ไก่ลิกอร์ ของดีเมืองคอน เลี้ยงง่าย โตไว เนื้อนุ่ม รสชาติอร่อย

แม้ในช่วงนี้สถานะการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงไปบ้าง แต่ทุกคนยังมีการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้อยู่เป็นปกติให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากการระบาดเริ่มแรกในครั้งนั้นทำให้ผู้คนในหลายสถานที่ต้องตกงาน เพราะการปิดตัวลงของบริษัท ห้างร้านหลายแห่ง จึงทำให้หลายๆ คนต้องกลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่ รวมไปถึงทางภาคใต้ก็เช่นกันในหลายจังหวัดสินค้าทางการเกษตรบางอย่างได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จนถึงชนิดที่ว่าทำให้ราคาตกต่ำ ส่งผลให้หลายหน่วยงานหากิจกรรมหรืออาชีพเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น

ผศ.ดร.วรางคณา กิจพิพิธ หรือ อาจารย์เมษ์

การเลี้ยงไก่ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ไกลตัวของเกษตรกรในประเทศไทย เพราะโดยรวมแล้วสังคมไทยรู้จักการเลี้ยงไก่มาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะไก่พื้นเมืองที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ เป็นทั้งแหล่งโปรตีนที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ไม่น้อยทีเดียว ทำให้ ผศ.ดร.วรางคณา กิจพิพิธ หรือ อาจารย์เมษ์ ได้เล็งเห็นช่องทางในการส่งเสริมเลี้ยงไก่สายพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปในยุคโควิด-19 จึงได้ทำการผสมพันธุ์ไก่ลิกอร์ขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านที่เจอวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนั้น ได้มีรายได้จากการเลี้ยงไก่สายพันธุ์นี้

ไก่ลิกอร์เป็นไก่ลูกผสม

ระหว่างไก่เนื้อและไก่บ้าน

การวิจัยให้ได้ซึ่งไก่สายพันธุ์ลูกผสมลิกอร์นั้น อาจารย์เมษ์ เล่าว่า เกิดจากการนำผลการวิจัยเรื่องไก่พื้นเมืองมาต่อยอดให้เป็นไก่พื้นเมืองลูกผสม โดยนำพ่อพันธุ์ไก่แดงสุราษฎร์ธานีมาผสมกับไก่แม่พันธุ์ มทส. ที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพราะการนำไก่บ้านและไก่เนื้อเข้ามาผสมกัน จะทำให้ไก่ลูกผสมที่ได้ออกมายังคงความเป็นไก่บ้านเอาไว้ และเวลาที่เลี้ยงยังสามารถโตได้เร็วเหมือนไก่เนื้อ จึงทำให้ไก่ลิกอร์เป็นไก่พื้นเมืองที่มีความเป็นลูกผสมสายเลือดอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์

แม่พันธุ์ไก่ลิกอร์

สาเหตุที่ตั้งชื่อว่าไก่ลิกอร์เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และชื่อลิกอร์เป็นชื่อเมืองเก่าของจังหวัด เมื่อเขียนด้วยอักษรภาษาอังกฤษคำว่า Ligor (ลิกอร์) จึงทำให้ชื่อไก่สายพันธุ์นี้มีความดูเป็นสากลมากขึ้น และเมื่อเอาคำว่า Ligor มาแยกออกเป็นตัวอักษรเดี่ยวๆ จึงมีความหมายดังนี้ L = Low cholesteral (คอเลสเตอรอลต่ำ), I = It’s delicious (เนื้อมีความอร่อย), Gor = High growth rate (ไก่ลิกอร์เป็นไก่ที่โตดีกว่าไก่พื้นเมือง) ฉะนั้นคำว่าลิกอร์จึงทำให้ไก่มีความหมายในตัวเอง และแสดงชื่อเมืองเก่าของจังหวัดนครศรีธรรมราชไปด้วยพร้อมกัน

