ไปอุบลฯ ชิมพุทราสามรส พันธุ์แสงทอง สวนลุงเป็ง ปลูกมาเกือบ 30 ปี มีเท่าไรไม่พอขาย

“พุทรา” เป็นผลไม้ดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในยุคเก่าแก่ มีทั้งรสเปรี้ยวหวาน รสฝาดปนหวาน จึงรับประทานสดหรือจิ้มพริกเกลือแล้วแต่ความชอบ ถึงตอนนี้พุทรายังมีอยู่เพียงแต่ลดความนิยมลงไปจึงไม่ค่อยพบเห็น เพราะมีผลไม้เด่นหลายชนิดมาเบียดแซง

พุทราถูกปรับปรุงพันธุ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจึงมีพันธุ์หลายชนิดและพันธุ์พุทราที่นิยมปลูกในไทย ได้แก่ พุทราไทยพื้นเมือง สามรส บอมเบย์ หรือแอปเปิ้ล เจดีย์ เหรียญทอง ถ้วยทอง ไข่เต่า พุทราจีน นมสด จัมโบ้ น้ำผึ้ง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน พุทราสามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทรายมากกว่า ชอบอากาศร้อน ชอบแสงแดดเพียงพอ ควรปลูกในฤดูฝน ปลูกได้หลายวิธี ทั้งเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ติดตา เสียบยอด และทาบกิ่ง ซึ่งนิยมวิธีนี้มากกว่าเพราะให้ผลผลิตเร็วเหมาะกับการปลูกเชิงพาณิชย์

คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (กลาง) เข้าเยี่ยมชมสวนลุงเป็ง (ขวา)

ชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะที่บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ ปลูกพุทรากันหลายครัวเรือน ปลูกเชิงพาณิชย์ เพราะราคาดี ในช่วงผลผลิตมีพ่อค้ามารับซื้อที่สวนเพื่อนำไปขายในพื้นที่จังหวัด แม้มีปริมาณมากแต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

ตลาดสินค้าเกษตรก้าวหน้า เล่มนี้ ชักชวนผู้อ่านไปรู้จักกับสวนพุทราเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 30 ปี เรียกว่าเป็นสวนพุทราแรกของหมู่บ้านแห่งนี้ เจ้าของสวนชื่อ ลุงเป็ง ศรีสุข อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 167 หมู่ที่ 4 บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

ผลขนาดเล็ก ต้องใส่ใจปุ๋ยและน้ำอย่างสม่ำเสมอ

แต่เดิมคุณลุงเป็งเคยทำกุหลาบตัดดอกขายอยู่ 6 ปี ไม่ดีนักเพราะต้นทุนสูง ขณะเดียวกัน ญาติเคยทำงานในสวนพุทราที่นครปฐม จึงแนะนำให้ซื้อพุทราต้นพันธุ์กิ่งทาบมาปลูก เป็นพุทราสามรส พันธุ์แสงทอง พื้นที่ปลูก 3 ไร่กว่า จำนวน 400 ต้น ระยะปลูก 3 คูณ 4 เมตร ได้ 120 ต้นต่อไร่

ลุงเป็งเริ่มปลูกพุทราด้วยการไถพรวนดิน ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จากนั้นจึงนำต้นพันธุ์ลงปลูกในหลุมที่ขุดไม่ต้องลึกเพียงหน้าจอบเพราะต้นพุทรามีรากฝอยที่หากินบริเวณผิวดิน จึงสะดวกเวลาเติมปุ๋ยเพียงโรยรอบต้นให้ห่างสักคืบ หลังจากนำต้นพันธุ์ปลูกแล้วใช้เวลา 7 วันจึงใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 3 ต้นต่อกำมือ

การจัดการสวนให้มีประสิทธิภาพ ไม่รก ไม่มีวัชพืช

กิ่งพันธุ์ทาบสูง 40 เซนติเมตรในเวลา 30 วัน จะแตกยอด ติดดอกแล้วให้ผลผลิตได้ แต่ยังไม่ต้องการจึงเด็ดทิ้งก่อน เพื่อให้ต้นสะสมอาหารให้เต็มที่ แล้วใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นเวลา 6 เดือน ต้นมีขนาดใหญ่แตกกิ่งก้าน แล้วให้ตัดแต่งทรงพุ่มให้เหลือกิ่งสมบูรณ์เพียงกิ่งเดียว

ในช่วงที่มีดอกจะปรับมาใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ครั้นเมื่อขนาดผลสักหัวแม่มือจึงเติมสูตร 13-13-21 เพียงเล็กน้อยทุกเดือนเพื่อช่วยเสริมความอร่อย จนได้ผลผลิตรุ่นแรกจะดก แต่ไม่ควรเก็บไว้ทั้งหมดเพราะจะทำให้ต้นโทรมเร็วเนื่องจากต้องเร่งนำอาหารไปเลี้ยงลูก ควรเก็บไว้สักครึ่งเพื่อให้มีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยผลผลิตจะทยอยออกใช้เวลาประมาณ 7 เดือนถึงจะหมด

ผลขนาดกลาง

ปี 2549 สวนพุทราลุงเป็งเจอปัญหาหนอนแดงผีเสื้อโจมตีเก็บผลผลิตไม่ได้เลย เสียหายหนักมาก จึงติดต่อทางเกษตรอำเภอเพื่อช่วยประสานหน่วยงาน ได้รับคำแนะนำให้ติดไฟแบล็กไลต์รอบสวน อีกทั้งยังเจอแมลงวันทองอีก ต้องสร้างมุ้งล้อมสวน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ตามปกติ

