โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน โค 3 สายเลือด เลี้ยงง่าย โตดี ตลาดยังนิยมบริโภค

โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน เกิดจากการพัฒนาให้มีเลือด 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์บราห์มัน 25 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์พื้นเมือง 25 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์ชาโรเลส์ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เป็นโคที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีสีขาวครีมเหลืองทั้งตัวดูสง่างาม จึงถือว่าเป็นโคที่มีส่วนผสมผสานคุณสมบัติด้านดีของแต่ละสายพันธุ์เข้าด้วยกัน คือ สายพันธุ์บราห์มันมีลักษณะเด่นที่โครงสร้างร่างสูงใหญ่ แข็งแรง พันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะเด่น คุ้นเคยและทนต่อสภาพอากาศได้ดี และสายพันธุ์ชาโรเลส์ สร้างเนื้อได้มาก คุณภาพดี โตไวในสภาพการเลี้ยงเพื่อขุนเป็นโคเนื้อ

จึงถือได้ว่าโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน เป็นโคที่มีการปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีเลิศ มีความสมบูรณ์พันธุ์ ได้แก่ มีความทนต่อสภาพอากาศจึงเหมาะสมที่เลี้ยงในสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย

นอกจากนี้ โคยังเป็นสัดเร็ว ผสมติดง่าย ทำให้ได้ลูกโคทุกปีแม้วัวจะไม่ค่อยได้กินอาหารที่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งการเลี้ยงสามารถปล่อยให้กินหญ้าตามทุ่งหญ้าทั่วไปได้เหมือนโคไร่ทุ่งทั่วไป แต่ถ้าต้องการส่งจำหน่ายเพื่อเป็นโคเนื้อที่มีเนื้อคุณภาพ การเลี้ยงต้องมีขั้นตอนมากขึ้นเป็นไปตามมาตรฐาน

ดร.คณิต สุขรัตน์ ได้ศึกษาและเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อเป็นอาชีพเสริม เลี้ยงอยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 4 ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี จากการที่ได้มาเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์นี้ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับอาจารย์เป็นอย่างมาก ในการที่เลือกเลี้ยงโคสายพันธุ์นี้เพื่อสร้างรายได้

เห็นอาชีพเกษตร  น่าสนใจตั้งแต่วัยเด็ก

อาจารย์คณิต เล่าให้ฟังว่า สมัยตอนยังเป็นเด็กมีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดอยู่แล้ว ทำให้เห็นการทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่จำความได้ ซึ่งชีวิตมีความผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรมค่อนข้างมาก จึงสนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาที่เกี่ยวกับทางการเกษตร เมื่อจบก็ได้เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ต่อมาประมาณปี 2548 จึงเกิดความสนใจอยากเลี้ยงโคเนื้อเพื่อเป็นอาชีพเสริม เพื่อใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดให้เป็นประโยชน์

Advertisement

“เริ่มแรกก่อนที่จะเลี้ยงโคเนื้อ ผมเห็นพื้นที่ทำเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นา ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคเนื้อมีน้อย ก็เห็นว่าหญ้ากองฟางที่เขาเผาทิ้งจำนวนมาก น่าจะเอามาทำประโยชน์ได้ ดีกว่าทิ้งไปเฉยๆ ก็เลยเกิดแนวคิดที่จะเลี้ยงโคน่าจะดีกว่า โดยเริ่มต้นใหม่ๆ ก็ประมาณ 2-3 ตัว เป็นพันธุ์ลูกผสมบราห์มันเพื่อเป็นการทดลอง แต่คิดว่าสายพันธุ์นี้ไม่ค่อยเหมาะสมกับเรา ก็เลยเปลี่ยนมาศึกษาโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน เพื่อเลี้ยงต่อไป” อาจารย์คณิต เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงโคเนื้อ ด้วยสีหน้าและแววตาที่มีความสุข

พื้นที่ภายในคอก
พื้นที่ภายในคอก

อาจารย์คณิต บอกว่า โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนเกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา โดยเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับโคเนื้อสายพันธุ์นี้มามากกว่า 40 ปี เพื่อให้เป็นโคเนื้อที่มีคุณภาพ สามารถเป็นสินค้าทดแทนจากเนื้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ

Advertisement

 สายพันธุ์สามารถผสมเองได้  เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก

