ของใช้ชาวบ้าน : เหล็กเจาะถุงทอง

ทองคำ เป็นเครื่องประดับของคนทั้งโลก

มนุษย์รู้จักใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับมาแสนนาน อย่างการขุดค้นโบราณสถานของอียิปต์โบราณ พบเครื่องประดับของกษัตริย์ทำด้วยทองอายุราวๆ 6,000 ปีมาแล้ว และยังพบว่า คนโบราณใช้ทองคำทำเป็นอุปกรณ์สำคัญในพิธีทางศาสนาด้วย

ส่วนคนไทยเรา ดินแดนที่เราอาศัยอยู่เก่าก่อน เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” แปลว่า แผ่นดินทอง บริเวณที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เรายังเรียกอีกชื่อว่า “แหลมทอง” และหลายๆ จังหวัดในประเทศไทย ยังแปลความว่า “เมืองทอง” หรือเมืองที่มีทอง เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และ อ่างทอง เป็นต้น

ชาวไทยให้ความสำคัญกับทองคำไม่แพ้ชาติอื่น เราใช้ทองแลกเปลี่ยนสินค้ากันมายาวนาน บางบรรทัดของประวัติศาสตร์อยุธยา บันทึกว่ามีชาติใกล้ๆ บ้านเราเผาทองจากพระพุทธรูปไป หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจของคนรุ่นต่อๆ มา

เอาเข้าจริงแล้ว ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร เรายังไม่ค่อยรู้ชัดนัก เพราะหลากสำนักก็หลายข้อคิดเห็นและมุมมอง จนคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เพิ่งศึกษาประวัติศาสตร์ปวดหัวไปตามๆ กัน เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี

เชื่อได้แน่นอนคือ ทอง เป็นของมีค่า

การซื้อขายทองในปัจจุบัน ร้านทองจะมีตลับเล็กๆ สีแดงใส่ให้ลูกค้า และมีสำลีสีขาวๆ รองอยู่ในตลับด้วย หลังเราซื้อทองคำแล้ว ไม่ว่าจะซื้อสลึง บาท หรือหลายบาท แม่ค้าทองคำจะเอาตลับทองคำนั้นใส่ถุงสีแดง เราเรียกถุงสีแดงนั้นว่าถุงทอง ลักษณะของถุงทองมีรูปแบบเหมือนๆ กันคือ เป็นถุงสี่เหลี่ยม ทำด้วยผ้าคล้ายๆ จะเป็นผ้ากำมะหยี่ ปากถุงมีเชือกร้อยสำหรับรูด ปิด-เปิด ปากถุง เชือกสีแดงที่ใช้รูดปากถุงนั้นจะต้องมีรูสำหรับใส่เชือก

รูใส่เชือกนั้นต้องเจาะด้วยเหล็ก เราชาวบ้านเรียกเครื่องมือนี้ว่า เหล็กเจาะถุงทอง

หน้าตาของเหล็กเจาะถุงทอง รูปสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 1 คืบ ด้านหัวทำเป็นเงี่ยง 2 เงี่ยง ด้านท้ายปล่อยไว้เป็นรูปสี่เหลี่ยมตามแท่งเหล็ก

เวลาใช้เราชาวบ้านก็เอาด้านที่มีเงี่ยงสองอันนั้นวางลงไปบริเวณริมปากถุง แล้วใช้ค้อนเล็กๆ ตอกเข้าไป ปากถุงก็จะขาดตามรูปเงี่ยงเหล็กนั่นเอง

เราชาวบ้านตอกบริเวณปากถุง 2 จุด คือจุดด้านซ้ายและขวา ใช้เชือกร้อยเข้าไป ตัดเชือกให้พอเหมาะ ผูกปมกันหลุด คราวนี้ก็ลองรูด ปิด-เปิด ทดสอบเสร็จแล้ว ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เราก็จะได้ถุงทองตามต้องการ ถ้าเกิดผิดพลาดใดๆ ก็ต้องซ่อมแซม

ถุงทองเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย

ดังนั้นเอง ช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่าง ตรุษจีน สงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด และวันมงคลต่างๆ ชาวไทยเชื้อสายจีน และคนไทยมักส่งภาพถุงทองให้แก่กัน คนรวยๆ ก็ส่งถุงทองที่มีทองจริงๆ ให้กับลูกหลาน ญาติมิตร ส่วนคนจนๆ ก็ส่งภาพสติ๊กเกอร์รูปถุงให้กัน เพื่อสื่อให้รู้ว่าต้องการให้ผู้ได้รับมีความเจริญรุ่งเรือง มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และร่ำรวยนั่นเอง

เหล็กเจาะถุงทอง ไม่ได้พบในร้านขายของทั่วไป เพราะไม่ได้มีใช้กันอย่างแพร่หลาย หากแต่มีเฉพาะในกลุ่มอาชีพทำถุงทองส่งร้านทองเท่านั้น ทำให้หาโอกาสดูได้ยาก

อาชีพทำถุงทอง เป็นอาชีพอิสระ เจ้าของร้านทองจะนำเอาวัสดุ อาทิ เชือก ถุงที่เย็บปากถุงมาแล้ว และมีตราร้านทองประดับอยู่เรียบร้อยแล้วมาให้คราวละมากๆ คือครั้งละหลายๆ ร้อยถุง แล้วว่าจ้างทำเป็นคราวๆ ไป ค่าแรงเจาะใส่เชือกร้อยถุงทองคิดเป็นร้อย ร้อยถุงคิดค่าจ้างเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงราคากัน แต่อย่างไรก็ตาม ปี พ.ศ. 2561 นี้ ค่าเจาะถุงทอง 100 ถุง ราคาไม่เกิน 50 บาท

ส่วนการทำเหล็กเจาะถุงทอง ชาวบ้านที่เจาะถุงทอง มักไม่ได้ทำขึ้นมาเอง แต่นำแบบไปให้ช่างตีเหล็กทำขึ้นมาคราวละหลายๆ อัน

สาเหตุที่ต้องทำขึ้นมาครั้งละหลายๆ อันก็เพราะว่าเผื่อหาย เผื่อเงี่ยงหัก และที่สำคัญ ถ้าสั่งทำคราวละอันสองอัน ช่างตีเหล็กคงไม่มีความสุขที่จะทำให้แน่ๆ

เหล็กเจาะถุงทอง เครื่องมือของคนรับจ้างทำถุงทอง แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หากเจ้าของร้านทองยังใช้ถุงทองอยู่ เหล็กเจาะถุงทองย่อมยังอยู่สืบไป

เหมือนกับคนทำความดี ตราบใดที่ยังรักษาความดีอยู่ ย่อมเป็นคนดีตลอดไป