สวนพุทราลุงเป็งมีชื่อเสียงด้านคุณภาพผลพุทรามายาวนาน เป็นสวนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 สาขาไม้ผล จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2563 ลุงเป็งเผยเคล็ด (ไม่ลับ) จากความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการดูแลเอาใจใส่ทั้งเรื่องปุ๋ย น้ำ แล้วที่สำคัญคือการทำสาวต้นพุทรา

สร้างมุ้งล้อมสวน เพื่อป้องกันศัตรูพืช

ลุงเป็ง บอกว่า หลังจากเก็บผลผลิตเสร็จทุกรอบราวเดือนกุมภาพันธ์ จะต้องเตรียมต้นเพื่อสร้างผลผลิตรอบต่อไปด้วยการตัดแต่งกิ่ง ทำสาว ต้องตัดออกเหลือตอ เพื่อให้แตกยอดใหม่ที่สมบูรณ์ ในช่วงทำสาวใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยคอก โดยปุ๋ยคอกใส่ปีละ 2 ครั้ง แบ่งใส่กระสอบละ 6 ต้น ใช้เวลาดูแลต่อไปอีก 5 เดือนหรือประมาณเดือนกรกฎาคมจึงเก็บผลผลิตรอบใหม่ได้ จากนั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ในเวลา 7 เดือน แล้วจึงกลับมาตัดแต่งกิ่งทำสาวเพื่อสร้างผลผลิตในรอบต่อไป

พุทราสามรส พันธุ์แสงทอง สวนลุงเป็งมีความกลมกล่อมด้วยรสชาติที่ลงตัว ทั้งรสเปรี้ยว หวาน และฝาดเล็กน้อย ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพุทราสามรสมาตรฐาน มีขนาดผลประมาณ 30 ลูกต่อกิโลกรัม

ผลผลิตที่เก็บจากสวน

ในช่วงเก็บผลผลิตต้องจ้างแรงงานช่วย จำนวน 2 คน โดยลุงเป็งและภรรยาจะลงมือเก็บด้วย ค่าจ้างแรงงานคนละ 400 บาทต่อวัน ทำงานเช้า-เย็น มีกับข้าวให้ ผลผลิตเก็บได้เฉลี่ยวันละ 400-600 กิโลกรัม โดยสังเกตถ้าลูกเริ่มมีสีเหลืองแสดงว่าเก็บได้ มีความสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ วิธีเก็บผลผลิตให้ใช้มือบิดที่ขั้วผลอย่างระมัดระวัง ต้องใจเย็นสักหน่อย มิเช่นนั้นผลจะเสียหายได้ โดยได้ผลผลิตเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 26 ตัน

ลุงเป็งขายพุทราเฉพาะที่หน้าสวนให้กับพ่อค้าเท่านั้น ไม่มีขายทางออนไลน์ กำหนดราคาขายกิโลกรัมละ 25 บาท ขายแบบเหมาคละไซซ์ สำหรับการตั้งราคาขายลุงเป็งกำหนดเอง ถือเป็นราคาที่เหมาะสม สวนแห่งอื่นก็ใช้ราคาเดียวกันนี้ ยกเว้นบางสวนที่พุทราไม่สวย ผลเล็กอาจลดราคาลงมาเพื่อให้ขายได้ง่าย

ผลผลิตใส่ถุงรอลูกค้ามารับตามออเดอร์

ลุงเป็ง เล่าว่า ในช่วงแรกประมาณเกือบ 30 ปีที่ปลูกขายราคาตั้งไว้กิโลกรัมละ 15-16 บาท เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนหลายอย่างขยับ จึงต้องปรับราคาให้สอดคล้อง แต่ไม่ได้ปรับมาก ทยอยปรับทีละเล็กน้อย จนถึงตอนนี้ตั้งราคาเดียวที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม มาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว

“แหล่งขายส่วนมากมีพ่อค้ามารับซื้อจากสวนแล้วนำไปแบ่งขายถุงละครึ่งกิโล ราคาถุงละ 30 บาท ขายดีมาก มีเท่าไรไม่พอขาย ขายตามตลาดหลายแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงผลผลิตพุทราออกเต็มที่ มีความคึกคักมาก มีพุทราวางขายทั่วหลายแห่ง รวมทั้งยังตั้งขายตามแผงริมถนนเส้นทางหลักหลายสาย ซึ่งแต่ละปีจำนวนผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ แม้จะมีผู้ซื้อรายใหญ่ติดต่อเข้ามาตามสวนหลายแห่งก็หาซื้อไม่ได้”

ลุงเป็งตรวจสอบคุณภาพผลพุทรา
ลุงเป็ง ศรีสุข

ลุงเป็งถือเป็นคนแรกที่นำมาพุทรามาปลูกในพื้นที่จนประสบความสำเร็จมีรายได้ดีต่อเนื่อง ต่อมามีชาวบ้านหันมาปลูกเหมือนกัน จนทำให้ปัจจุบันในหมู่บ้านมีชาวบ้านปลูกพุทรากันจำนวนกว่า 40 สวน

นอกจากมีรายได้จากผลผลิตพุทราแล้ว ลุงเป็งยังทำกิ่งพันธุ์พุทราขายด้วยในราคากิ่งละ 50 บาท ส่งขายทั่วประเทศ แต่ต้องจองล่วงหน้าข้ามปีเพราะผลิตขายเพียงครั้งละหมื่นกิ่งเท่านั้น

ดูแลดีทั้งปุ๋ยและน้ำ ทำให้ผลผลิตดกมากเต็มต้น

หมดโควิด-19 เมื่อใด ใครสนใจต้องการชิมพุทราสามรสแบบสดๆ เตรียมทริปเดินทางไปอุบลราชธานีแล้วแวะเยี่ยมเยียนสวนลุงเป็งได้ โทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้าได้ที่ 085-005-9776