อาจารย์คณิต เล่าให้ฟังต่อว่า พันธุ์ของโคเนื้อกำแพงแสนไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อให้เกิดความยุ่งยาก สำหรับคนที่มีโคที่เลี้ยงบางสายพันธุ์อยู่แล้ว ก็สามารถผสมเองได้เพื่อไม่ให้เกิดความลำบาก อย่างเช่น การใช้แม่โคลูกผสมบราห์มันมาผสมกับพันธุ์พื้นเมือง เมื่อได้ลูกโคแล้วเลี้ยงให้โตมีอายุผสมพันธุ์ได้ จากนั้นนำมาผสมเทียมกับน้ำเชื้อพันธุ์ชาโรเลส์ซึ่งหาซื้อได้ที่กรมปศุสัตว์ เมื่อผสมจนติดลูกแล้วก็จะได้เป็นลูกผสมพันธุ์กำแพงแสน เรียกว่า D1 (Development ที่ 1) และใช้เป็นแม่พันธุ์ทดแทน คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ ตามลำดับจนได้สายเลือดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์ รุ่น D5 จึงเป็นรุ่นสุดท้ายเป็นสายพันธุ์แท้

“การเลี้ยงโคพันธุ์นี้ให้เป็นโคขุน เราไม่จำเป็นต้องใช้ลูกผสมถึง D5 ที่เป็นพันธุ์แท้ก็ได้ เพราะจะได้ไม่เกิดความยุ่งยากกับเกษตรกร เนื่องจากโคกำแพงแสนเป็นพันธุ์ที่มี 3 สายเลือด เรื่องของสีจึงอาจมีเพี้ยนไปบ้าง พวกสีเพี้ยนไม่สามารถจดทะเบียนเป็นพันธุ์แท้ได้ ซึ่งโคที่พันธุ์กำแพงแสนแท้ต้องสีเหลืองออกนวล ส่วนที่สีเพี้ยนแต่มี 3 สายเลือดนี้อยู่ เราก็สามารถทำเป็นโคขุนเพื่อส่งจำหน่ายได้ ความเพี้ยนของสีบางทีก็จะอยู่ที่ช่วง D2 ยังจะไม่ค่อยนิ่ง เราก็สามารถขุนได้” อาจารย์คณิต อธิบาย

โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนแท้
โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนแท้

การสร้างโรงเรือนและคอกสำหรับเลี้ยงโคนั้น อาจารย์คณิต บอกว่า พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงที่ดีประมาณ 4 ตารางเมตร ต่อโค 1 ตัว ถ้าภายในคอกมีโคจำนวนมากก็คำนวณพื้นที่ให้ใหญ่ตามไปด้วย ในด้านการเลี้ยงเพื่อให้เป็นโคขุนที่มีคุณภาพในระบบสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด เน้นขุนที่โคตัวผู้ ส่วนโคตัวเมียไว้ใช้เป็นแม่พันธุ์

ลูกผสมแองกัสแดง
ลูกผสมแองกัสแดง

ในขั้นตอนแรกจะนำลูกคอกที่มีอยู่ภายในฟาร์มมาเลี้ยงให้มีอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง มีน้ำหนักตัวประมาณ 350 กิโลกรัม และมีฟันแท้ประมาณ 1 คู่ พร้อมทั้งตอนและทำวัคซีนให้เรียบร้อย จากนั้นทำการแจ้งโคที่จะขุนลงทะเบียนกับสหกรณ์โคเนื้อเพื่อติดเบอร์ที่หู ขุนและดูแลอีกประมาณ 8 เดือน จึงค่อยส่งโคจำหน่ายให้สหกรณ์โคเนื้อ

“อาหารที่ใช้ขุนโคก็จะเป็นอาหารข้น เป็นอาหารที่ต้องไม่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งแต่ละฟาร์มก็จะใช้อาหารข้นที่แตกต่างกันไป แต่หลักๆ ก็จะมีรำ มันเส้น กากถั่วเหลือง กากปาล์ม โดยให้กิน 3 มื้อ ต่อวัน โดยเฉลี่ยแล้วก็จะตกอยู่ที่ตัวละ 7-8 กิโลกรัม ต่อวัน นอกจากอาหารข้น ก็จะมีอาหารหยาบเสริมด้วย พวกหญ้า ข้าวโพดสับ ให้พร้อมไปกับอาหารข้นได้เลย ขุนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 8 เดือน โคก็จะได้อายุประมาณ 2 ปี 3 เดือน ก็เตรียมส่งเข้าสหกรณ์โคเนื้อได้เลย เพราะเขาจะจัดคิวให้เราว่าจะอยู่ช่วงไหน ตอนที่เราขึ้นทะเบียนเพื่อติดเบอร์ที่หู” อาจารย์คณิต กล่าวถึงการให้อาหารโคเพื่อให้เป็นโคขุนที่มีความสมบูรณ์

