข้ สำหรับแก่นและรากนำมาต้มรวมเป็นน้ำดื่มแก้ไข้กลับหรือใช้ซ้ำ รวมทั้งแก้ของแสลงที่เป็นพิษจากการกิน ส่วนสตรีหมอพื้นบ้านนิยมใช้รากเป็นยากระตุ้นการคลอดบุตร เช่นที่เกาะลูซอน มินดาเนา ฟิลิปปินส์ ใช้รากนมควายนำมาแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ให้ผู้หญิงคลอดบุตรดื่มเป็นยาเพิ่มการบีบตัวของมดลูกเร่งการคลอด จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม Carabao Teats รากนมควายมีรสเย็นเหมาะสำหรับสตรีคลอดบุตรอยู่ไฟไม่ได้ ถ้าเป็นภาคอีสานจะใช้รากนมควาย รากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนา ลำต้นอ้อยแดงต้มน้ำให้เดือด แล้วดื่ม ให้สตรีบำรุงเลือดได้ดี ลำต้นส่วนกิ่งก็ใช้เป็นวัตถุดิบประกอบการย้อมผ้าฝ้าย ผ้าไหม โดยสกัดด้วยตัวทำละลายสี อ้อ..! กินฉันทั้งลูกก็แค่ปอกเปลือก กินได้ทั้งเมล็ดเลยนะ เนื้อและเมล็ดมันติดกัน กินแล้วเอาเมล็ดไปปลูกต่อให้ฉันด้วยนะขึ้นได้ทุกที่ แต่คนไม่ค่อยนิยมปลูกฉัน ก็รอเก็บผลผลิตจากป่าแต่ละปี

ฉันอยู่ในป่าส่วนใหญ่รวมทั้งพื้นที่ชายแดนไทยติดกัมพูชา แค่จังหวัดยโสธรก็มีขายเต็มไปหมด ฉันออกมาปีละครั้ง ส่วนใหญ่เรียกฉันว่า “หมากผีผ่วน” ไม่เป็นไร เรียก “ผี” ก็ได้ แต่ที่แน่ๆ เดี๋ยวนี้เขาขายเป็น “นมควายแคปซูล” ทันสมัยมั้ยละ อย่าดูถูกควายนะ ไม่เชื่อลองโทร.สั่งจองที่ “ลำปางรักษ์สมุนไพร” สิ เอากี่แผงแคปซูลหละ..! มอ..!ๆๆ