ลาออกจากงานประจำ สู่เจ้าของฟาร์มปูนา ทำเงิน 60,000 บาทต่อเดือน

จากพนักงานประจำลาออกเป็นนายตัวเอง เริ่มต้นจากความชอบสู่ธุรกิจฟาร์มปูนา เริ่มต้นจาก 100 คู่ เลี้ยงในกระชังบก หลังจากนั้นเริ่มศึกษาการเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงปูนาในบ่อดินจะให้โตไว ขยายพันธุ์เร็ว ตัวอวบ แข็งแรง

หากใครอยากเลี้ยงปูนาให้ตัวเบิ้มๆ ตัวอวบ แข็งแรง ต้องเริ่มจากการเข้าใจพฤติกรรมของปูนา อาหารที่ใช้เลี้ยง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ใช้เลี้ยงปูนาเองก็สำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปูนาเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

คุณศุภนิดา พันธ์สืบพงศ์ หรือ พี่แพท เจ้าของธีรดาฟาร์มปูนาศรีราชา บอกเทคนิคการเลี้ยงปูนา มีกิน มีขาย ทำเงิน ทั้งเกร็ดเรื่องของพฤติกรรมปูนา และปัจจัยภายนอกที่ช่วยให้ปูมีลักษณะตามที่ตลาดต้องการ ไม่มีอะไรยากแค่ใจรักก็สามารถเริ่มทำอาชีพนี้ได้

ลาออกจากงานประจำ สู่เจ้าของฟาร์มปูนา ทำเงิน 60,000 บาทต่อเดือน
ลาออกจากงานประจำ สู่เจ้าของฟาร์มปูนา ทำเงิน 60,000 บาทต่อเดือน

ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงปูนาก็ศึกษาว่าเลี้ยงปูนาสายพันธุ์ไหนดี พบว่าปูนาสายพันธุ์พระเทพ-กำแพงเป็นปูนาที่น่าเพาะเลี้ยง จุดเด่นของสายพันธุ์นี้ เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวละ 2 ขีด ถ้าขายเป็นกิโลก็ทำเงินได้เยอะเลยทีเดียว

ปูนาส่วนใหญ่สามารถนำไปทำเป็นเมนูต่างๆ ได้ แต่มักจะนิยมไปทำน้ำพริกปู นำไปดองใส่ส้มตำจะทำให้รสชาติดี เนื่องจากลำตัวใหญ่กว่าปูนาทั่วไป มีคนแห่มาซื้อถึงที่ บางคนสนใจอยากเลี้ยงก็สามารถซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปต่อยอดได้

เริ่มแรกเราต้องรู้จักพื้นฐานของนิสัยปูนาเสียก่อน ปูนาเป็นสัตว์ที่มีนิสัยหงุดหงิด อารมณ์ร้อน (หรือรุนแรงนั่นเอง) ซึ่งพี่แพทบอกว่าให้สังเกตง่ายๆ หากปูเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ จะเริ่มทำร้ายร่างกายตัวเอง บางตัวอาจจะหักแขน หักขาของตัวเองทิ้ง

วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แนะนำว่าให้ย้ายปูที่เลี้ยงไว้ลงบ่อดิน เพราะการที่ปูเริ่มมีพฤติกรรมรุนแรงอาจจะเกิดจากความเครียด หรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่สบายตัว ซึ่งสาเหตุที่ย้ายไปอยู่บ่อดิน เนื่องจากในบ่อดินมีแร่ธาตุอาหารที่ช่วยให้ปูฟื้นตัว

เมื่อนำปูลงไปในบ่อดินแล้ว ปูจะเริ่มสงบ เมื่อปูอารมณ์ดีขึ้น ก็จะหยุดทำร้ายร่างกายตัวเอง นอกจากนี้ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าแขนขาที่ดึงหลุดไปจะงอกขึ้นมาใหม่หรือไม่ ปูเป็นสัตว์ที่หากได้รับแร่ธาตุที่เพียงพอ ก็จะใช้เวลาไม่นานให้ร่างกายสร้างแขนขาที่ดึงหลุดไปขึ้นมาใหม่

อีกข้อสังเกตคือ หากเราเห็นปูตัวผู้หงายท้อง แสดงว่าตอนนั้นปูตัวผู้กำลังเรียกร้องหาตัวเมียเพื่อ “ผสมพันธุ์” โดยพฤติกรรมการขยายพันธุ์ของปูนาคือ ตัวผู้จะหงายท้องรอตัวเมียที่มีความต้องการเหมือนกันขึ้นมาทับบนตัวของมัน และทุกครั้งหลังผสมพันธุ์เสร็จ โอกาสน้อยที่ตัวผู้จะรอด เพราะส่วนใหญ่ตัวผู้จะตาย หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ

