มก. นำร่อง ‘ร.ร.เกษตรทางอากาศ’ ให้ ‘เกษตรกร’ เรียนผ่าน ‘แอพพ์-วิทยุ’ หวังผลิต ‘3 แสน’ โคเนื้อทดแทนนำเข้า

นายวิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการโรงเรียนเกษตรทางอากาศ หลักสูตรการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ ร่วมกับ นายโกเมนทร์ โคตรศรีวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดขอนแก่น ที่ห้องประชุม ธ.ก.ส. จังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ธ.ก.ส. ขอนแก่น ร่วมกับ มก. ดำเนินโครงการโรงเรียนเกษตรทางอากาศ ตามการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 40 คน

นายวิโรจ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความต้องการโคเนื้อยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของ มก. พบว่า ไทยยังคงมีความต้องการในขั้นตอนของการผลิตเพื่อการบริโภคอยู่ที่ 1,260,000 ตัว ต่อปี แต่กลับผลิตได้ที่ 970,000 ตัว ต่อปี ขณะที่จังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อมากกว่า 100,000 ตัว 5 อันดับแรกของประเทศ ประกอบด้วย นครราชสีมา 226,610 ตัว รองลงมาคือ สุรินทร์ 217,192 ตัว ศรีสะเกษ 206,028 ตัว อุบลราชธานี 202,431 ตัว และกาญจนบุรี 199,079 ตัว ขณะที่ขอนแก่นอยู่ในอันดับที่ 13 มีกำลังการผลิตที่ 120,861 ตัว ต่อปี

“เรื่องความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออก ปี 2559-2560 นั้น คาดการณ์ว่า ไทยจะต้องนำเข้าโคเนื้อมากกว่า 300,000 ตัว ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้น การปรับกลยุทธ์ในกระบวนการผลิตด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรของไทยนำร่องในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ได้ดำเนินการต้นแบบโรงเรยนเกษตรทางอากาศ จะเป็นการพัฒนาระบบและวิธีการเลี้ยงโคเนื้อรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ตามความต้องการของตลาด และยังคงสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง โดยโรงเรียนเกษตรทางอากาศนั้น จะเป็นการให้ความรู้ที่ผสมผสานวิธีการฝึกอบรมในรูปแบบการใช้สื่อผสม เน้นหนักในพื้นที่ชานเมืองและชนบท ได้เข้าถึงการเรียนรู้ด้านการเลี้ยงโคเนื้อที่ถูกหลักวิชาการ และการรับทราบถึงสภาวะหรือเหตุการณ์ต่างๆ ของการเลี้ยงโคเนื้อที่เท่าทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาพรวม” นายวิโรจ กล่าว

นายกสภา มก. กล่าวต่อว่า กระบวนการจัดการเรียนการสอนนั้น เกษตรกรจะสามารถศึกษาข้อมูลโดยตรงกับนักวิชาการของ มก. ผ่านทาง www.radio.ku.ac.th ตลอดจนมีแอพพลิเคชั่น KURADIO ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคสามารถรับฟังการสอนของบุคลากร มก. ได้ สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนั้น มก. และ ธ.ก.ส. ได้แจกวิทยุทรานซิสเตอร์ให้เกษตรกรเพื่อรับฟังการเรียนการสอนผ่านสถานีวิทยุ มก. เครือข่ายทั่วประเทศ คลื่นความถี่ AM 1314 kHz. ทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-17.00 น. ทั้งนี้ โครงการโรงเรียนเกษตรทางอากาศ ครั้งนี้ถือเป็นรุ่นแรกจะเปิดสอน 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม รวม 23 หลักสูตร โดยเกษตรกรจะต้องรับฟังอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งหลักสูตร ก่อนสำเร็จการศึกษา ทุกคนต้องสอบเพื่อจบหลักสูตร หากสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตรจาก มก.

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน