ไก่งวงครบวงจรของวิสาหกิจชุมชนบ้านคำเกิ้ม นครพนม เลี้ยงเก่ง ปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ไก่งวง สัตว์ปีกเศรษฐกิจที่น่าสนใจในภาคอีสาน  บ้างก็เลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จ  บางรายก็เลี้ยงเห่อตามกระแส  เห็นคนอื่นนำมาเลี้ยงก็เลี้ยงตาม  แต่จะมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสักกี่ราย  ที่ขยันหมันเพียรอดทนเอาใจใส่  เลี้ยงแล้วอาจมีลู่ทางสดใส  ที่สำคัญต้องมีตลาดรองรับควบคู่กับเนื้อสัตว์ประเภทนี้

คุณเชษฐา  กัญญะพงศ์  ประกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม หมู่ 8 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เล่าว่า  เริ่มแรกเดิมทีตนมีที่ดินอยู่ 11 ไร่ อยู่ท้ายหมู่บ้าน  จึงขุดสระ 2 บ่อไว้เลี้ยงปลา  หวังทำเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ของในหลวง  กระทั่งเปลี่ยนใจเมื่อปี 2545  จึงเบนเข็มหันไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่งวงกับคุณธนศักดิ์  คำด่าง ประธานศูนย์ภูมิพลังบ้านโพธิ์ตาก อ.เมืองนครพนม  หลังจากปศุสัตว์จังหวัดพาไปอบรมศึกษาดูงานที่ศูนย์ภูมิพลัง  จึงซื้อไก่มา 1 ชุด 15 ตัว ในราคา 4,500 บาท

คุณเชษฐา กัญญะพงศ์ กับตู้ฟักไข่

หลังเจอวิกฤติไข้หวัดนกในปี 2547  แต่ไก่ไม่ตายจึงโยกมาเลี้ยงพื้นที่ดังกล่าว  เพื่อให้ห่างจากหมู่บ้าน 300 เมตร  ต่อมาจึงได้มีโอกาสไปฝึกอบรมดูงานที่ฟาร์มเลี้ยงใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นและหลายจังหวัดที่เลี้ยงไก่งวง  จนปี 2552  จึงเริ่มเลี้ยงอย่างจริงจัง  โดยชักชวนชาวบ้านตั้งกลุ่มมีสมาชิกผู้เลี้ยง 8 คน เลี้ยงครัวเรือนละ 10-20 ตัว  ในปี 2553 มีไก่ในกลุ่มรวมกันกว่า 300 ตัว  ทุกวันศุกร์จะมีข้าราชการตำรวจ ทหาร เดินทางมาซื้อไก่ 1-2 ตัว ตกกิโลกรัมละ 150 บาท ไปปรุงรับประทาน   แต่ประสบปัญหาไม่มีตลาดรองรับ  เลี้ยงแล้วไม่มีที่ขาย

“จึงชักชวนผู้เลี้ยงหันมาทำธุรกิจเปิดร้านอาหารไก่งวง  ให้ลงหุ้นๆละ 100 บาท ระดมทุนได้ 700 กว่าหุ้น เป็นเงิน 75,500 บาทในขณะนั้น  ปศุสัตว์จังหวัดนำเงิน 5,000 บาท ที่จะใช้ในการอบรมมาเข้าหุ้นด้วย  จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 50 ครัวเรือน ต่อมาคุณจริยา  แก้วอาสา ผู้ใหญ่บ้านบ้านคำเกิ้ม หมู่ 8  นำเงินโครงการเอสเอ็มอี จาก 400,000 บาท แบ่งนำมาสนับสนุนกลุ่ม  200,000 บาท เพื่อซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่งวงแจกชาวบ้านเลี้ยงครัวเรือนละ 5 ตัว  บางรายเอาไปต้มลาบกินบ้าง  ขณะที่เหลือผู้เลี้ยงจริงแค่ 20 ราย ต่อมาจึงได้รับเลือกเป็นประธานชมรมไก่งวง และประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่งวงเขต 4 ” คุณเชษฐาเล่า

พ่อแม่พันธุ์

คุณเชษฐา เล่าต่อว่า  หลังได้ฤกษ์เปิดร้านอาหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 ขณะเดียวกันจึงร่วมกันคิดตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชุนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม”  โดยมีคณะกรรมการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 ผ่านมา 4 ปี ไม่ต้องทำตลาดให้ยุ่งยาก  นำวัตถุดิบป้อนให้ร้านคำเกิ้ม ลาบไก่งวง  ตั้งอยู่ห่างจากถนนบายพาสสายนครพนม-ท่าอุเทน หลังวัดกกต้อง  ทางเข้าโบสถ์คริสต์  ห่างจากจุดเลี้ยงประมาณ 300 เมตร มีเมนูลาบ ต้ม ทอด ปิ้งปีก ไส้อั่ว พร้อมเครื่องดื่มไว้บริการตามซุ้มรอบหนองน้ำ  บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย

ส่วนตัวคุณเชษฐา มีฟาร์มขนาดย่อม  โดยเลี้ยงคนเดียวบนพื้นที่ 11 ไร่ ทำโรงเรือนเลี้ยงไก่งวงพันธุ์อเมริกันบอร์น  จำนวนกว่า 1,000 ตัว แบ่งเป็น 3 โรงเรือน จำนวน 12 เล้า มีไก่ 3 รุ่นคือพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์  ไก่รุ่น และไก่อนุบาล  เหตุที่เลือกไก่สายพันธุ์นี้  เพราะทนต่อโรคและสภาพอากาศ ให้น้ำหนักได้ดี ตัวขนาดน้ำหนัก 6-10 กิโลกรัม ตัวใหญ่สุดมาตรฐานตกต่อตัวถึง 15 กิโลกรัม  ส่วนอาหารไก่คิดค้นผสมสูตรเองเพื่อเร่งให้โต  ได้น้ำหนักตามที่ต้องการ