วิธีการสังเกตเพศของปู พี่แพทให้ดูที่ช่วงท้องของปูนา จะเห็นความต่างระหว่างปูเพศเมียและเพศผู้ โดยปูตัวเมียจะเริ่มออกลูกให้สังเกตที่ตะปิ้งใต้ท้องจะมีลูกปูจำนวนมาก ให้จับแยกไว้อีกบ่อ หลังจากนั้นแม่ปูจะสลัดลูกทิ้ง ให้แยกแม่ออกไปเลี้ยงอีก 1 เดือน สามารถนำมาทำแม่พันธุ์ได้อีกครั้ง ส่วนลูกปูจะเลี้ยงต่ออีก 4-5 เดือนก็สามารถจับขายได้

ราคาคู่ที่ผสมพันธุ์แล้ว ราคาอยู่ที่คู่ละ 100 บาท แต่ถ้าพร้อมผสมคู่ละ 80 บาท ส่วนตัวที่มีลูกแล้วจะขายตัวละ 200 บาท แค่ราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ถ้าวันหนึ่งขายได้ 50 คู่ ก็จะได้เฉลี่ยวันละ 5,000 บาท

อาหารก็มีความสำคัญ ที่ธีรดาฟาร์มจะให้เป็นอาหารเม็ดปลาดุก หรืออาหารกบ หรือข้าวสวย ก็สามารถให้ปูได้ แต่อาหารที่มีความมันไม่ควรให้ เพราะจะทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงเสีย นอกจากอาหารข้างต้นที่ใช้เลี้ยงปูนาแล้ว ยังมีอาหารเสริม เช่น แหนแดง จอก และสาหร่าย ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ ธีรดาฟาร์มมีบ่อเพาะไว้ที่ฟาร์มเองเช่นกัน

ส่วนการเพาะเลี้ยงจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ จะมีเลี้ยงทั้งในบ่อน้ำใสและบ่อดิน ซึ่งแรกเริ่มได้ทดลองเลี้ยงในบ่อน้ำใสแต่ระยะการโตล่าช้า เลยศึกษาวิธีการเลี้ยงในบ่อดินและทดลองพบว่าการเลี้ยงในบ่อดินจะโตไวกว่า ขยายพันธุ์ได้เร็วกว่า

การอนุบาลลูกปูนา จะใช้กระบะสำหรับอนุบาลภายในกระบะจะมีลูกปูและใส่สาหร่ายไว้เพื่อให้ลูกปูใช้เกาะและกินสาหร่ายเป็นอาหาร สำหรับปูนา พี่แพท บอกว่า ปูนาจะให้ลูกครั้งละประมาณ 1,000 ตัว แต่การอนุบาลให้รอดเป็นปูนาที่สามารถจำหน่ายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง

ข้อดีของการเลี้ยงบ่อดิน

เพื่อป้องกันการหลุดของขาปู และควรมีที่หลบภัยเนื่องจากช่วงที่ปูลอกคราบมักจะกินกันเอง ปูจะโตไว แข็งแรง

ข้อดีของการเลี้ยงบ่อน้ำใส

เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด ดูแลง่าย เก็บผลผลิตได้ง่าย ควบคุมการเลี้ยงได้ 

สิ่งที่ต้องมีในการเลี้ยงบ่อน้ำใส

  1. ควรมีซาแรนสำหรับพรางแสงแดด 80%
  2. ขนาดกระชังผ้าใบอยู่ที่ 2×4 เมตร
  3. เตรียมบ่อ ควรมีกระเบื้องหรือหลังคา ทำที่หลบภัยให้ปู และมีสปริงเกลอร์ 

การดูแล

ควรหมั่นทำความสะอาดล้างบ่อประมาณ 3-7 วันต่อครั้ง เป็นการถ่ายน้ำออก และล้างบ่อครั้งใหญ่ 1-2 วันต่อเดือน โดยทำการขัดสิ่งสกปรกออกพวกกระเบื้องหลังคา

ท้ายที่สุดหากเราผู้เป็นคนเลี้ยงคอยสังเกตและหมั่นเอาใจใส่ ทำความสะอาด และสังเกตพฤติกรรมของปูที่เราเลี้ยง คำนึงถึงสภาพแวดล้อม อาหาร ปูนาที่เลี้ยงไว้จะเติบโต สามารถจำหน่ายได้อย่างแน่นอน

ธีรดาฟาร์มปูนาศรีราชา เลี้ยงปูนาพันธุ์พระเทพ-กำแพง หากท่านใดสนใจเพาะพันธุ์ปูนา ทางฟาร์มมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาจำหน่าย สามารถติดต่อได้ที่แฟนเพจ : ธีรดา ฟาร์มปูนา ศรีราชา โทรศัพท์ 086-463-5925