ไข่ไก่ลิกอร์

ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ของไก่ลิกอร์คือ เป็นไก่ลูกผสมไก่พื้นเมืองที่มีเนื้อแน่น นุ่ม และหนึบ เนื้อไม่เหนียวเหมือนไก่บ้าน และเนื้อไม่ยุ่ย เมื่อนำไปประกอบอาหารไม่ว่าจะเมนูไก่ลิกอร์อบโอ่งก็มีรสชาติอร่อย หนังกรุบกรอบ พร้อมทั้งมีคอเลสเตอรอลต่ำ วิตามินและแร่ธาตุสูง จึงทำให้ตรงตามความต้องการของตลาด มีเกษตรกรในหลายพื้นที่นำไปผลิตเป็นไก่ขุนสร้างรายได้

ลูกไก่ลิกอร์

ผลิตลูกไก่ลิกอร์ คุณภาพ

ให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงขุน

การเลี้ยงไก่ลิกอร์เพื่อเป็นไก่ขุนสำหรับการค้านั้น อาจารย์เมษ์ บอกว่า พื้นที่เลี้ยงไม่ต้องเป็นแบบคับแคบมากนัก หรือไม่ต้องสร้างมาตรฐานให้มีต้นทุนสูงจนเกินไป แต่การเลี้ยงเพื่อเสริมรายได้เกษตรกรควรเลือกเลี้ยงแบบมีพื้นที่แบบกำหนดขอบเขตไว้ ถ้าหากเลี้ยงแบบปล่อยอิสระมากเกินไปจะทำให้ไก่ไม่โต เพราะไก่จะเดินเล่นไม่มีจุดหมาย ทำให้เหมือนใช้พลังงานในแต่ละวันมาก

ลูกไก่ลิกอร์

การเลี้ยงไก่ลิกอร์ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถปล่อยไก่เลี้ยงอยู่ที่ 8-10 ตัว พร้อมทั้งกันบริเวณให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันสัตว์อื่นเข้ามากัดหรือกินไก่ภายในโรงเรือน โดยไก่ที่พร้อมจะนำมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ พ่อพันธุ์จะต้องมีอายุอยู่ที่ 8 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนแม่พันธุ์ควรมีอายุอยู่ที่ 24 สัปดาห์ อัตราส่วนการผสมจะมีพ่อพันธุ์ 1 ตัวต่อตัวเมีย 5-8 ตัว เมื่อแม่ไก่ออกไข่มาแล้วจะนำไข่ที่ได้เก็บเข้าตู้ฟัก ใช้เวลาอยู่ในตู้ฟักประมาณ 18 วัน จากนั้นวันที่ 19 จะนำไข่ย้ายไปอยู่ในตู้เกิดเพื่อกำเนิดเป็นลูกไก่ในวันที่ 21

พื้นที่กก

“หลังจากที่ลูกไก่ออกมาแล้วในวันแรก สามารถส่งขายให้กับเกษตรกรที่มาติดต่อซื้อได้เลย เพราะลูกไก่ที่เกิดมาในแต่ละสัปดาห์จะมีลูกค้าสั่งจองทั้งหมด โดยที่ฟาร์มจะทำวัคซีนให้ 1 โดส เป็นวัคซีนนิวคาสเซิลกับหลอดลมอักเสบ จากนั้นเกษตรกรสามารถนำลูกไก่ไปเลี้ยงได้เลยในพื้นที่ของตัวเอง โดยที่ผ่านมาหลังจากที่เกษตรกรรับไก่จากเราไปเลี้ยงแล้ว เกษตรกรบอกว่าไม่ต้องทำวัคซีนเพิ่ม สามารถนำไปเลี้ยงจนครบอายุไก่ขุนก็สามารถขายได้เลย ซึ่งไก่ลิกอร์ที่เลี้ยงขุนจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ จะได้ไซซ์ขนาดที่ใหญ่ขายได้” อาจารย์เมษ์ บอกถึงการดูแลลูกไก่หลังเกิด

ลูกไก่เตรียมเลี้ยงขุน

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ลิกอร์ภายในฟาร์ม อาจารย์เมษ์ บอกว่า เลี้ยงด้วยอาหารไก่ไข่ที่มีโปรตีนอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ โดยในพ่อแม่พันธุ์ไก่จะให้กินอาหารอยู่ที่ 120 กรัมต่อตัวต่อวัน ซึ่งการผลิตพ่อแม่พันธุ์ถือว่าสำคัญมากที่ไก่จะต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน จึงไม่สามารถเลี้ยงด้วยอาหารที่ได้จากท้องถิ่นหรือธรรมชาติ เพราะจะทำให้ไก่มีโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ในการผลิตลูกพันธุ์ แต่สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อทั่วไปในครัวเรือน สามารถเลี้ยงโดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากครัวเรือนได้เพื่อเป็นอาหารเสริมลดต้นทุน