อาหารสำหรับขุนโค
อาหารสำหรับขุนโค

นอกจากจะขุนลูกคอกภายในฟาร์มเพื่อส่งจำหน่ายสหกรณ์โคเนื้อแล้ว อาจารย์คณิต บอกว่า ถ้าลูกคอกภายในฟาร์มมีไม่เพียงพอ สามารถซื้อลูกโคตัวผู้จากฟาร์มอื่นมาทดแทนได้ อาจจะซื้อโคที่มีอายุ 8 เดือน นำมาเลี้ยงต่ออีก 7 เดือน เพื่อให้ได้อายุและน้ำหนักตามที่สหกรณ์โคเนื้อกำหนด จากนั้นก็ขึ้นทะเบียนและขุนต่อไปอีก 8 เดือน ให้ได้อายุเหมือนกับโคขุนตัวอื่นๆ ที่อยู่ภายในฟาร์ม

เลี้ยงแบบมีระบบ  ช่วยให้ราคาไม่ตก

ในเรื่องของการส่งโคจำหน่ายเข้าสู่ตลาด อาจารย์คณิต ให้ข้อมูลว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เพราะเกิดจากการสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด ทำให้ไม่มีความวิตกกังวลว่าจะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง หรือผลกระทบภายนอกอื่นๆ ซึ่งสหกรณ์โคเนื้อจะมีราคาตายตัวให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

“สหกรณ์จะมีราคาที่ตายตัวให้เราเลย ตามน้ำหนักซาก ตามคุณภาพการขุนของฟาร์ม นอกจากนี้ ถ้าโคเนื้อที่ขุนมีไขมันแทรกอยู่ที่เนื้อตามที่สหกรณ์กำหนด ก็จะได้เงินบวกเพิ่มขึ้นอีก เรียกว่าระเบียบการต่างๆ สหกรณ์มีหลักเกณฑ์อยู่ เวลาเรานำโคไปส่งก็นำไปทั้งตัวเป็นๆ เดี๋ยวสหกรณ์จะไปจัดการเอง ซึ่งราคาที่จำหน่ายได้ต่อตัว จะขึ้นอยู่ที่การขุนของแต่ละฟาร์ม ราคาได้ต่อตัวก็อยู่ที่ประมาณ 50,000-70,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดไซซ์ของโคและหลักเกณฑ์อื่นๆ ด้วย” อาจารย์คณิต กล่าว

โคที่มีอายุ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี น้ำหนัก 350-400 กิโลกรัม
โคที่มีอายุ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี น้ำหนัก 350-400 กิโลกรัม

ko-7

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงโคเป็นอาชีพ อาจารย์คณิต แนะนำว่า สามารถศึกษาวิธีการต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ในโซเชียลมีเดีย และจากฟาร์มของคนที่เลี้ยงประสบผลสำเร็จ จะทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งโคเนื้อถือว่ายังเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อจากต่างประเทศคุณภาพยังสามารถแข่งขันทางการตลาดได้

“การเลี้ยงโคเนื้อไม่ว่าจะเป็นในแบบสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด หรือในรูปแบบอื่นๆ อย่างแรกเลยคนที่สนใจเลี้ยงต้องมีความอดทน เพราะการเลี้ยงโคต้องมีความขยัน เพราะการเลี้ยงสัตว์เราไม่มีวันหยุด ไม่ใช่ว่าเรามีใจรักอย่างเดียว เราก็เลี้ยงได้ ต้องมีองค์ประกอบอื่นอยู่ด้วย อย่างน้อยต้องศึกษาหาความรู้ให้มากๆ แล้วค่อยตัดสินใจเลี้ยง จะไม่เลี้ยงเป็นสายพันธุ์นี้ก็ได้ เพราะโคไม่มีพันธุ์อะไรที่ดีที่สุด มีแต่โคที่เหมาะสมกับเราที่สุดเท่านั้น เพราะทุกสายพันธุ์ดีหมด เพียงแต่สายพันธุ์ไหนที่จะเหมาะสมกับเรา ว่าจะเลี้ยงเพื่อไปในทิศทางไหนเท่านั้นเอง” อาจารย์คณิต กล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์คณิต สุขรัตน์ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 567-3935