ผู้เขียน | สัจภูมิ ละออ |
---|---|
เผยแพร่ |
อะไรเอ๋ย มีตาอยู่รอบตัว
คำตอบคือ สับปะรด ดินแดนสับปะรดหวาน ในประเทศไทยเรามีอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งมีสับปะรดอยู่หลายพันธุ์ เป็นต้นว่า สับปะรดภูแล ถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จากนั้นก็กระจายไปสู่ถิ่นอื่นๆ
แถวภาคกลางตอนใต้ อย่าง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็มีสับปะรดเหมือนกัน พันธุ์ที่รู้จักกันก็อย่าง ปัตตาเวีย ฟังชื่อแล้วบอกยี่ห้อว่าถิ่นฐานมาจากเมืองแขก แต่จะเป็นแถวๆ ปัตตานี หรืออินโดนีเซียนั้น ผู้เขียนไม่กล้าฟันธง
นอกจากพันธุ์ปัตตาเวียและภูแลแล้ว ก็มีพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากเกษตรกรไทยปัจจุบันมีความรู้ มีความสามารถสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเองได้
ขึ้นชื่อว่า สับปะรด ไม่ว่าจะเป็นถิ่นไหน พันธุ์อะไร ล้วนต้องมี “ตารอบตัว” นั่นคือ มีตามากมายเต็มไปหมด คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการปอก กว่าจะได้รับประทานแต่ละครา อาจต้องถอดใจ หรือไม่บางคนก็โดนหนามทิ่มเข้าไปด้วย
การปอกสับปะรด เราชาวบ้านมีเครื่องมือช่วย นั่นคือ มีดปอกตาสับปะรด หลังจากที่เราปอกเปลือกออกหมดแล้ว ปกติเราต้องใช้มีดแซะเอาตาออก คนที่มีความชำนาญก็ทำได้รวดเร็ว แต่คนที่ไม่มีความชำนาญ บางคราก็ไม่ได้รับประทานดีๆ เพราะปล้ำแกะตาสับปะรดเสียจนผลช้ำไป
ถ้าเรามีมีดปอกตาสับปะรด ปัญหาผลสับปะรดช้ำก็จะหมดไป
หน้าตาของมีดปอกตาสับปะรด มีด้ามเหมือนมีด ตัวใบมีดยาวประมาณ 6 นิ้ว ตัวใบมีดกว้างเกือบๆ 1 นิ้ว มีร่อง 3 ร่อง และมีปลายแหลมคม 3 ปลาย ทั้งหมดอยู่ในตัวมีดเล่มเดียวกัน
การใช้ เราชาวบ้านซื้อมีดปอกตาสับปะรดจากตลาด อาจเป็นตลาดนัด ตลาดสินค้าเกษตร และตลาดทั่วไป สถานที่ซื้อนี้ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันว่ามีดื่นดาษทั่วไป เพราะนานๆ ถึงจะเห็นผ่านตาสักครั้ง ราคา 1 เล่มประมาณ 70 บาท บางแห่งบางที่อาจถูกหรือแพงกว่า นั่นขึ้นอยู่กับแหล่งผลิตตีราคา หรือไม่ก็ผู้ขายเอากำไรมากหรือน้อยนั่นเอง
ซื้อมีดมาแล้ว ก่อนจะใช้มีดปอกตาสับปะรด เราต้องปอกเปลือกสับปะรดก่อน แล้วใช้มีดปอกตาสับปะรดจรดลงไปบริเวณที่มีตา ค่อยๆ เคลื่อนตัวมีดไล่เก็บตาสับปะรดไปเรื่อยๆ ลักษณะการไล่เก็บมักทำเป็นแนวยาว และเป็นริ้วโค้งไปตามแนวตาของสับปะรด
เมื่อจัดการกับตาสับปะรดแล้ว คราวนี้จะนำสับปะรดไปรับประทานกับเกลือ รับประทานเปล่าๆ หรือจะเอาไปต้มยำทำแกงอะไรก็ตามสบาย
สับปะรด เป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน เห็นได้จากเรามีสำนวนพูดเกี่ยวกับสับปะรด เช่น ตาสับปะรด หมายถึง มีหูตากว้างไกล หรือมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมายคอยสอดส่องดูแลให้ มิได้หมายความว่ามีตามากมายเหมือนสับปะรดจริงๆ
ตัวอย่าง เช่น “แหม!…คุณอาจินต์นี่ ตาเหมือนสับปะรดเลยนะ” นั่นหมายความว่า คุณอาจินต์มีคนช่วยสอดส่องดูแลมากมาย มีเรื่องราวข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องก็รู้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
และยังมีสำนวนว่า ไม่เป็นสับปะรดอีก ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้เรื่อง ตัวอย่าง เช่น พูดจาไม่เป็นสับปะรด หมายความว่า พูดจาไม่ได้เรื่องได้ราว ทำงานไม่เป็นสับปะรด หมายถึง ทำงานไม่ดี ไม่ได้เรื่องได้ราว เป็นต้น
คนไทยเรา นอกจากนำสับปะรดมารับประทานเป็นผลไม้แล้ว เรายังนำมาเป็นวัสดุปรุงอาหารด้วย อย่าง แกงบางชนิดเราก็ใส่สับปะรด ผัดเปรี้ยวหวาน แกงคั่ว ต้มหมู เป็นต้น
เปลือกสับปะรดเมื่อปอกเสร็จสรรพ เรานำเนื้อไปรับประทาน ส่วนเปลือกนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น นำไปหมักเป็นปุ๋ย นำไปใส่ต้มต่างๆ ที่ต้องการให้เปื่อยเร็วๆ และยังนำไปใส่โอ่งน้ำปลาเพื่อให้น้ำปลารสชาติดี และสีสวยอีกด้วย
มีดปอกตาสับปะรด นับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อ “ใช้ประโยชน์” นับเป็นภูมิรู้ที่ “เป็นสับปะรด” จริงๆ