ชวนต้มน้ำสมุนไพรโบราณ “อ้อยขาไก่ดำ”

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้แวะไปเที่ยวกาดอินทรีย์เล็กๆ ที่ซอยเพิ่มมิตร ถนนสันเหมือง ตำบลเวียง อำเภอเมืองลำพูน กาด “รักพูนพูน” นี้ เริ่มติดทุกเช้าวันเสาร์มาตั้งแต่ราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำทา และอีกหลายกลุ่มในเขตอำเภอเมือง อำเภอลี้ โดยมีลูกค้าเป็นชาวบ้านในละแวกย่านนั้นเอง นอกจากผักปลอดสารชนิดต่างๆ แล้ว มีแยมดีๆ อย่างแยมสับปะรดอินทรีย์ ซีอิ๊วขาวรสดี และเต้าเจี้ยวอินทรีย์บ้านสันป่ายาง เชียงใหม่ กระเจี๊ยบแดงตากแห้ง และที่คุณภาพเยี่ยมมากๆ เลยก็คือ “มะตูมป่าอบเตาฟืน” ที่พอต้มแล้วกลิ่นหอมแรงกว่าทุกเจ้าที่ผมเคยซื้อมาก่อนหน้าทั้งหมด

ที่นี่ยังมีร้านเบเกอรี่โฮมเมดเพื่อสุขภาพ ทำพิซซ่าเตาดินขาย เน้นวัตถุดิบออร์แกนิก ทั้งแป้งพิซซ่า ซอส ผักต่างๆ ทำเตาดินเอง แล้วยังสอนทำพิซซ่าโฮมเมดด้วยครับ

ที่สะดุดตาผมคือน้ำสมุนไพรสีแปลกๆ ของร้านเล็กๆ ร้านหนึ่ง เมื่อสอบถามก็ได้ความว่ารับมาจาก “สวนมุจลิน” เครือข่ายคนมอญ บ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งได้เคยร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีการอบรมถ่ายทอดความรู้เก่าๆ จากผู้อาวุโสให้เด็กมอญรุ่นใหม่ๆ เช่น แห่หงส์ แห่ธงตะขาบ ปรุงแกงโบราณ อย่าง แกงขี้เหล็ก แกงดอกส้าน แกงกล้วยดิบ แกงปลาปั้น รู้จักทำข้าวแช่ เม็ดขนุน และลอดช่องอย่างโบราณ ทั้งยังเคยมีงานวิจัยของคนท้องถิ่น เรื่อง “กระบวนการฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านมอญสู่การเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชน องค์ความรู้ท้องถิ่นและความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนบ้านหนองดู่ – บ่อคาว” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุนเมื่อ พ.ศ. 2555 ด้วย

น้ำสมุนไพรสีน้ำตาลเข้ม รสอ่อนใสชุ่มคอที่ผมเห็น คือ “น้ำอ้อยดำ-ใบเตย” นอกจากนี้ ก็มีสูตรแปลกๆ อย่างน้ำมะม่วงกวน-มะขามเปียก-ข่า, น้ำถั่ว 5 สี, น้ำกระเจี๊ยบพุทราจีน ผมชอบน้ำอ้อยดำที่สุด ด้วยว่ารสมันแปลกลิ้น ไม่หวานมาก แล้วก็หอมอ่อนๆ ดี

……..

ออกจากกาด “รักพูนพูน” มาตอนสายๆ พวกเราก็เลยตั้งใจไปบ้านดู่กัน อยากจะไปลองชมสวนเกษตรอินทรีย์ที่นั่นดูน่ะครับ

จากการแนะนำของคนพื้นที่ พวกเราก็เลยได้พบ คุณลุงจันทร์ เขียวพันธุ์ และภรรยา ซึ่งเป็นคนบ้านดู่ผู้แข็งขันในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญโบราณ ผนวกกับความรู้วิชาการสมัยใหม่ด้านต่างๆ สร้างขึ้นเป็นกรอบเค้าโครงอัตลักษณ์แก่คนมอญรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้น ทั้งในเขตบ้านดู่ และมอญบ้านอื่นๆ ในจังหวัดลำพูนเอง

แม้จะเล่าว่า คนมอญแถบนี้ “เพิ่งมาภูมิใจในความเป็นมอญเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง” แต่ความที่คุณลุงจันทร์สนใจสอบค้นเอกสารเก่าๆ อุตสาหะเพียรสอบถามเรื่องราวต่างๆ จากคนเฒ่าคนแก่ ก็ทำให้ลุงมีเรื่องสนุกๆ มาเล่าให้ฟังมากมาย เช่นบอกว่า อาหารมอญที่นี่เน้นเอากล้วยดิบ ยอดจิก ขี้เหล็ก มะซ่านหลวงหรือมะตาด บอน (เรียก “ผักหวาน” แทน เพื่อแก้เคล็ดอาการคัน) และกล้วยมอญลูกป้อมๆ มาปรุงเป็นกับข้าวรสอ่อนๆ ไม่เผ็ดจัด  โดยเฉพาะแกงอย่างพิเศษ ที่เดี๋ยวนี้หาคนทำยากแล้ว ก็คือ “แกงปลาปั้น” ทำด้วยเนื้อปลาขูดปั้นเป็นลูกชิ้นกลมๆ คลุกข้าวคั่วป่นจนทั่วลูก ก่อนจะเอามาปรุงแกงนั้น มันทำให้รู้สึกอยากลงมือแกงกินร้อนๆ เสียเดี๋ยวนั้นเลยจริงๆ พวกเราไม่ต้องถามถึงน้ำสมุนไพรอ้อยดำใบเตย เพราะคุณลุงจันทร์และคุณป้าผู้เป็นภรรยา ได้ยกขวดที่แช่น้ำแข็งไว้จนเย็นฉ่ำมาให้ลองดื่มกัน แถมยังพาเดินไปดูกออ้อยที่ขึ้นหนาแน่นเป็นดงอยู่หน้าบ้านด้วย

“อ้อยดำ” ที่ว่านี้ เป็นอ้อยลำเล็กๆ ครับ ผิวเปลือกสีแดงอมน้ำตาลจัดจนเกือบดำ คุณป้าบอกว่า เมื่อต้มกับใบเตย เคี่ยวให้น้ำงวดลงจนสีออกเข้ม จะได้น้ำสมุนไพรรสหวานอ่อนๆ มีสรรพคุณบำรุงไตอย่างดีเลิศ ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะได้ทุกวันเท่าที่ต้องการ

……..

อ้อยดำ หรือ อ้อยแดง อ้อยขม (Saccharum sinense Roxb.) นี้ หมอสมุนไพรไทยต้มให้คนไข้กินเป็นยาน้ำที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะเป็นหลัก หรือระยะหลังนี้ก็เชื่อกันว่า ถ้าต้มกับใบเตย จะมีสรรพคุณสำคัญช่วยล้างทำความสะอาดเส้นเลือดฝอยที่ไต ตามสูตรที่คุณลุงจันทร์ต้มนี้เป๊ะเลยแหละครับ

อย่างไรก็ดี อ้อยดำนั้นมีหลากหลายลักษณะแยกย่อยลงไปมาก ที่รู้จักกันดีทั่วไปจะปล้องใหญ่เท่าๆ กับอ้อยธรรมดา ส่วนกอที่สวนของลุงจันทร์นั้น ปล้องเล็กกว่า เมื่อผมลองค้นดูในอินเตอร์เน็ต จึงพบว่าที่จริงมันคือ “อ้อยขาไก่ดำ” คือมีขนาดเท่าขาไก่เลยทีเดียว มีสรรพคุณเดียวกัน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อผม “เห็น” กออ้อยกอนั้นแล้ว ก็กลับพบว่า มันเป็น (วัช) พืชข้างทางที่ขึ้นแซมแทรกอยู่ตามที่ลุ่มชื้นแฉะแถบภาคกลาง บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ทั่วไปนี่เองแหละครับ แถวบ้านผมก็มี หลังกลับจากลำพูน เมื่อผมออกไปปั่นจักรยานออกกำลังตอนเช้าแถวย่านหนองแขม บางบอน หรือริมคลองภาษีเจริญ ก็เห็นว่ามีอยู่หลายแห่ง จึงได้ลองหักมาต้มกินบ้าง นับเป็นสมุนไพรที่หาได้ฟรีๆ ตามริมทางอีกอย่างหนึ่ง

แต่ทว่าทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ดังนั้น ดงอ้อยดำตามริมทางของผมจึงค่อยๆ หดหายไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์บ้าง ลานจอดรถบ้าง ล่าสุด ดงใหญ่อีกดงหนึ่งของย่านบางบอน ในซอยร่มไทร ช่วงก่อนจะมาเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก ที่ผมปั่นจักรยานผ่านไปเกือบทุกวัน ก็ถูกเกรดทิ้งไปเกือบทั้งดง เพื่อสร้างกลุ่มบ้านพักคนงานก่อสร้าง

ผมก็เลยต้องมีมาตรการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ขึ้นมาบ้าง โดยตัดเอาลำอ้อยขาไก่ดำที่เหลืออยู่นั้นมาสองสามท่อน เพาะไว้ในโอ่งน้ำที่บ้าน

ตอนนี้รากสีขาวๆ งอกออกมาแล้ว รอให้ผมไปหาที่เหมาะๆ ริมน้ำ หรือที่ลุ่มๆ แฉะๆ ที่ไหนสักแห่ง ปลูกเพาะให้กลับเป็นดงอีกครั้ง

ใครเริ่มสังเกตเห็นดงอ้อยดำตามริมทางแบบผม จะลองหักเอามาต้มกิน หรือทำขายดูบ้าง น่าจะสร้างรายได้ดีเชียวแหละครับ ด้วยสรรพคุณอันวิเศษต่อไตที่เป็นจุดเด่นสำคัญของมัน

ลองดูซิครับ..