ธรรมชาติของไก่งวงไม่ชอบแดด  ชอบอาศัยอยู่ในโรงเรือนโล่งแจ้ง ลมพัดเย็นสบาย อาหารเช้า-เย็น  ไก่แรกเกิดถึง 2 เดือนจะให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปและหญ้าเนเปีย์อ่อนสับ  พอระยะ 2 ถึง 4 เดือน ซึ่งเจริญเติบโตจะกินรำข้าวและอาหารผสมสูตรเฉพาะ  เน้นอาหารเข้มข้นมีปลายข้าว กากถั่วเหลือง เมล็ดข้าวโพด  หลัง 4 เดือนถึง 7 เดือน ก่อนส่งขายให้กินหญ้าเนเปียร์สับ 30 กิโลกรัมต่อรำข้าว 30 กิโลกรัม สูตร 1ต่อ 1

หญ้าเนเปียร์ อาหารเสริมไก่งวง

ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องหาทางลดต้นทุนค่าอาหาร  ตนจะปลูกหญ้าเนเปียไว้หลังคอกจำนวน 2 งาน และปลูกต้นไผ่เลี้ยงหน่อไว้ 4 กอ เพื่อเด็ดยอดใบอ่อนให้เป็นอาหารเสริมไว้กินในหน้าแล้ง  เนื่องจากต้นทุนเม็ดข้าวโพด 30 กิโลกรัมตกกระสอบละ 500 บาท กากถั่วกระสอบละ 1,200 บาท รำกระสอบละ 140 บาท ราคาส่งสมาชิกซึ่งต้องไปรับเอาเองที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ในตำบลบ้านกลาง  อำเภอเมือง

ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปีหนึ่ง  เจอวิกฤติไก่งวงขาดตลาด  ไก่โตไม่ทันพอขาย  จึงต้องสั่งเครือข่ายที่ตั้งกลุ่มเลี้ยงในอำเภอบ้านแพง  นาทม ธาตุพนม เรณูนคร ให้นำมาส่งที่ร้านอาหารของกลุ่มวันละ 7-10 ตัว  ล่าสุดทางกลุ่มอำเภอเมือง  ได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 700,000 บาท  เพื่อสร้างโรงเชือดไก่เองพื้นที่ใกล้ร้านอาหารดังกล่าว  เพื่อสะดวกต่อการขนส่ง หลังต้องเชือดเองที่ร้านมานานหลายปี

ฤดูแล้งกับฤดูหนาวไก่ไม่ค่อยเป็นอะไร  มีปัญหาเฉพาะหน้าฝน  เป็นหวัดหลังไก่ในฟาร์มตนติดเชื้อต้นฤดูฝนตายถึงวันละ 10 ตัว   จึงต้องเร่งแก้ไขสร้างภูมิคุ้มกัน  โดยให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรและว่านไพรใจดำ สับให้กินผสมกับรำข้าว  หากจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะต้องปรึกษาปศุสัตว์อำเภอ  เรื่องน้ำต้องต่อก๊อกแล้วผ่าท่อพีวีซีขนาดใหญ่ลงในรางให้กิน  แต่ถ้าโรงเรือนพื้นเฉาะแฉะก็จะพบปัญหามีแมลงวันมาไต่ตอม

โดยปกติไก่จะใช้เวลาฟักไข่นาน 28 วันถึง 1 เดือน ปัญหาคือไก่จะโทรม หากเข้าฟักในไหเกิดเยื้อแย่งเหยียบไข่แตกอีก  เมื่อไข่แล้วจึงแก้ไขโดยไม่ให้ไก่ฟักเอง  จึงนำเงิน 26,000 บาท ของกลุ่มไปซื้อตู้ฟักโดยใช้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส  ข้อเสียถ้าไก่ฟักเองจะได้ไข่ปีหนึ่งแค่ 3 รุ่น ถ้าไม่ให้ฟักจะได้ไข่ตลอดทั้งปี 4 รุ่น

คุณเชษฐา ยังให้ข้อคิดตบท้ายด้วยว่า เสน่ห์ของไก่งวงคือชอบกินหญ้าเยอะ เลี้ยงระยะสั้นๆแค่ 7 เดือนก็ขายได้เงินแล้ว  หลังพบว่ามีการนำเข้าไก่งวงจากสหรัฐอเมริกาปีละ 80 ตัน และออสเตรเลีย 40 ตัน คิดดูแล้วกำไรเยอะสุดกว่าเลี้ยงโค ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี แม้จะเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลไปแล้วก็ตาม                  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีคณะจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) ทั่วประเทศ   ทะยอยแวะมาศึกษาดูงานจำนวนมาก  ไปฟาร์มไม่ถูกหรือต้องการแวะมาอุดหนุนที่ร้านลาบไก่งวง ซึ่งเปิดบริการ เวลา 10.00-20.00 น. หยุดวันอาทิตย์  ติดต่อสอบถาม โทร.08-5014-9679, 08-7227-2241, 09-8127-7992

ใส้อั่วไก่งวง

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านจัดสัมมนาไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน “แนะวิธีเลี้ยง ดูแล แปรรูป ส่งออก”

ค่าใช้จ่าย ท่านละ 650 บาท ผู้สนใจ สมัครจองที่นั่งก่อน แล้วโอนเงิน (ตามจำนวนที่ระบุ) เข้าธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประชาชื่น เลขที่บัญชี 193-079484-5 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) Fax (02) 580-2300 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.(02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 Fax (02) 580-2300 ดูเพิ่มเติมได้ที่www.technologychaoban.com/www.facebook.com/Technologychaoban