พื้นที่คอก

“อาหารเลี้ยงไก่ลิกอร์ที่ไม่ใช่ไก่พ่อแม่พันธุ์ เกษตรกรสามารถใช้อาหารจากธรรมชาติเสริมเลี้ยงได้ อย่างบางบ้านที่เราไปสำรวจ มีการคั้นน้ำกระทิขาย ก็จะเอาเนื้อมะพร้าวที่เป็นของเหลือเสริมให้กับไก่กิน และเกษตรกรอีกท่านหนึ่งอยู่ใกล้ทะเล เขาก็จะมีปลาตัวเล็กตัวน้อยไปต้ม หรือจะเป็นปลายข้าวด้วยก็ได้ นำมาผสมกับอาหารให้ไก่กิน ด้วยการเสริมวัตถุเหล่านี้เข้าไป ก็สามารถประหยัดต้นทุนและไก่ก็โตได้ด้วยเช่นกัน” อาจารย์เมษ์ บอกถึงการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน

ไก่ลิกอร์

ขายราคาย่อมเยา

เพื่อชุมชนมีอาชีพจากไก่ลิกอร์

สำหรับการขายลูกพันธุ์ไก่ลิกอร์ที่ผลิตออกมานั้น อาจารย์เมษ์ บอกว่า เมื่อมีการส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกรมากขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจและตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ลิกอร์ที่เข้มแข็ง มีสมาชิกภายในกลุ่มมากกว่า 10 ราย จึงทำให้การเลี้ยงไก่ของเกษตรกรกลุ่มนี้มีรายได้หมุนเวียนอยู่ตลอด เพราะเกษตรกรวางแผนการเลี้ยงที่มีระบบจึงทำให้มีไก่ออกสู่ตลาดได้ตลอดตามความต้องการของลูกค้า

พื้นที่โรงเรือน

การส่งขายไก่ลิกอร์ให้กับลูกค้าจะมีออกทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 ตัว ไม่เพียงแต่เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเท่านั้น แม้แต่บุคคลทั่วไปที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือได้ชิมเนื้อไก่ลิกอร์จากร้านอาหารต่างๆ ก็จะติดต่อเข้ามาซื้ออยู่เป็นประจำ โดยราคาลูกไก่ลิกอร์อายุ 1 วัน ขายอยู่ที่ตัวละ 29.50 บาท ส่วนไก่ลิกอร์อายุ 3 เดือนมีชีวิตราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท และไก่ที่ผ่านการเชือดพร้อมนำไปประกอบอาหารราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 110-130 บาท

ข้าวมันไก่ทำจากไก่ลิกอร์
ไก่ลิกอร์สด พร้อมนำไปทำอาหาร

“สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากเลี้ยง จะแนะนำว่าสิ่งแรกที่ต้องเตรียมคือเรื่องของเงินทุน เพราะการเลี้ยงบางครั้งอาหารจากธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นต้องมีเงินทุนสำหรับซื้ออาหารสำเร็จรูปเลี้ยงด้วย จากนั้นต้องจัดสรรเวลาเพื่อดูแลไก่นิดหนึ่ง ต้องไม่เลี้ยงแบบตามมีตามเกิด พร้อมทั้งศึกษาในเรื่องของการทำตลาดว่าในพื้นที่นิยมไหม หรือถ้าแปรรูปเองได้หลังจากเลี้ยงก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก ในการสร้างรายได้จากการเลี้ยงไก่ลิกอร์” อาจารย์เมษ์ กล่าวทิ้งท้าย

เมนูจากไก่ลิกอร์
เมนูจากไก่ลิกอร์

สำหรับท่านใดที่สนใจลูกพันธุ์ไก่ลิกอร์หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.ดร.วรางคณา กิจพิพิธ หรือ อาจารย์เมษ์ ได้ที่ โครงการไก่ลิกอร์ เลขที่ 222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช หมายเลขโทรศัพท์ 086-403-4200