นักวิจัยพบวิธีแปรรูป ‘ขนไก่’ เป็นวัสดุแบบใหม่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

มนุษย์ใช้ประโยชน์จากขนของสัตว์ปีกในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า และเครื่องนอน เนื่องจากเป็นขนที่มีน้ำหนักเบาและให้ความอบอุ่นได้ดี

          ปัจจุบันการบริโภคไก่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย และเฉพาะในอังกฤษมีการบริโภคไก่กว่า 945 ล้านตัวต่อปี ทำให้มีขนไก่สีขาวจำนวนมากที่ถูกนำไปทิ้ง

นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัย  Imperial College ในกรุงลอนดอน กำลังพัฒนาวิธีเปลี่ยนขนไก่เหลือทิ้งเหล่านี้ ให้กลายเป็นวัสดุที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น

Elena  Dieckmann แห่งมหาวิทยาลัย Imperial College กล่าวว่า ขนไก่คือวัสดุมหัศจรรย์ เพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องสัตว์ปีกจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย มีทั้งความเบาและสามารถป้องกันความร้อนและความเย็นได้ดี อีกทั้งยังสามารถกันน้ำและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ            อย่างไรก็ตาม  Elena  Dieckmann  ชี้ว่า มนุษย์ยังหาวิธีใช้ประโยชน์จากขนไก่หรือขนสัตว์ปีกได้ไม่มากนัก เธอจึงได้ร่วมมือกับ Ryan Robinson ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอก จาก National Heart and Lung Institute เพื่อหาวิธีเปลี่ยนขนไก่เหล่านั้นให้เป็นวัสดุที่มีความทนทานสูง และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน

จากการวิจัยร่วมกันดังกล่าว นักศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งสองประสบผลสำเร็จในการพัฒนาวัสดุแบบใหม่ที่ได้จากการแปรรูปขนไก่ และเรียกชื่อผลงานวิจัยนี้ว่า Aeropowder นอกจากนี้ทั้งคู่ยังได้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Aeropowder เมื่อปีที่แล้ว เพื่อพัฒนาขนไก่ให้กลายเป็นวัสดุหลายประเภท รวมทั้งวัสดุกันความร้อนภายในบ้าน

Elena Dieckmann บอกว่า ได้จดสิทธิบัตรการคิดค้นนี้แล้ว และตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตวัสดุต่างชนิดกันจากแต่ละส่วนของขนไก่ เพื่อใช้ทุกๆส่วนของขนไก่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด     เมื่อปีที่แล้ว Elena Dieckmann และ Ryan Robinson ได้รับรางวัลหลายชิ้นเกี่ยวกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่นี้ รวมทั้งรางวัล Low Carbon Entrepreneurs Challenge จากนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน พร้อมเงินรางวัล 23,000 ดอลลาร์ จากผลงานการคิดค้นฉนวนกันความร้อนจากขนไก่ ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนฉนวนที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

Elena  Dieckmann บอกด้วยว่า ความท้าทายชิ้นต่อไปคือ การผลิตวัสดุประเภทไฟเบอร์คุณภาพสูงจากขนไก่

             “แม้ในขนไก่หนึ่งอันจะประกอบด้วยวัสดุหลายอย่าง ทั้งที่เป็นขนไก่และที่เป็นก้าน แต่ในที่สุดแล้วทุกอย่างสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นวัสดุคุณภาพสูงด้วย” Elena  Dieckmann กล่าว

 

ที่มา www.voathai.com

ขอบคุณข้อมูลจาก จดหมายข่าว วว.ฉบับที่ 1/มกราคม 2560 ปีที่ 20