ที่มา | วิถีชาวบ้าน |
---|---|
ผู้เขียน | อาจินต์ ศิริวรรณ |
เผยแพร่ |
ขออนุญาตกล่าวถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และอาจจะมีอีกหลายครั้งของหลายแง่มุม เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดบ้านเกิด เติบโตมา ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วยความภาคภูมิใจ
โดยเฉพาะ ตำบลลานสกา อำเภอลานสกา ที่เป็นที่ฝังรก
ว่ากันว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งเป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมือง และเป็นปฐมวงศ์ ของราชวงศ์ปทุมวงศ์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์
ตามประวัติที่มีนักศึกษาประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งได้ค้นคว้า ซึ่งตรงกันกับบันทึกสมุดข่อยที่หอสมุดแห่งชาติ พบว่านครศรีธรรมราช สถาปนาขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1830 ซึ่งเป็นการสถาปนาหลังจากอาณาจักรศรีวิชัย ล่มสลายไปแล้ว เพราะอาณาจักรศรีวิชัย อยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 1000 ถึง 1800
จากการที่ได้อ่าน ประวัติของนครศรีธรรมราช ในช่วงปี พ.ศ. 1800 ถึง 1830 หายไปไหน แล้วเมืองช้างค่อม ที่นักประวัติศาสตร์ บอกว่าเป็นเมืองที่อยู่ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย อยู่ที่ไหน วานผู้รู้ วานนักประวัติศาสตร์ กรุณาสืบค้น
ตามประวัติ ที่มีคนค้นพบในบันทึก บอกว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช มีพระอนุชาสองพระองค์ องค์แรกมีพระนามว่า พระเจ้าจันทรภาณุ องค์ที่สอง พระนามว่า พระเจ้าพงษาสุระ เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งเป็นพี่ชายองค์โตได้เสด็จสวรรคตลง พระเจ้าจันทรภาณุ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ และได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ตามราชศักดิ์
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากพระเจ้าศรีธรรมโศกราชองค์ก่อนสวรรคต องค์ต่อมาก็จะมีราชศักดิ์ เดียวกัน
จากคำบอกเล่า และหลักฐาน ที่ปรากฏ พบว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (พระจันทรภาณุ) เป็นผู้สร้างพระบรมธาตุขึ้น หลังจากที่พระองค์ได้ไปเจอพระทนต์ ของพระพุทธเจ้าอยู่ในผอบ บนหาดทรายแก้ว มีเรื่องเล่ามากมายในตอนที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชไปเจอ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า มีกาดำ กาขาว และมีปากเป็นเหล็ก บินว่อนอยู่เหนือผอบที่ฝังอยู่บนหาด มียักษ์หน้าตาถมึงทึง เขี้ยวโง้ง เดินวนเวียนอยู่รอบๆ คอยปกป้องไม่ให้ใครเข้ามาทำลายผอบนั้น
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้เห็น จึงทำพิธีบวงสรวง และปราบทั้งกาปากเหล็กและยักษ์เหล่านั้นได้ แล้วจึงได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นมา เป็นรูประฆังคว่ำ เป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้
พระเจ้าศรีธรรมโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) หลังจากครองเมืองนครศรีธรรมราช มาระยะหนึ่ง ได้เกิดไข้ห่าระบาด ผู้คนล้มตายมากมาย พระองค์จึงได้ย้ายและอพยพผู้คนหนีไข้ห่าขึ้นไปตามต้นของสายน้ำ และประทับอยู่ที่นี่จนไข้ห่าที่ระบาดหายไป
ด้วยพระปรีชาของพระองค์ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ทรงคิดวิธีรักษาไข้ห่าให้กับผู้คนโดย เอาปรอทมาทำเป็นหัวนะโม แล้วหว่านไปทั่วต้นน้ำนั้น ผู้คนที่ใช้น้ำจากน้ำสายนี้ทั้งการหุงต้มและการดื่มกิน ปรากฏว่าไข้ห่าที่ระบาดอยู่นั้นได้หายไปจากนครศรีธรรมราชนับแต่นั้น และทรงเสด็จกลับเข้าเมืองนครศรีธรรมราชอย่างถาวร
สถานที่ที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชมาประทับ ก็คือตำบลลานสกาในปัจจุบัน
ที่ที่ทรงประทับ ต่อมาได้สร้างเป็นวัดขึ้นมา ชื่อว่าวัดน้ำรอบ ด้วยมีต้นน้ำสองสายไหลโอบทั้งสองข้าง ต่อมาจึงย้ายวัดออกมาสร้างใหม่ด้วยที่เดิมนั้นมีเนื้อที่น้อยเกินไป ในปี 2510 พระครูขาบขึงได้กลับมาบูรณะขึ้นมาใหม่ และได้สร้างพระรูปจำลององค์ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช มาประดิษฐาน เพื่อเตือนใจว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
ต่อมาในปี 2518 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่น้ำหลากจากภูเขา พัดพาสิ่งปลูกสร้างและพระรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราชสูญหายไป มาถึงปี ชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้ขุดค้นพบแท่นประทับซึ่งทำด้วยหิน
หลังจากนั้น ชาวบ้านและผู้นำชุมชน ได้พัฒนาสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยสมทบทุนสร้างมณฑป และสร้างพระรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราชขึ้นมาใหม่ แล้วประดิษฐานไว้ในมณฑปนั้น และปรับพื้นที่ให้ดูสะอาดสะอ้านสบายตาน่าท่องเที่ยว มีสายน้ำเย็นฉ่ำใส ไหลตลอดปี และเป็นที่ที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ตามประวัติศาสตร์อาจผิดแผกแตกต่างไปจากคนอื่นบ้าง ถ้าผิดก็ขออภัย แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพราะความภาคภูมิใจ ในตัวตนคนลานสกา และรักลานสกา รักนครศรีธรรมราช เท่านั้นเอง